สถานการณ์ผลิตและจำหน่ายผลไม้ของกว่างซีมีแนวโน้ม “สดใส”
30 Jul 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา แนวโน้มอุตสาหกรรมผลไม้ของกว่างซีในภาพรวมยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งผลผลิต ราคาจำหน่าย และรายได้ชาวสวน
จากสถิติพบว่า ช่วง 6 เดือนแรก ปี57 กว่างซีได้ปริมาณผลผลิต 2.7 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20) มูลค่าการผลิต 6,800 ล้านหยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 25) รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรประมาณ 123 หยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24) และพื้นที่สวนผลไม้ใหม่ 5 แสนหมู่จีน หรือราว 2 แสนไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5)
ในปี 57 ผลไม้ขึ้นชื่อของกว่างซีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ผลไม้เขตกึ่งร้อนหลายชนิดได้รับการส่งเสริมให้มีการปลูกเพิ่มขึ้น อาทิ แก้วมังกรสด เสาวรสผลโต ชมพู่รสหวาน และฝรั่งไข่มุก โดยพื้นที่ปลูกกระจายตัวอยู่ในนครหนานหนิง เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองฉงจั่ว และเมืองชินโจว
ขณะที่การผลิตผลไม้เมืองร้อนหลายของกว่างซีได้รับผลกระทบอิทธิพลจากสภาพอากาศหนาวตั้งแต่ฤดูหนาวปีก่อนยาวมาถึงฤดูใบไม้ผลิตเมื่อช่วงต้นปี ส่งผลให้การติดดอกต่ำ และผลฝ่อ ไม่ว่าจะเป็นลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง และส้มแมนดาริน และทำให้ผลไม้บางชนิดได้ผลผลิตลดลง ได้แก่ กล้วยหอม
อย่างไรก็ดี ทางการกว่างซีได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปฝึกอบรบให้ความรู้ด้านเทคนิคแก่เกษตรกรชาวสวนอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการแจกจ่าย “คู่มือการเกษตร” รวมทั้งมีการจัดตั้งสวนผลไม้และแปลงสาธิตแบบมาตรฐาน เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาด้านการผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
นักวิชาการ ได้คาดการณ์ว่า ปี 57 แนวโน้มผลผลิตกล้วยหอมจะลดลงเล็กน้อย ส่วนผลผลิตผลไม้ชนิดอื่นจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9-13 ปริมาณผลผลิตน่าจะอยู่ระหว่าง 11.80-12.20 ล้านตัน
ด้านปริมาณสต็อกและสถานการณ์การจำหน่ายผลไม้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิไปถึงฤดูร้อนมีทิศทางที่ดี ราคาจำหน่ายในภาพรวมเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 25 อาทิ กล้วยหอมเพิ่มขึ้นร้อยละ 30-40 ลิ้นจี่ก่อนฤดูกาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 50
ด้านราคาจำหน่ายผลไม้ตระกูลส้มต่าง เช่น ส้ม Citrus กิโลกรัมละ 8 หยวน ส้ม Honey murcott กิโลกรัมละ 13-14 หยวน และส้มวาเลนเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 20-25
ผลไม้เขตกึ่งร้อนอื่น ๆ เช่น ลูกพีช เพิ่มขึ้นร้อยละ 10-17 ลูกพลัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 23-30
ลูกปีแป (Loquat) และสตรอเบอร์รี่ยังคงจำหน่ายได้ราคาสูงและผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– เมืองท่าฝางเฉิงก่างเร่งขออนุมัติเป็นด่านนำเข้าข้าวและผลไม้หลักของกว่างซี (22 ก.ค. 2557)
– อุทาหรณ์ผู้ส่งออกไทย!! ฤดูผลไม้ “ทับซ้อน” กระทบยอดสั่งซื้อลิ้นจี่จากเวียดนามลดฮวบ (21 ก.ค. 2557)
– ครึ่งปีแรก ผลิตผลทางการเกษตรหลัก ๆ ในกว่างซี “พุ่ง” ยกเว้นอ้อย (21 ก.ค. 2557)
– คู่ปรับมะม่วงไทย เมืองไป่เซ่อของกว่างซีดันแบรนด์มะม่วง รุกตลาดจีนตอนเหนือ ออร์เดอร์ล้นทะลัก (09 ก.ค. 2557)