วิกฤติและโอกาสของข้าวจากอาเซียนในตลาดจีน
4 Sep 2013ตามการคาดการณ์ของหน่วยงานเศรษฐกิจระหว่างประเทศหลายสำนัก มองว่าในปี 2556 จีนมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าประเทศไนจีเรียกลายเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่สุดของโลกเป็นครั้งแรก แม้ว่าจีนเป็นประเทศที่ปลูกข้าวมากที่สุดในโลกก็ตาม แต่ปริมาณการนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นสัญญาณสำคัญว่าจีนกำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่!

ปริมาณการนำเข้าข้าวของจีนในช่วงปี 2553-2556
ประเทศ |
ปริมาณการนำเข้าข้าวของจีน (ตัน) |
|||
ปี 2553 |
ปี 2554 |
ปี 2555 |
ปี 2556 (ม.ค.-ก.ค.) |
|
1. เวียดนาม |
56,089 |
233,775 |
1,545,079 |
972,241 |
2. ไทย |
299,071 |
325,620 |
175,353 |
125,373 |
3. กัมพูชา |
0.008 |
0.3 |
3,584 |
15,005 |
4. ลาว |
6,840 |
7,462 |
22,227 |
5,630 |
5. พม่า |
2,440 |
1,352 |
6,201 |
1,450 |
6. ปากีสถาน |
426 |
8,668 |
579,583 |
338,288 |
7. อื่น ๆ |
1,305 |
1,506 |
12,378 |
209 |
รวม |
366,171 |
578,383 |
2,344,405 |
1,458,196 |
แหล่งข้อมูล: ศุลกากรจีน
ปัจจุบัน ประชากรจีนบริโภคข้าวคิดเป็นปริมาณหนึ่งในสามของการบริโภคในโลก หากตลาดจีนเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ก็สามารถสร้างผลกระทบอย่างมากต่อราคาข้าวทั่วโลก ข้อมูลจากศุลกากรจีนพบว่า จีนนำเข้าข้าวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก สำหรับประเทศอาเซียน ตลาดจีนน่าดึงดูดใจมาก แต่ปัญหาข้าวโดนปลอมก็สร้างความปวดหัวให้ไม่น้อย
วิกฤติการปลอมปนข้าวนำเข้าจากอาเซียนในจีน
ในบรรดาประเทศกลุ่มอาเซียนที่จีนนำเข้าข้าว ข้าวไทยและข้าวเวียดนามจัดเป็นข้าวที่ดีเยี่ยมลำดับต้น โดยตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จีนนำเข้าจากเวียดนามเป็นอันดับ 1 และปากีสถาน เป็นอันดับ 2 และมีการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ความต้องการข้าวจากประเทศอาเซียนสามารถสร้างวิกฤตให้กับข้าวที่ผลิตภายในประเทศได้ นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลผู้ไม่ประสงค์ออกนามที่อาศัยอยู่ในเมืองฮานอยประเทศเวียดนามรายหนึ่งกล่าวว่า “ปัญหาข้าวปนเปื้อนจะไม่เกิดขึ้นในเวียดนามอย่างแน่นอนเพราะอะไรที่คุณภาพไม่ดีคนเวียดนามไม่ทาน ก็จะไม่ยอมให้คนอื่นทานเช่นกัน นี่ไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของนิสัยใจคอ”
ข้าวไทยจัดอยู่ในประเภทข้าวเมล็ดยาว เมล็ดข้าวมีลักษณะเรียวยาว บางสายพันธุ์มีความคล้ายคลึงกับข้าวซือเหมียวที่ปลูกในมณฑลกวางตุ้ง แต่ข้าวไทยนั้นมีความใส เนื้อนุ่ม และมีกลิ่นหอมมากกว่า ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก
“โดยรวม ข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีที่สุดในบรรดาข้าวจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผ่านการปรับปรุงและคัดสายพันธุ์จนได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ” นายหลี่ฯ กล่าว “เหตุที่เวียดนามผลิตข้าวเป็นรองจากไทย เพราะว่าในช่วงศตวรรษที่ 20 เวียดนามต้องทำสงครามหลายครั้ง ไม่สามารถปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวได้อย่างทันการ การพัฒนาจึงล่าช้ากว่าประเทศไทย แต่ในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลเวียดนามได้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ดิน และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ อย่างมาก อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอิสราเอล เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ปริมาณการเพาะปลูกและคุณภาพของข้าวเวียดนามพัฒนาสูงขึ้นมาโดยตลอด ในอนาคต ข้าวเวียดนามย่อมสามารถแข่งขันกับข้าวไทยในตลาดได้อย่างแน่นอน”
ข้อมูลที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ให้กับหนังสือพิมพ์ Time Weekly ระบุว่า จีนนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐอเมริกาและฮ่องกง และจากข้อมูลศุลกากรจีนพบว่าจีนนำเข้าข้าวจากไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 108.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โอกาสของข้าวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน
ปัจจุบัน ชาวจีนที่มีรายได้ระดับปานกลางและระดับสูงใส่ใจกับความปลอดภัยด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น และเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย ข้าวไทยจึงสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดกลุ่มนี้ได้ดี เมื่อเทียบกับบรรดาข้าวจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้าวไทยนับว่ามีราคาแพง แต่ว่าสำหรับประเทศไทยแล้ว การส่งออกข้าวไทยไปจีนยังโอกาสอีกไม่น้อยสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังในการบริโภคของจีนที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
กระนั้นก็ดี ข้าวปลอมนับเป็นศัตรูตัวฉกาจของข้าวไทย ตามที่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Time Weekly ได้รับข้อมูลมา กัมพูชาซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทย ได้มีการลักลอบนำเข้าข้าวและนำไปผสมกับข้าวที่ปลูกในไทย จากนั้นได้ใช้ชื่อ ”ข้าวไทย” ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
พ่อค้าชาวจีนบางรายที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวซึ่งมีพรมแดนติดกับไทยได้เปิดเผยว่า ข้าวจากลาวก็ถูกลักลอบนำเข้าไปยังประเทศไทย และแปลงเป็น “ข้าวไทย” ส่งออกไปยังต่างประเทศเช่นเดียวกัน ซึ่งการที่ผู้บริโภคชาวจีนที่ทานข้าวไทยพบว่า “ข้าวหอมมะลิไทยมีความหอมลดน้อยลงเรื่อย ๆ ” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นผลมาจากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น
ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวในด้านตลาดข้าวได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ถึงแม้ว่ายี่ห้อข้าวจะเป็นของไทย แต่หากเป็นการแบ่งบรรจุขายในจีน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปนด้วยข้าวจีนและข้าวเวียดนาม หากไปที่ตลาด “รุ่ยเป่า” ที่มีชื่อเสียงในกว่างโจวซึ่งค้าส่งธัญพืช น้ำมันและวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร จะพบว่า มีข้าวหอมมะลิไทยหลากหลายยี่ห้อจำหน่ายเต็มไปหมด ทุกถุงมีตัวอักษรไทยพิมพ์อยู่พร้อมภาพที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ในบรรดา “ข้าวหอมมะลิไทย” เหล่านี้ มีทั้งแบบที่นำเข้ามาจากประเทศไทยทั้งถุง และ และแบบที่ปลูกในจีนเช่นที่เจียงซี ซึ่งมีราคาถูกกว่ากันครึ่งหนึ่ง
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาส่งออกของข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ชาวจีนผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยจำนวนหลายรายเลือกที่จะผสมข้าวไทยกับข้าวราคาถูกเพื่อรักษากำไร โดยทั่วไป ข้าวจะถูกผสมในอัตรา 8:2 หรือ 7:3 ซึ่งการผสมข้าวในลักษณะนี้ทำให้ราคาข้าวถูกลงแตกต่างกันไปตันละ 100-200 ดอลลาร์สหรัฐ
พ่อค้าข้าวแซ่หงกล่าวว่า ราคาข้าวหอมมะลิไทยในปัจจุบันสูงเกินไป ผู้นำเข้าข้าวชาวจีนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องผสมข้าวไทยกับข้าวสายพันธุ์อื่น ตามตลาดทั่วไปในจีนตอนใต้ ราคาข้าวไทยและข้าวกัมพูชาสูงกว่าราคาข้าวชนิดเดียวกันที่ปลูกภายในประเทศถึงกว่า 50-300% แต่ข้าวไทยและข้าวกัมพูชายังคงขาดตลาด โดยเฉพาะข้าวไทย “ข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่นิยมมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน แต่หลายปีที่ผ่านมา ด้วยราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น พ่อค้าจำนวนมากจึงต้องผสมข้าวไทยกับข้าวประเภทอื่น”
แม่บ้านแซ่ฟางวัย 73 ปี กล่าวว่า ที่บ้านของเธอเริ่มชอบรับประทานข้าวหอมมะลิไทยตั้งแต่เธอยังเด็ก แต่ว่าในปัจจุบัน ราคาข้าวไทยสูงเกินไป เธอจึงต้องเปลี่ยนมาซื้อข้าวผสมแทน
การสังเกตข้าวนำเข้าจากไทย


ข้าวหอมมะลิที่ได้มาตรฐานและได้รับการบรรจุภัณฑ์มาจากประเทศไทยจริง ๆ จะต้องปรากฏสิ่งที่สังเกตได้ 5 ประการ คือ
1. “ ตรารวงข้าว” ที่เป็นสัญลักษณ์ว่า เป็นข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย
2. ระบุแหล่งผลิตว่าเป็น “ประเทศไทย”
3. ความบริสุทธิ์ของข้าวหอมมะลิต้องไม่ต่ำกว่า 92%
4. มีรหัสสินค้า (barcode) ที่ขึ้นต้นด้วย 885 ซึ่งเป็นรหัสสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทย และบนบรรจุภัณฑ์ต้องพิมพ์คำว่า ผ่านการรับรองคุณภาพโดยบริษัท C.C.I.C. (THAILAND) CO.,LTD. ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออกแห่งประเทศจีน
5. รูปลักษณ์ที่สมบูรณ์ของข้าวหอมมะลิไทยต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 7 มม. สัดส่วนความยาวต่อความกว้างไม่ต่ำว่า 3.2:1 ไม่มีฝุ่นผง
เวียดนามส่งออกข้าวไปจีนเกินสถิติ (ที่ฝ่ายจีนระบุ) 400,000 ตัน
ภายใต้สถานการณ์ที่ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้บริโภคและพ่อค้าชาวจีนจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนไปบริโภคข้าวหอมที่ผลิตในเวียดนามแทน ข้าวเวียดนามนั้นมีความหอมคล้ายคลึงกับข้าวไทยแต่มีราคาถูกกว่ามาก ซ้ำยังมีราคาถูกกว่าข้าวที่ผลิตในจีนอีกด้วย
ข้อมูลจากฝั่งจีนระบุว่า ปัจจุบัน ข้าวที่นำเข้าจากเวียดนามมีราคาถูกกว่าข้าวชนิดเดียวกันที่จำหน่ายในจีนถึงตันละประมาณ 400 หยวน สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า ข้าวไทยในปัจจุบันราคาตันละ 1,231ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ข้าวเวียดนามมีราคาตันละ 850-950 ดอลลาร์สหรัฐ ข้อได้เปรียบด้านราคานั้นสามารถเห็นได้ชัด
บริษัท ตงกว่านหงเขิ่นเหลียงฉือ จำกัด เป็นบริษัทที่นำเข้าข้าวเวียดนามเป็นหลัก นายเซียวฯ ผู้จัดการบริษัทกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เมื่อเทียบกับข้าวไทย ข้าวเวียดนามเติบโตเร็วกว่า ในหนึ่งปีสามารถปลูกข้าวได้ถึง 3 ครั้ง ดังนั้น ข้าวเวียดนามจึงมีราคาถูกกว่า แต่ก็แน่นอนว่า รสชาติไม่ได้ดีมาก”
ข้าวเวียดนามค่อนข้างแข็ง เปราะหักได้ง่าย ไม่หอมนุ่มเหมือนข้าวไทย ที่ผ่านมา การจำหน่ายข้าวเวียดนามก็เพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร เช่น ผงชูรส น้ำส้มสายชู หรือ ขนมอบ
ด้วยราคาที่ถูก ที่ผ่านมา ข้าวเวียดนามจำนวนมากจึงถูกนำมาเป็นส่วนผสม และปนกับข้าวชนิดอื่นอยู่บ่อย ๆ แต่ในช่วงหลายปีมานี้ สถานการณ์ได้พัฒนาไป ข้าวที่มีคุณภาพของเวียดนามบางชนิด ”ได้รับเกียรติ” ให้วางจำหน่ายในร้านค้า
ผู้จัดการเซียวฯ เล่าว่า “บริษัทฯ จำหน่ายข้าวได้เดือนละประมาณ 1,000 ตัน แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ สินค้าเกิดขาดตลาด หากมีสินค้า จะต้องขายได้มากกว่านี้อย่างแน่นอน“ นอกจากนี้ เขายังได้เปิดเผยเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวเวียดนามว่า นอกจากการจัดการทางธุรกิจตามปรกติแล้ว ตราบจนปัจจุบัน ก็ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับมาตรฐานรับรองอะไร “อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ข้าวมีราคาถูก”
จากรายงานของหนังสือพิมพ์ Grain News สถิติของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังจีนถึง 1,200,000 ตัน แต่สถิติจากศุลกากรจีนระบุปริมาณข้าวที่นำเข้าจีนเพียงแค่ 810,000 ตัน ตัวเลขที่ทางการเวียดนามประกาศสูงกว่าที่ศุลกากรจีนประกาศถึง 400,000 ตัน
พ่อค้าชาวเวียดนามผู้ไม่ประสงค์ออกนามเห็นว่า “แม้ว่าการลักลอบส่งออกข้าวจะมีอยู่จริงก็ตามแต่ก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลเวียดนามจะประกาศตัวเลขส่งออกข้าวเกินจริง เพื่อสร้างกำลังใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ดังจะเห็นได้จากการประกาศสถิติตัวเลขการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า “เพื่อประโยชน์ของประเทศ เกษตรกรที่ปลูกข้าว และความปลอดภัยของคุณภาพข้าวที่นำเข้าตลาดจีน ผมไม่สนับสนุนให้มีการลักลอบนำเข้าข้าวเข้ามาอย่างผิดกฏหมาย”
โควต้านำเข้าข้าว 5 ล้านตัน
ผู้จัดการเซียวฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวเข้ามายังจีนว่า “ส่วนใหญ่ บริษัทฯ จะนำเข้าข้าวที่ด่านศุลกากรเซินเจิ้น ซึ่งต้องมีโควตาที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งรัฐ”
จีนมีระบบโควต้าควบคุมการนำเข้าข้าว ตามโควต้าภาษีนำเข้าสำหรับธัญญาหารและฝ้ายประจำปี 2556 ที่คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งรัฐประกาศ จีนสามารถนำเข้าข้าวสารได้ 5.32 ล้านตัน (เป็นข้าวเมล็ดยาว 2.66 ล้านตัน ข้าวเมล็ดกลางและสั้น 2.66 ล้านตัน) ซึ่งร้อยละ 50 ให้เป็นการนำเข้าโดยรัฐวิสาหกิจ อีกร้อยละ 50 ให้วิสาหกิจที่ผ่านเงื่อนไขที่กำหนดสามารถยื่นขอโควตานำเข้าข้าวได้
หลักเกณฑ์ทั่วไปของผู้นำเข้าข้าว
ผู้นำเข้าข้าวไทยต้องผ่านเงื่อนไข ดังนี้
- ผู้นำเข้าจะต้องมีใบอนุญาตนำเข้าสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร
- ผู้นำเข้าต้องยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อขอโควต้าการนำเข้าจากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งรัฐ
- ผู้นำเข้าต้องมีหนังสือรับรองคุณภาพของข้าวไทยที่จะส่งออกจากบริษัทตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออกแห่งประเทศจีน (C.C.I.C.) ในไทย ซึ่งได้รับการมอบอำนาจจากสำนักตรวจสอบควบคุมคุณภาพแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ)
หนังสือพิมพ์ Time Weekly ได้รับคำตอบจาก Wal-Mart บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ ว่า ข้าวสารนำเข้าต่าง ๆ ที่วางขายใน Wal-Mart ส่วนใหญ่นำเข้าโดยผู้นำเข้าที่เป็นที่รู้จักและมีคุณสมบัติพร้อม ซึ่งตัวแทนนำเข้าสินค้าดังกล่าวต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการนำเข้าสินค้าตามข้อกำหนดของหน่วยงานการนำเข้าและส่งออกของจีน
คุณปี้ เหม่ยเจีย นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำกระทรวงเกษตรจีนกล่าวว่า ข้าวสารนำเข้าขยายตัวด้วยสาเหตุหลายประการ แต่เหตุผลหลักคือ ความต้องการที่สูงในตลาดจีนควบคู่ไปกับการขยายตัวของกำลังบริโภคของชาวจีน ความต้องการด้านความปลอดภัยและความหลากหลายสำหรับธัญญาหารก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้ง ค่าขนส่งทางเรือระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการขนส่งข้าวสารสู่จีนลดลงมากตามไปด้วย ราคาของข้าวสารนำเข้าจึงสามารถแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น
จีนให้ความสนใจต่อพัฒนาการของสถานการณ์ข้าวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดมา และมีผลตอบรับสนับสนุนในเชิงบวก เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 หนังสือพิมพ์ People’s Daily รายงานว่า “ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว กัมพูชาและพม่า มีทรัพยากรทางเกษตรมากมาย มีศักยภาพการผลิตข้าวอย่างมหาศาล หากเพิ่มการสนับสนุนประเทศเหล่านี้เพื่อพัฒนาการเกษตร เพิ่มกำลังผลิตธัญญาหารและรักษาราคาข้าวของโลกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปริมาณการค้าข้าวของโลกจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกถึง 30% จากปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยตอบสนองการจัดหาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นคงด้านธัญญาหารของโลกให้มากยิ่งขึ้น”
ในตลาดจีนนั้น ข้าวหอมมะลิไทยยังคงจัดเป็นข้าวระดับพรีเมียมเกรด ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวจีนที่มีรายได้ระดับกลางและบนที่ยินดีและพร้อมจ่ายสำหรับของดีและมีคุณภาพ หน่วยงานของภาครัฐและเอกชนทั้งไทยและจีนจึงควรที่จะตระหนักในการสร้างภาพลักษณ์และรักษามาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทยอย่างจริงจัง พร้อม ๆ กับการให้ความรู้ในการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยให้ผู้บริโภคชาวจีนที่พร้อมจับจ่ายให้ได้ข้าวหอมมะลิไทยที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง
จัดทำโดย: น.ส.ศรันย์ธร แจ้งปิยะรัตน์ นักศึกษาฝึกงาน จากสถาบันปรีดีย์พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียบเรียงโดย: น.ส.รัชดา สุเทพากุล สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่าวโจว และนายเจตนา เหล่ารักวงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว
แหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์ The Time Weekly ฉบับวันที่ 5-11 กรกฎาคม 2556