รู้หรือไม่? รถยนต์ 1/10 ในประเทศจีนมาจาก “เมืองหลิ่วโจว” ของกว่างซี
21 Dec 2015สำนักข่าวซินหัว :ช่วง 11เดือนแรก ปี 2558 เมืองหลิ่วโจว (Liuzhou City, 柳州市) มีปริมาณการผลิตรถยนต์มากถึง 2.063 ล้านคัน คิดเป็น 1/10 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.66 คาดหมายว่าปริมาณการผลิตทั้งปีจะทะลุ 2.3 ล้านคัน
การที่เมืองหลิ่วโจวมีผู้อยู่อาศัยถาวร (Permanent resident) เพียง 1.7 ล้านคน จึงได้ชื่อว่าเป็น "เมืองผู้ผลิตรถยนต์เฉลี่ยต่อหัว" สูงที่สุดในประเทศจีน
"รถยนต์หลิ่วโจว" ยอดผลิต 1/10 ของจีน
เมืองหลิ่วโจวมีชื่อเสียงในฐานะ "เมืองอุตสาหกรรมยานยนต์" ระดับชั้นแนวหน้าของจีนมาเป็นเวลานาน ปัจจุบัน มีผู้ผลิตรถยนต์และอะไหล่ยานยนต์ที่มีชื่อเสียงจำนวนหลายราย
บริษัท SGMW (上汽通用五菱) เป็นผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่รายสำคัญของเมืองหลิ่วโจว และเป็นเจ้าของ “ฐานป่าวจวิ้น” ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์แบบครบวงจรที่มีความทันสมัย ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่หลิ่วตง (Liudong New District, 柳东新区)
ปัจจุบัน โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตรถยนต์ยี่ห้อ "ป่าวจวิ้น" (Bao Jun, 宝骏) ได้ 1 คันในทุกๆ 30 วินาที และรถยนต์ยี่ห้อนี้ได้รับการตอบรับจากตลาดผู้ใช้รถเป็นอย่างดี
นายหาน เต๋อหง (Han Dehong, 韩德鸿) ผอ.ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์บริษัท SGMW ให้ข้อมูลว่า รถยนต์รุ่น Baojun 560 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.2558 ด้วยเวลาเพียง 4 เดือนกว่าๆ ทำยอดขาย 1.1 แสนคัน โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.และพ.ย.มียอดจำหน่ายสูงกว่าเดือนละ 30,000 คัน
ช่วง 11 เดือนแรก ปีนี้ บริษัทฯ มียอดจำหน่ายรถยนต์รวม 1.802 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.87 (YoY) และด้วยอานิสงส์จากรถยนต์รุ่น Baojun 560 ช่วยให้เดือนพ.ย.มียอดขายทะลุ 2 แสนคันเป็นครั้งแรก (ยอดขาย 200,428 คัน)
บริษัท DFLZ (东风柳汽) เป็นผู้ผลิตรถยนต์ระดับชั้นนำรายสำคัญอีกรายของเมืองหลิ่วโจว เมื่อปี 2554 ได้ย้ายฐานการผลิตและวิจัยยานยนต์จากเขตอุตสาหกรรมเก่าไปอยู่ในเขตเมืองใหม่หลิ่วตง (Liudong New District, 柳东新区)
"การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตช่วยให้สายการผลิตรถยนต์ในโรงงานจากเดิมชั่วโมงละ 40 คัน เพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงละ 50 คัน และคาดหมายว่าในปีนี้จะผลิตรถยนต์ได้ 2.3 ล้านคัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10" ข้อมูลจากนายหลิว เสี่ยวผิง (Liu Xiaoping, 刘小平) หัวหน้าฝ่ายธุรกิจรถยนต์นั่งส่วนบุคลบริษัท DFLZ
เมื่อเทียบกับประเทศไทย [*]นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.จะมีการพิจารณาปรับเป้าหมายคาดการณ์ผลิตรถยนต์ในประเทศปี 2558 ใหม่ จากเดิมที่คาดไว้อยู่ระดับ 2.05 ล้านคันเป็นประมาณ 1.95-1.98 ล้านคัน เนื่องจากแนวโน้มยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศปีนี้เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 7.5-7.8 แสนคันจากเป้าหมายที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 8.5 แสนคัน
โกอินเตอร์ เติบโตจาก “ยืมแบรนด์” เป็น “สร้างแบรนด์”
เมื่อเดือน ส.ค.2558 บริษัท SGMW ควักเงินลงทุนมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ที่จังหวัดชวาตะวันตกในประเทศอินโดนีเซีย คาดหมายว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ภายในครึ่งปีหลังของปี 59 มีกำลังการผลิตปีละ 1.5 แสนคัน
นอกจากนี้ มีข่าวว่าบริษัท Guangxi Automobile Group (广西汽车集团) ผู้ผลิตอะไหล่ยานยนต์รายใหญ่ของเมืองหลิ่วโจวกำลังมีแผนจะเข้าไปสร้างโรงงานในประเทศอินโดนีเซียเช่นกัน
บริษัท SGMW (เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SAIC, General Motor กับ Liuzhou Wuling) เริ่มทำตลาดต่างประเทศเมื่อปี 2553 โดยการส่งออก "ทรัพย์สินทางปัญญา"
กล่าวคือ โรงงานรถยนต์ General Motors สหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ในประเทศอียิปต์และอินเดียนำเอารถยนต์ 2 รุ่นของบริษัทฯ (Wuling Zhi Guang/五菱荣光 และWuling Hong Guang/五菱宏光) ไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศโดยใช้แบรนด์ “Chevrolet” (บริษัทฯ มีรายได้จากการถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญาให้กับโรงงานในอินเดียเพียงแห่งเดียวสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่รถยนต์ที่ผลิตจากโรงงานของบริษัท SGMW ในประเทศอินโดนีเซียจะใช้แบรนด์ "Wuling" (五菱) โดยไม่ต้องยืมแบรนด์อื่นอีกต่อไป
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้รับสิทธิบัตรทั้งหมด 1,261 รายการ แบ่งเป็นสิทธิบัตรการผลิต (Invention patent) จำนวน 132 รายการ และมียอดการผลิตรถยนต์แล้วรวมกว่า 13 ล้านคัน
"หลังความพยายามตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บริษัท SGMW ได้รับการรับรอง UN ECE ว่าด้วยเรื่องการควบคุมมาตรฐานเสียงรบกวนในขณะขับขี่ของรถยนต์จีนขนาดเล็ก และเป็นบริษัทรายแรกของจีนที่ได้การรับรองมาตรฐานรถยนต์ยุโรป" ข้อมูลจากนายเลี่ยน เฉาชุน (Lian Chaochun, 练朝春) ผู้จัดการใหญ่ศูนย์เทคโนโลยี SGMW
เพิ่ม "คุณค่าผลิตภัณฑ์" ใส่ใจใน "คุณภาพ" มากกว่าปริมาณ
ยอดการผลิตรถยนต์ของเมืองหลิ่วโจวเติบโต 20 เท่าในเวลา 15 ปี จาก 1.1 แสนคันในปี 2543 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.3 ล้านคันในปี 2558
เหตุใดอุตสาหกรรมยานยนต์ของเมืองหลิ่วโจวจึงเติบโตอย่างแข็งแกร่งเช่นนี้??? นั่นเป็นเพราะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจาก "Made in Liuzhou" ไปสู่ "Created by Liuzhou" ที่เน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มากกว่า(ปริมาณ)การผลิตเพียงอย่างเดียว
นายหานฯ ผอ.ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์บริษัท SGMW ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีนี้ ยอดการผลิตขยายตัวร้อยละ 10 แต่มูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 รถยนต์ของ SGMW กำลังพัฒนาเป็นสินค้าระดับ hi-end ยอดการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการผลิตให้กับบริษัทฯ อย่างรวดเร็ว
"ทีมนักวิจัยที่แข็งกว่า 2 พันชีวิตเป็นฝ่ายที่คอยช่วยสนับสนุนและพลิกโฉมผลิตภัณฑ์ของบริษัท SGMW เพราะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นกุญแจสำคัญที่บริษัทเราจะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว" นายเลี่ยน เฉาชุน (Lian Chaochun, 练朝春) ผู้จัดการใหญ่ศูนย์เทคโนโลยี SGMW ให้ข้อมูล
รถยนต์รุ่นแรกเริ่ม "五菱之光" (Wuling Zhi Guang) มีมูลค่าการผลิตอยู่ที่คันละประมาณ 31,000 หยวน ต่อมาเป็นรถยนต์รุ่น "五菱宏光" (Wuling Hong Guang) มีมูลค่าการผลิตที่คันละราว 50,000 หยวน และรถยนต์รุ่น “Baojun 730” อยู่ที่คันละเกือบ 70,000 หยวน และรุ่นล่าสุดอย่าง "Baojun 560" มีมูลค่าการผลิตสูงกว่าคันละ 80,000 หยวน
เส้นทางการเติบโตของบริษัท DFLZ ที่เริ่มต้นธุรกิจจากการผลิตรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่เป็นหลัก เมื่อปี 2545 บริษัทฯ เริ่มปฏิรูปโครงสร้างการผลิต เบนเข็มมาจับตลาดรถ MPV และ SUV ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในจีน
บริษัทฯ อาศัยทีมช่างเทคนิคที่มีอยู่ในการพัฒนารถยนต์นั่งส่วนบุคคล และประสบความสำเร็จในการผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดในปี 2550 ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างอย่างรวดเร็ว ยอดการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจาก 20,000 กว่าคันในปี 2552 เป็น 250,000 คันในปี 2556
การเติบโตของธุรกิจการผลิตรถยนต์ในเมืองหลิ่วโจวช่วยให้ "ห่วงโซ่อุปทาน" ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของหลิ่วโจวพัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอะไหล่ยานยนต์ บริษัท SGMW ใช้อะไหล่รถยนต์ที่ผลิตในเมืองหลิ่วโจวร้อยละ 50 ขณะที่บริษัท DFLZ ใช้เกือบร้อยละ 40
บริษัทผู้ผลิตอะไหล่ที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศทยอยเข้ามาตั้งโรงงานในเมืองหลิ่วโจว อาทิ บริษัทผู้ผลิตระบบควบคุมเครื่องยนต์ UAES (联合电子) บริษัทผู้ผลิตกระจกรถยนต์ FuyaoGroup (福耀玻璃) บริษัทผู้ผลิตยางล้อรถยนต์อย่าง LingLong Tyre (玲珑轮胎)
ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์เมืองหลิ่วโจวมีมูลค่าการผลิตทะลุ 2 แสนล้านหยวน
ข้อมูลเพิ่มเติม
UN ECE (United Nations Economic Commission for Europe) หรือคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรป ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยคณะมนตรีทางเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมและแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศในยุโรปทุกประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยผู้แทนของประเทศต่างๆ จะศึกษาปัญหาต่างๆ และจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไข ที่มา: เว็บไซต์ www.wtothailand.or.th
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– ยักษ์ใหญ่ยานยนต์จีนทุ่มเงินลงทุนสร้างฐานวิจัยและผลิตรถยนต์ในเมืองหลิ่วโจว (27 ส.ค. 2558)
– ฉลองความสำเร็จ เมืองหลิ่วโจวของกว่างซีผลิตรถยนต์ทะลุ 2 ล้านคัน (23 ธ.ค. 2557)