“ร้านช้างทอง” ต้นแบบความสำเร็จของร้านอาหารไทยในจีน

14 May 2013

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 56 น.ส. พาชื่น พรมงคล กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ได้เป็นประธานในการมอบเครื่องหมาย “ไทยซีเล็คท์” (Thai Select) หนึ่งในโครงการส่งเสริมร้านอาหารไทยในต่างประเทศของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรับรองคุณภาพทั้งรสชาติอาหารและการบริการที่ต้องบอกว่า “ไทยแท้” ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดให้แก่ร้านอาหารไทยในเมือง เซี่ยเหมินที่เรียกกันจนติดปากคนไทยที่นี่ว่าร้าน “ช้างทอง” หรือ “จินเซี่ยงวาน” (金象湾泰国餐厅)



ภาพ: การมอบเครื่องหมาย “Thai Select” โดย กสญ. ณ เมืองเซี่ยเหมิน

ในโอกาสนี้บีไอซีได้สัมภาษณ์หนึ่งในผู้บริหารร้านช้างทอง คือ คุณหยาง เฟิง (杨锋) ถึงกุญแจสู่ความสำเร็จที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถสร้างแบรนด์ร้านอาหารไทยที่ครองใจผู้บริโภคชาวจีน นอกจากจะบริหารร้านของตัวเองแล้ว ร้านช้างทองยังสามารถขายแฟรนไชส์กระจายไปยังที่เมืองอื่น ๆ ได้ ถือได้ว่าเมื่อพูดถึงร้านอาหารไทย ร้านช้างทองคือร้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของชาวจีนและไทยในเซี่ยเหมิน และอีกหลายเมืองในจีน

บีไอซี: ขอให้คุณหยางช่วยแนะนำร้านอาหารช้างทองโดยสังเขป

คุณหยาง: ร้านช้างทองเริ่มเปิดกิจการเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 โดยมี 6 สาขาในมณฑล ฝูเจี้ยนที่ผมบริหารด้วยตนเอง โดยแบ่งเป็นร้านในเมืองเซี่ยเหมิน 5 ร้านและนครฝูโจว 1 ร้าน โดยมีพ่อครัวคนไทยรวม 6 คน แต่ยังมีอีกหลายสาขาที่เป็นการขายแฟรนไชส์กระจายอยู่หลายแห่ง เช่น ในมณฑลฝูเจี้ยนมีเมืองผูเถียน หลงเหยียน สือซือ ในมณฑลเจียงซีมีอยู่ที่เมืองกั้นโจว เมืองกุ้ยหลินในเขตปกครองตนเองก่วงซีจ้วง และล่าสุดก็ได้เปิดสาขาที่นครซีอาน มณฑลส่านซี

บีไอซี: ทำไมถึงสนใจเลือกทำธุรกิจร้านอาหารไทย

คุณหยาง: เมื่อหลายปีก่อนผมเคยไปประเทศไทยและติดใจในรสชาติของอาหารไทย เมื่อกลับมาพบว่าในเมืองเซี่ยเหมินยังไม่มีธุรกิจร้านอาหารไทย จึงคิดว่ายังมีโอกาสในการทำธุรกิจดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อตัดสินใจทำแล้วยังต้องมีการปรับปรุงรสชาติของอาหารให้เหมาะสมกับความชอบของคนท้องถิ่นด้วย เพราะอาหารไทยส่วนใหญ่นั้นจะมักจะมีรสเปรี้ยวและเผ็ดนำ ดังนั้นในการทำอาหารไทยให้ลูกค้าชาวจีนรับประทานจึงต้องมีการปรับปรุงรสชาติเมนูอาหารให้กลมกล่อมให้มีทั้งไทย – จีน โดยที่ยังไม่ทิ้งรสชาติของความเป็นอาหารไทยแท้ดั้งเดิม

บีไอซี: กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของทางร้านคือใคร วัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงนำมาจากไหนและเมนูที่ได้รับความนิยมสูงสุดคืออะไร

คุณหยาง: เนื่องจากราคาของอาหารร้านช้างทองไม่แพงมากนัก ดังนั้นลูกค้าจึงมีความหลากหลาย มีทุกกลุ่มวัย ทั้งวัยรุ่น ครอบครัวและคนทำงาน โดยมีบางบริษัทที่เลือกร้านเราเป็นที่จัดเลี้ยงลูกค้า นอกจากนี้แล้วยังมีลูกค้าชาวไทยที่เป็นทั้งนักเรียนและนักธุรกิจไทย ชาวต่างชาติอื่น ๆ แวะเวียนมาใช้บริการไม่น้อย โดยวัตถุดิบที่ทางร้านใช้ประกอบอาหาร เช่น มะละกอ ข่า ใบมะกรูด ตะไคร้ มะนาวจะนำเข้าตรงจากประเทศไทยผ่านบริษัทนำเข้าที่นครกว่างโจว และเมนูที่ได้รับความนิยมที่สุดก็คือ ปูผัดผงกะหรี่และต้มยำกุ้ง



ภาพ: คุณหยาง เฟิง ผู้บริหารร้านอาหารช้างทอง

บีไอซี: ขั้นตอนการเปิดร้านอาหารไทยเป็นอย่างไรครับ

คุณหยาง: ไม่เพียงแต่ร้านอาหารไทยเท่านั้น การเปิดร้านอาหารทั่วไปที่เมืองจีนมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก โดยทุกอย่างจะต้องมีใบประกาศรับรองจากทางรัฐบาล ตั้งแต่ใบรับรองด้านสุขอนามัย ใบอนุญาตเสียภาษี การขอใบอนุญาตทำงานของพ่อครัว และกรณีร้านอาหารไทย วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารยังต้องมีใบแสดงรับรองแหล่งที่มาอย่างชัดเจน โดยในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางอาหารเป็นสิ่งที่ทางการจีนให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้นจึงเข้มงวดเป็นพิเศษ หากไม่มีใบอนุญาตต่าง ๆ นี้ก็จะโดนปรับเป็นจำนวนเงินไม่น้อยและไม่สามารถประกอบกิจการได้

บีไอซี: ในอดีตเคยมีนักธุรกิจไทยไม่น้อยมาลงทุนเปิดร้านอาหารไทยในเซี่ยเหมิน แต่สุดท้ายก็ต้องขาดทุนและปิดกิจการไป อยากให้คุณหยางวิเคราะห์ถึงสาเหตุดังกล่าว

คุณหยาง: ผมมองว่าในการทำธุรกิจร้านอาหาร นอกจากเรื่องของรสชาติอาหารที่ต้องอร่อยและสะอาดแล้ว สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ การเลือกทำเลที่ตั้ง เพราะที่ตั้งของร้านที่ดีก็จะมีลูกค้าเข้าร้านเป็นจำนวนมาก หลายร้านอาหารไทยที่เคยมาเปิดกิจการ ผมมองว่าทำเลของร้านอาจจะไม่ดีนัก และโดยเฉพาะร้านอาหารเปิดใหม่จะมีต้นทุนเรื่องค่าเช่าที่ค่อนข้างแพง บางรายจึงแบกภาระไม่ไหวต้องปิดตัวไปในที่สุด อีกทั้ง สำหรับคนจีนแล้ว ผมคิดว่าแม้อาหารไทยจะมีรสชาติอร่อย แต่ก็ไม่สามารถรับประทานทุกวันได้ เพราะหลายเมนูก็จะมีรสเผ็ดและมีส่วนประกอบของกะทิ ทำให้ผู้บริโภคเบื่อ ยิ่งประกอบกับทำเลของร้านที่ไม่ดี ลูกค้าก็เข้าร้านน้อยเป็นธรรมดา และท้ายที่สุดการทำธุรกิจในจีนยังต้องรู้จักมารยาทในการทำธุรกิจหรือที่เรียกว่า “กวานซี่”* อีกด้วย

บีไอซี: ธุรกิจร้านอาหารไทยในจีนยังมีโอกาสเติบโตอีกมากไหม และหากมีคนไทยสนใจเข้ามาทำธุรกิจจะมีข้อแนะนำอะไร

คุณหยาง: เมื่อปีก่อนที่มีภาพยนตร์เรื่อง “Lost in Thailand” กระแสภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้คนจีนจำนวนไม่น้อยหันมาให้ความสนใจกับอาหารไทย ผมยังมองว่าธุรกิจนี้ยังโตได้อีกมาก แต่ส่วนตัวผมแล้ว ผมคิดว่าหากเป็นคนไทยแล้วจะมาเปิดร้านอาหารไทยเองเป็นเรื่องยาก ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ การมีหุ้นส่วนชาวจีนร่วมด้วย เพราะคนจีนจะมีความเข้าใจถึงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจที่เป็นอย่างดี แต่กระนั้น หุ้นส่วนดังกล่าวก็ต้องเป็นคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะถูกโกงได้

บีไอซี: อะไรทำให้ร้านช้างทองประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้

คุณหยาง: ผมทำธุรกิจดังกล่าวโดยมุ่งให้ลูกค้ารัก โดยเน้นเรื่องความซื่อสัตย์ ผมยกตัวอย่างบางร้านที่ชอบจัดโปรโมชั่นอาหารแบบพิเศษ เมนูละ 1 หยวน แต่กลับไปบวกเพิ่มกับเมนูอื่น ๆ สำหรับร้านช้างทองถ้าจะลดให้ลูกค้าจะลดราคาให้ทุกเมนู ตรงไปตรงมา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด

*กวานซี่ (关系) เป็นขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิมในสังคมจีน คือ การสร้างสายสัมพันธ์อันดีงามให้ต่อเนื่อง สนิทสนมและคุ้นเคย เอื้อเฟื้อและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถือเป็นวิถีชีวิตของจีน ซึ่งในด้านการทำธุรกิจกับจีน ระบบกวานซี่แทรกเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยการสร้างสัมพันธ์อันดีงามโดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นศิลปะที่ต้องศึกษาจากผู้มีประสบการณ์ในการติดต่อธุรกิจกับจีน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ทั้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและการงานจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเบิกทางไปสู่ในด้านการค้าและบริการได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปแล้วคนจีนส่วนมากคาดหวังว่าชาวต่างชาติจะเข้าใจถึงคำว่า “ความสัมพันธ์” และปฏิบัติตัวตามกฎนี้

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน