สนใจไหม?? กว่างซีชูจุดแข็ง เร้าใจนักลงทุน “การค้าแปรรูปเพื่อการส่งออก”
28 Jul 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนในภาคธุรกิจการค้าแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ บริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกของโลก บริษัทสัญชาติฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน บริษัทในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (PRD) รวมถึงอาเซียน
“การค้าแปรรูป(เพื่อการส่งออก)” มีนัยสำคัญอย่างมากต่อการปรับปรุงโครงสร้างการค้าต่างประเทศ การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมในระบบห่วงโซ่อุปทาน การแก้ปัญหาการว่างงานในสังคม และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของมณฑล
ในการนี้ BIC ได้รวบรวมข้อมูล SWOT ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยไว้เป็นช่องทางสำหรับการลงทุน ดังนี้
ปักหมุด…พื้นที่ส่งเสริม “ธุรกิจการค้าแปรรูปเพื่อการส่งออก” ภายใต้รหัส “4+4+4”
การกำหนดพื้นที่ส่งเสริมในมณฑล เพื่อเร่งพัฒนาการรวมกลุ่มธุรกิจการค้าแปรรูป ภายใต้รหัส“4+4+4” คือ
“4” ตัวแรก หมายถึง พื้นที่รองรับการเคลื่อนย้ายธุรกิจแปรรูปเพื่อการส่งออก(จากฝั่งตะวันออกของประเทศ) จำนวน 4 เมือง ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองชินโจว (Qinzhou City, 钦州市) เมืองเป่ยไห่ (Beihai City, 北海市) และเมืองอู๋โจว (Wuzhou City, 梧州市)
ปัจจุบัน เมืองข้างต้นกำลังกลายเป็นพื้นที่ศูนย์รวมการลงทุนในภาคธุรกิจการค้าแปรรูปของกว่างซี มูลค่ารวมการค้าแปรรูปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 85 ของมูลค่าการค้าแปรรูปทั้งมณฑล จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กรมพาณิชย์เขตฯ กว่างซีจ้วง
“4” ตัวกลาง หมายถึง เขตควบคุมพิเศษทางศุลกากรและนิคมโลจิสติกส์สินค้าทัณฑบน จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เขตแปรรูปเพื่อการส่งออกเมืองเป๋ยไห่ (Beihai Export Processing Zone, 北海出口加工区) เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว (Qinzhou Bonded Area, 钦州保税港区) ศูนย์โลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บนนครหนานหนิง (Nanning Bonded Logistics Center, 南宁保税物流中心) และเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนแบบบูรณาการอำเภอระดับเมืองผิงเสียง (Pingxiang Integrated Bonded Area, 凭祥综合保税区)
ปัจจุบัน ทางการกว่างซีพยายามผลักดันเขตนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย และนิคมคู่แฝดในเมืองกวนตัน รัฐปะหังของมาเลเซีย เป็นฐานรองรับธุรกิจการค้าแปรรูปในลักษณะแบ่งงานกันทำ โดยมุ่งเน้น “อาเซียน” เป็นหลัก รวมทั้งยังมีเขตทดลองฯ ในเมืองตงซิงเป็นกลไกกระตุ้นการค้าแปรรูปในพื้นที่ชายแดน
และ “4” ตัวหลัง หมายถึง เขตนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เขตทดลองการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกระดับชาติอำเภอระดับเมืองตงซิง (Dongxing Key Experimental Zone for Development and opening-up, 广西东兴重点开发开放试验区) นิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย (China–Malaysia Qinzhou Industrial Park, 中国–马来西亚钦州产业园区) เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงนครหนานหนิง (Nanning New & High Tech Industrial Development Zone, 南宁高新技术产业开发区) และสวนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เมืองเป่ยไห่ (CEC Beihai Industrial Park, 中国电子北海产业园)
เจ้าหน้าที่กรมพาณิชย์เขตฯ กว่างซีจ้วง ให้ข้อมูลว่า นิคมไฮเทคนครหนานหนิง และสวนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เมืองเป๋ยไห่ เป็นฐานการพัฒนาและรองรับอุตสาหกรรมสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ (Information Electronic) ของมณฑล
นายหม่า จี้ เสี้ยน (Ma Ji Xian, 马继宪) รองอธิบดีกรมพาณิชย์เขตฯ กว่างซีจ้วง ให้ข้อมูลว่า รหัส “4+4+4” พิจารณาจากปัจจัยหลายประการ อาทิ ทำเลที่ตั้ง นโยบาย และพื้นฐานโครงสร้างทางอุตสาหกรรม ซึ่งรหัสดังกล่าวจะเป็นแนวทางการพัฒนาในธุรกิจการค้าแปรรูปของมณฑลในระยะใกล้
ทั้งนี้ ทางการกว่างซีได้กำหนดตัวเลขเป้าหมายไว้ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2559) การค้าแปรรูปเพื่อการส่งออกของกว่างซีจะมีมูลค่าทะลุ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2556) และตั้งเป้าหมายว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2561) มูลค่าการค้าแปรรูปจะขยายสัดส่วนเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ
ข้อมูล ม.ค.-พ.ค.57 เขตแปรรูปเพื่อการส่งออกเมืองเป๋ยไห่ มีมูลค่าการนำเข้าส่งออกภาคการค้าแปรรูป 378 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 72.28 ของมูลค่าการค้าแปรรูปทั้งเมืองฅ
พัฒนา “ห่วงโซ่อุปทาน” เสริมแกร่งการค้าแปรรูปกว่างซี
การค้าแปรรูป คือ ผลผลิตที่เกิดจากการรวมกันระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตกับการค้า
การรวมกลุ่มอุตสาหกรรมการค้าแปรรูป (Process Trade Industry Clusters) ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ก็อาจจะไม่มีการพัฒนาในด้านของการรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรม
จุดอ่อนในการพัฒนาการค้าแปรรูปของเขตฯ กว่างซีจ้วง คือ การขาด “วิสาหกิจรายใหญ่” เป็นตัวกระตุ้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (อุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ) ส่งผลให้ “ห่วงโซ่อุปทาน” ขาดสมบูรณ์
ปี 56 ที่ผ่านมา วิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจด้านการค้าแปรรูปที่มีมูลค่าการนำเข้าส่งออกมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีเพียง 6 ราย ในจำนวนนี้ เป็นวิสาหกิจที่มีมูลค่าการค้าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีเพียงแค่รายเดียว
ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การปรับปรุงกฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านการลงทุน การพัฒนาบรรยากาศการลงทุน และการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนของวิสาหกิจที่มีศักยภาพจะช่วยพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ รวมทั้งจะเป็นเครื่องกระตุ้นธุรกิจการค้าแปรรูปให้พัฒนาแบบก้าวกระโดด
นครหนานหนิง เมืองเป่ยไห่ และเมืองชินโจวกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมเด่น ตลาดสินค้าเฉพาะทาง และตลาดวัตถุดิบสำหรับการผลิต (อาทิ สินค้าขั้นกลางที่ใช้เป็นปัจจัยการผลิต (Intermediate goods) ชิ้นส่วน อะไหล่ และอุปกรณ์เสริม) เพื่อกระตุ้นการจัดซื้อจัดหาในท้องถิ่นให้เพิ่มสูงขึ้น และตอบสนองความต้องการในการจัดซื้อวัตถุดิบที่ใช้เพื่อการผลิตของวิสาหกิจจากนอกพื้นที่ อันเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนการจัดซื้อของวิสาหกิจได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ทางการกว่างซีได้ออกไปจัดกิจกรรรมโรด์โชว์ เพื่อประชาสัมพันธ์ดึงดูดการลงทุนในหัวเมืองใหญ่ทางตอนใต้และตะวันออกของประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภภาพด้านการแปรรูปเพื่อการส่งออก
นอกจากนี้ ทางการกว่างซียังให้การสนับสนุนเชิงนโยบายเพื่อดึงดูดโครงการลงทุน การสนับสนุนให้วิสาหกิจสร้างเครือข่ายการตลาดในต่างประเทศ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของตัวเอง การสร้างหรือควบรวมกิจการแบรนด์ต่างชาติ รวมถึงการให้โควต้าเพื่อขยายปริมาณการนำเข้าส่งออก
ศึกษา “ไพ่ไม้ตาย” กว่างซี สิทธิประโยชน์เหลือหลาย
นายจ๋าย สัว หลิ่ง (Zhai Suo Ling, 翟所领) ประธานสมาคมนักธุรกิจไต้หวันในตงก่วน (Dongguan Taiwan Investment Enterprises Association, 东莞台商投资企业协会) กล่าวว่า การที่ธุรกิจไต้หวันในเมืองตงก่วนต้องการไปลงทุนที่กว่างซี เหตุผลหลักเป็นเพราะความพร้อมด้านแรงงานของกว่างซี
ด้านนายโจว ซื่อ เจ๋ (Zhou Shi Jie, 周世杰) เจ้าหน้าที่พิเศษประจำสำนักงานพิเศษกระทรวงพาณิชย์ประจำนครหนานหนิง กล่าวว่า “แรงงาน” เป็นหัวใจสำคัญของการค้าแปรรูป ต้นทุนแรงงานและราคาที่ดินที่สูงเป็นแรงส่งให้วิสาหกิจเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก
นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกว่างซีมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นจุดแข็งที่มณฑลอื่นๆ หลายแห่งไม่มี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมณฑลทางภาคตะวันออก อาทิ นโยบายพื้นที่เขตชนชาติส่วนน้อย นโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก และนโยบายการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลและพื้นที่แนวชายแดน
ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ด้านปัจจัยการผลิตมีราคาต่ำ อาทิ การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการผลิต (ในบางพื้นที่มีราคากรรมสิทธิ์ต่ำสุดเพียงไร่ละไม่ถึงแสนหยวน) น้ำประปา า ไฟฟ้า และรถยนต์
หากเป็นวิสาหกิจด้านการค้าแปรรูปที่เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (Guangxi Beibu Gulf Economic Zone, 广西北部湾经济区) มีสิทธิได้รับการลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใต้กรอบนโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก และการยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้ส่วนท้องถิ่น (โครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกนำส่งรัฐบาลกลาง อีกส่วนเป็นของรัฐบาลท้องถิ่น)
ปีนี้ (ปี 57) ทางเขตฯกว่างซีจ้วงได้จัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อใช้สนับสนุนด้านของการฝึกอบรมแรงงาน เงินรางวัลสำหรับการย้ายสำมะโนครัว (Talent Management) เงินอุดหนุนด้านโลจิสติกส์และการเช่าอาคารโรงงาน
นอกจากนี้ ยังมีการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร การเร่งพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตร่วม (พาณิชย์ ศุลกากร และวิสาหกิจ) การพัฒนางานตรวจร่วมของเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากร และสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรค การพัฒนาระบบงานศุลกากรภายใต้นโยบายการรวมกลุ่มเมือง (Urban Integration) ระบบงานศุลกากรแบบไร้เอกสาร และระบบผ่านพิธีการศุลกากรแบบนัดล่วงหน้า 24 ชั่วโมง
เสริมส่วนขาด พัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ ขจัดปัญหาคอขวด
“อัตราการนำเข้าส่งออกสูง” เป็นลักษณะเด่นของการค้าแปรรูปเพื่อการส่งออก ดังนั้น ธุรกิจดังกล่าวจึงให้ความสำคัญอย่างมากต่อความตรงต่อเวลาในการจัดส่งสินค้า (Timeliness)
นายจ๋าย สัว หลิ่ง (Zhai Suo Ling, 翟所领) เจ้าหน้าที่บริษัท Nanning Fu Gui Precision Industry (南宁富桂精密工业有限公司) ในเครือบริษัท Foxconn ชี้่ว่า เส้นทางเดินเรือโดยตรง (Direct Line) จากกว่างซีไปยังปลายทางยังมีอยู่น้อยเป็นอุปสรรคสำคัญของธุรกิจการค้าแปรรูป
กล่าวคือ ปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่เข้ามาตั้งโรงงานอยู่ในกว่างซีนิยมนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปผ่านพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (ขนส่งทางรถยนต์ โดยวิธีการลากตู้มาจากฮ่องกง และขึ้นตู้สินค้าส่งออกที่ท่าเรือเหยียนเถียน เมืองเซินเจิ้น เสียเวลาราว 22 ชั่วโมง)
แม้ว่าจะเกิดค่าใช้จ่ายสูง แต่ “ไม่มีทางเลือก” เพราะหากเปรียบเทียบกับการขนส่งจากนครหนานหนิงไปยังไปขึ้นเรือสินค้าที่ท่าเรือในอ่าวเป่ยปู้ (ซึ่งใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง) แต่ตู้สินค้าต้องไปเปลี่ยนถ่ายหรือเรือต้องไปแวะฮ่องกงอีก ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลามากถึง 3-4 วัน ส่งผลกระทบโดยตรงกับเวลาการส่งมอบสินค้า นายจ๋ายฯ ให้ข้อมูล
อย่างไรก็ดี รัฐบาลกว่างซีได้จัดสรรเงินอุดหนุนปีละ 100 ล้านหยวน เพื่อใช้สนับสนุนการเปิดเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเส้นทางตรงไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) รวมถึงเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศ ฮ่องกง ไต้หวัน ญุี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรปและอเมริกา
กรมพาณิชย์กว่างซียังให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าเพื่อนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้าจากโรงงานไปยังท่าเรือ
สาระสำคัญใน “ประกาศว่าด้วยการขยายเวลาและการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี” ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อไม่นานมานี้ ยังระบุว่า กว่างซีจะให้การสนับสนุนการพัฒนาเป็นพิเศษสำหรับธุรกิจเดินเรือและโลจิสติกส์
อาทิ เงินอุดหนุนและเงินรางวัลสำหรับการเปิดเส้นทางขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศเส้นทางตรง ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ธุรกิจภาคการผลิตเพื่อการค้า และธุรกิจเดินเรือ
การให้เงินอุดหนุนและลดหรือยกเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางสำหรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางบก รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อแก่ธุรกิจโลจิสติกส์รายใหม่ในกลุ่มคลังสินค้าขนาดใหญ่
ตามรายงาน ปีนี้ กว่างซียังวางแผนเร่งพัฒนาท่าอากาศยานนานานชาติ 2 แห่งของมณฑลให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางอากาศ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (Nanning Wuxu International Airport, 南宁吴圩国际机场) และท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียงเมืองกุ้ยหลิน (Guilin Liangjiang International Airport, 桂林两江国际机场)
การขยายตลาดขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ขั้นสูง สินค้าเกษตรสด และยารักษาโรค) เพื่อสร้างปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่มีความคล่องตัวและรวดเร็วสำหรับการนำเข้าส่งออกสินค้าของวิสาหกิจ
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– กว่างซีลั่นขอเวลา 3 ปี ดันธุรกิจแปรรูปทะลุหมื่นล้านหยวน (18 ก.ค. 2557)
– เมืองเป๋ยไห่ของกว่างซีขยายพื้นที่ก่อสร้าง “เขตแปรรูปเพื่อการส่งออก” รับกระแสทุนฝั่งตะวันออก (22 เม.ย. 2557)