สรรพากรกว่างซีจัดแคมเปญใจป้ำ ชงนโยบายเว้น “ภาษีธุรกิจ” หนุนวิสหากิจขนาดย่อม
19 Nov 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : รัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วงได้นำมาตรการยกเว้น ‘ภาษีธุรกิจ’ (Business Tax: BT) มาใช้เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดย่อมในกว่างซี
คำนิยามของ “ธุรกิจขนาดย่อม” หรือที่ภาษาจีนใช้ว่า “小微企业” (Small and Micro Enterprise) เป็นคำเรียกรวมของธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจแบบครอบครัว และธุรกิจส่วนตัว
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกิจการภาษีท้องถิ่น (Guangxi Local Taxation Bureau, 广西地税局) ได้ออกประกาศว่าด้วยการดำเนินนโยบายการยกเว้นภาษีธุรกิจสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อมที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ข้อกำหนด
กล่าวคือ วิสาหกิจขนาดย่อมที่มีรายได้พึงประเมินต่อเดือนไม่เกิน 3 หมื่นหยวน หรือไม่เกิน 9 หมื่นต่อไตรมาส (ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้แบบรายเดือนหรือรายไตรมาส) จะได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจ ซึ่งมาตรการดังกล่าวบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2558
มาตรการดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนและบรรเทาภาระภาษีให้กับวิสาหกิจขนาดย่อมซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีรายได้ผลประกอบการไม่มากนัก และเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาความพร้อมสำหรับการแข่งขันทางการค้าของวิสาหกิจรายย่อยได้เป็นอย่างดี
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มาตรการดังกล่าวเป็นความเคลื่อนไหวระลอกที่สองหลักจากที่เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 56 ทางการกว่างซีได้รับสนองนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างภาษีจากรัฐบาลกลาง พร้อมดำเนินการจัดเก็บ“การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แทนที่การเก็บภาษีธุรกิจ (BT)” ซึ่งภาครัฐมองว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยลดปัญหาการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อน และช่วยกระตุ้นการพัฒนาเติบโตของธุรกิจบริการในจีน (ผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากลิงค์ด้านล่าง)
ลิงค์ที่น่าสนใจ
– จัดเต็ม…กว่างซีรับนโยบายปรับลดภาษี “VAT” เหลือ 3% ในหลายสาขาธุรกิจ (16 ก.ค. 2557)
– รัฐบาลกลางเตรียมดำเนินนโยบายภาษีรอบใหม่ ธุรกิจขนส่งรถไฟและไปรษณีย์รับเต็มๆ (23 ธ.ค. 2556)
– กว่างซีพร้อมแล้ว!!! นโยบายจัดเก็บภาษีใหม่ เปลี่ยน"ภาษีธุรกิจ" เป็น "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" (31 ก.ค. 2556)
– เอากับเขาบ้าง! กว่างซีดีเดย์ เปลี่ยน "ภาษีธุรกิจ" เป็น "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" สิงหาคมนี้ (23 พ.ค. 2556)
– จีนเปลี่ยน “ภาษีธุรกิจ” เป็น “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เริ่มต้นในเซี่ยงไฮ้ บทสรุปใครได้? ใครเสีย? (2 ธ.ค. 2554)