รู้จักและเรียนรู้ HAIER ให้มากขึ้น ตอนที่ 1
22 Jul 2015
ย้อนอดีตกว่าจะเป็น HAIER ในวันนี้
ปัจจุบัน Haier คือ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีนตลอดจนเป็นผู้ผลิตสินค้าไอที เช่น โน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยในปี 2530 ได้จัดตั้งสำนักงานใหญ่ที่เมืองชิงต่าว และมีสาขาอยู่ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น โปแลนด์ ฯลฯ
ในปี 2527 (ค.ศ.1984) Haier โรงงานผลิตตู้เย็นเล็ก ๆ ตั้งอยู่ที่เมืองชิงต่าว กำลังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก หนี้สินของกิจการมีจำนวนมากถึง 147 ล้านหยวน ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินถึงขั้นวิกฤต พนักงานกว่า 800 คน ต้องรอคอยเงินเดือนที่จ่ายช้ากว่ากำหนดหลายเดือนเป็นประจำ อัตราการลาออกของพนักงานเพิ่มสูงขึ้น ขณะนั้นนายจาง รุ่ย หมิน (Zhang Ruimin) ได้เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารของบริษัท ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครต้องการ เนื่องจากบริษัทถูกประเมินว่า เป็นบริษัทที่มีคุณภาพต่ำ พนักงานขาดระเบียบวินัย สินค้าไม่มีคุณภาพ เป็นบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย แต่นาย จาง รุ่ย หมิ่น ได้กล่าวแก่พนักงานในวันเข้ารับตำแหน่งว่า “สินค้าของเขาจะไม่มีเกรด a,b,c,d จะมีเพียงคุณภาพ ที่ผ่านเกณฑ์หรือไม่ผ่านเกณฑ์เท่านั้น” เขาได้ใช้ค้อนทุบตู้เย็น Haier ที่มีตำหนิเล็กน้อย จำนวน 76 ตู้ ในวันนั้น และกล่าวกับพนักงานที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกันว่า “พวกเราจะต้องทำตู้เย็น Haier ที่ได้รับการดูถูกมาตลอดว่าเป็นยี่ห้อของจีนที่มีคุณภาพต่ำ ให้กลายมาเป็นสินค้าคุณภาพระดับสากลให้ได้”
จนถึงวันนี้ Haier จึงมีซีอีโอ คือนายจาง ลุ่ย หมิ่น เป็นผู้บริหารมือทอง การบริหารงานของจางนั้น เป็นการบริหารแบบ ‘’โออีซี’’(OEC หรือ Overall Every Control and Clear) ซึ่งคือการบริหารการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไร้จุดบกพร่องร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยมีการควบคุมคุณภาพ ณ ทุก จุดในสายการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ จุดเริ่มต้นของการบริหารงานแบบ ‘’โออีซี’’ คือการที่จาง รุ่ย หมิ่น ทุบตู้เย็นในครั้งนั้นได้สร้างเป้าหมายใหม่ในใจคนงานของ Haier ทำให้คนงานมีคุณภาพมากขึ้น อันหมายถึง สินค้ามีคุณภาพมากขึ้นตามไปด้วย จนทำให้ Haier เป็นผู้ผลิตสินค้าคุณภาพระดับโลกในวันนี้
กลยุทธ์ภายในประเทศ
เนื่องจาก Haier อยู่ในช่วงที่ใกล้ล้มละลาย ปัญหาทางการเงินอยู่ในขั้นวิกฤต สินค้าไม่มีคุณภาพและพนักงานไม่มีระเบียบวินัย ไม่เคร่งครัดในการทำงาน หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายจาง รุ่ย หมิน ได้รื้อโครงสร้างทางการเงินและสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่เรื่องการเข้าทำงาน จนถึงเรื่องพฤติกรรมในห้องน้ำ สลายพฤติกรรมชอบหยิบของโรงงานกลับบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ เขาได้สร้างระบบควบคุมคุณภาพการผลิต (Quality Control) และระบบการบริการหลังการขายต่าง ๆ กระทั่งกลายเป็นแบรนด์ที่ คนจีนไว้วางใจและให้การยอมรับ บริษัท Haier จึงประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยกลยุทธ์บางข้อที่น่าสนใจของนาย จาง รุ่ย หมิ่น กับ Haier ได้แก่
- กลยุทธ์ OEC
กลยุทธ์แรกที่เขานำมาจัดการกับพนักงานที่ทำงานไปวัน ๆ คือ โออีซี (OEC) over-all every control and clear โดยพนักงานทุกคนมีสิทธิ์ตรวจสอบในทุกขั้นตอนการผลิต มีหลักการ ซูโฉว ซูเผย(日高-日清)คือ พนักงานคนใดทำดีจะได้รับการตอบแทน พนักงานคนใดทำพลาดจะต้องชดใช้ โดยพนักงานที่ได้รับงานต่อจากคนก่อนหน้าจะต้องตรวจสอบความถูกต้องให้เรียบร้อยเสียก่อน หากมีงานเสียก่อนหน้าให้แจ้ง หากพนักงานคนใดที่ทำพลาดในการผลิตจะต้องโดนตัดเงินเดือนร้อยละ 20 รวมถึงหัวหน้าต้องโดนหักเงินเดือน ร้อยละ 80 เพราะฉะนั้นความผิดพลาดของ Haier ถึงเท่ากับศูนย์ การยึดหลักนี้ทำให้พนักงานต่างเกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน จนเกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ท้องตลาด
- กลยุทธ์การยอมรับจากตลาดบน
เมื่อพัฒนาพนักงานให้มีการตรวจสอบระหว่างกัน เพื่อแข่งขันให้ได้สินค้าคุณภาพดีออกมาจากโรงงานแล้ว สิ่งต่อมาคือ การหาตลาดรองรับสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย อย่างที่ทราบกันดีบริษัท Haier ติดอยู่ใน Blacklist บริษัทไร้คุณภาพ เขาจึงคิดว่าควรจะสร้างการยอมรับจากตลาดบนก่อนแล้วค่อยลงมายังตลาดล่าง ซึ่งแผนงานที่ได้นำมาปรับใช้ คือ การไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา โดยจัดตั้งโรงงานที่รัฐเซาท์แคโลไรนา งานออกแบบที่ ลอสแองเจลลิส และมีศูนย์จำหน่ายสินค้าที่นิวยอร์ค จากการผลิตในอเมริกานี่เอง ทำให้ได้ตราประทับเป็น Made in America จำหน่ายสินค้ากับผู้คนระดับพรีเมียม ซึ่งภายหลังจากการยอมรับตลาดบนเเล้ว พอคนจดจำชื่อแบรนด์ได้ ตลาดล่างก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป Haier เคยบุกตลาดเยอรมนี แต่คนเยอรมนีกลับเห็นว่าเป็นสินค้าคุณภาพต่ำจากจีนและไม่ยอมรับ Haier จึงได้ให้มีการท้าพิสูจน์ทดสอบคุณภาพ ซึ่งปรากฏว่า Haier มีคุณภาพดีกว่าตู้เย็นของเยอรมัน ทำให้เกิดการสั่งซื้อจำนวนมากทันที จากจุดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ Haier เริ่มออกสู่ตลาดโลก
- กลยุทธ์ Just-in-time Purchasing
เป็นวิธีจัดทำสินค้าให้พอดีกับการสั่งสินค้า เพื่อลดปริมาณการผลิตส่วนเกินที่จะเหลือคงคลังน้อยที่สุด ให้สินค้าที่สต๊อกเป็นศูนย์ ทำให้ไม่ต้องมีโกดังในการจัดเก็บสินค้า สิ่งที่จะทำให้กลยุทธ์แบบนี้ประสบความสำเร็จลุล่วง คือ การคาดคะเนการขายสินค้า การตลาด การผลิต การขนส่ง และการเจรจากับคู่การค้า
- กลยุทธ์การสร้างตลาด
นายจาง รุ่ย หมิ่น มีหลักคิดในการทำตลาดว่า หากต้องการประสบความสำเร็จ ควรสร้างตลาดขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องไปแย่งจากใคร โดยต้องเล็งไปยังความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และมีนวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญ ขณะเดียวกันต้องกระตุ้นให้พนักงานของ Haier เองค้นพบศักยภาพให้เร็วที่สุด และก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับความรุ่งโรจน์ของบริษัท
- กลยุทธ์การสร้างบุคลากรโดยศูนย์ฝึกอบรม Haier
ศูนย์ฝึกอบรม Haier คือ สถาบันที่อบรมสร้างความเชี่ยวชาญและทักษะต่าง ๆ ให้แก่บุคลากรของบริษัท ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ตั้งอยู่บริเวณสวนอุตสาหกรรมของ Haier ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 12,000 ตารางเมตร มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 3,600 ตารางเมตร มีห้องเรียนเครือข่ายออนไลน์ถึง 17 รูปแบบเเตกต่างกันที่สามารถรองรับนักเรียน 800 คน อย่างไรก็ดี ศูนย์ฝึกอบรม Haier ไม่ได้จัดเป็น “มหาวิทยาลัย” เพราะไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ เเต่สำหรับบริษัทมองว่า “ศูนย์ฝึกอบรม Haier จะกลายเป็นเบ้าหลอมและเพิ่มความสามารถให้กับพนักงาน” เน้นให้ความสนใจกับธุรกิจ วัฒนธรรมและนวัตกรรม ที่เริ่มต้นด้วยความคิดเรื่องการโต้ตอบและการสื่อสารนวัตกรรม การส่งเสริมการสร้างบทบาทเชิงบวก “นวัตกรรมคือนวัตกรรม” คือคำขวัญของศูนย์ฝึกอบรม Haier เพื่อเน้นให้นักเรียนได้รับการกระตุ้นด้วยนวัตกรรม เกิดแนวคิดที่จะศึกษาแสวงหากฎของการพัฒนาและสรุปและจากนั้นนำกลับไปปฏิบัติในระดับที่สูงมากขึ้นของนวัตกรรมในรูปแบบแยกส่วนและนวัตกรรมใหม่ในรูปแบบวงจรอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ฝึกอบรม Haier หรือโรงเรียนฝึกอมรมผู้ประกอบการ จะมีโครงการ road show ต่างๆ เพื่อจัดหาครูฝึกให้กับผู้ประกอบการที่เหมือนสนามจริง และเร่งสร้างโครงการใหม่ ๆ นอกจากนี้ ศูนย์ฝึกอบรม Haier ร่วมกับมหาวิทยาลัยปักกิ่งก่อตั้งโรงเรียนฝึกงาน Haier ร่วมกับ มหาวิทยาลัยซิงหัวในการร่วมกันเปิดตัวฐานการศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยชานตงในการดำเนินการเชิงกลยุทธ์และผลักดันไอเดียใหม่ ๆ ควบคู่กับจัดกิจกรรมในองค์กร เพื่อสร้างแบรนด์ไฮเออร์และเป็นเวทีสำหรับเชื่อมต่อทรัพยากรที่มากขึ้นให้กับลูกค้า
กลยุทธ์ Haier ในต่างประเทศ
ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Haier มีวางจำหน่ายในประเทศหลัก ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในทวีปอเมริกาหรือยุโรป นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จอร์แดน ปากีสถาน รวมทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอยู่ในทวีปหลักทั่วโลก คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลียด้วย โดยศูนย์วิจัยและพัฒนานี้ได้มีการรวบรวมทรัพยากรเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทั่วทุกมุมโลกได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมากว่า 30 ปี Haier ได้มีกลยุทธ์การพัฒนามาแล้วทั้งสิ้น 4 ขั้นตอน คือ การสร้างแบรนด์ (2527-2534) การพัฒนาและขยายธุรกิจ (2534-2541) การเข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์ (2541-2548) การสร้างแบรนด์ระดับโลก (2548-2555) ในปี 2556 ได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนที่ 5 กลยุทธ์การพัฒนาโดยสมบูรณ์ และจากการจัดอันดับของยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล Haier ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่มียอดขายตู้เย็น เครื่องซักผ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมากเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกัน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2556
ยุทธศาสตร์การก้าวออกไปลุยตลาดต่างแดนของ Haier มีจุดเด่นที่น่าสนใจ โดย Haier ตั้งเป้าว่าการออกไปต่างประเทศ คือการไปสร้างแบรนด์จีน ไม่ใช่เพียงแค่สร้างตัวเงิน แต่ยังต้องอาศัยผู้บริโภคท้องถิ่นเป็นผู้รับประกันคุณภาพของสินค้า ในช่วงแรก Haier ยึดหลัก “ลำบากก่อนสบายทีหลัง” วิ่งเข้าหาตลาดยุโรป สหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วที่ให้ความสำคัญต่อคุณภาพ เพื่อหาจุดยืนของแบรนด์ พร้อมไปกับเดินหน้าสู่เป้าหมาย “3 ส่วนรวมเป็น 1” ที่แต่ละส่วนหมายถึง (1) การผลิตและจำหน่ายในประเทศ (2) การผลิตในประเทศและส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ (3) การผลิตและการจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่ง Haier ให้น้ำหนักทั้ง 3 ส่วนนี้เท่าๆ กัน และก่อตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์ออกแบบในต่างประเทศ เพื่อผลิตสินค้าที่มีจุดเด่นเหมาะสมกับผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น กระทั่งในปี ค.ศ. 1996 Haier ได้เริ่มก่อตั้งโรงงานในต่างแดน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและสหรัฐอเมริกา
หลักจากโรงงาน Haier ที่เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง ซึ่งมีการผลิตตู้เย็นเป็นสินค้าสร้างชื่อของ Haier แล้ว ต่อมาฐานการผลิตที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนแห่งแรกนอกแผ่นดินใหญ่ของแบรนด์ดังมังกรแห่งแรกได้ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1999 โดยมีศูนย์กลางการออกแบบอยู่ที่ลอสแองเจลลิส ศูนย์กลางจัดจำหน่ายที่นิวยอร์ก ศูนย์กลางการผลิตที่รัฐเซาท์แคโรไลน่า และทำให้แบรนด์ Haier เริ่มเข้าสู่การเป็นแบรนด์สากลอย่างแท้จริง
ต่อมา Haier ได้เปิดตลาดเข้าสู่เอเชีย จากเดิมทีคู่ต่อสู้หลักในเอเชียอยู่ที่แบรนด์ญี่ปุ่นกับแบรนด์จากฝั่งตะวันตกเป็นหลัก ก่อนที่แบรนด์เกาหลีจะเข้ามาตีตลาด ทำให้หลายกลุ่มสินค้าต้องเสียส่วนแบ่งตลาดไปอย่างมหาศาล แต่เส้นทางของHaier ดูเหมือนว่าจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในทุกพื้นที่จำหน่ายกว่า 10ปีที่ผ่านมา “Haier Asia” (หรือเมื่อ 12ปีก่อน คือแบรนด์ “ซันโย” ก่อนที่ Haier จะเข้ามาซื้อกิจการ) ประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด ล่าสุดได้ประกาศความสำเร็จครั้งใหญ่ ด้วยการสร้างกำไรครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดย “โยชิอากิ อิโตะ” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท HaierAsia จำกัด ซึ่งชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนามนักปลุกชีพที่มีประสบการณ์ในการพลิกวิกฤติของแบรนด์ต่าง ๆ จากลบให้เป็นบวกมาหลายบริษัทแล้ว ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 “โยชิอากิ อิโตะ” เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอของ Haier Asia จากการทาบทามของประธานกลุ่ม Haier และตอนนี้ผลงานของเขาก็เริ่มเป็นที่ประจักษ์แล้ว
กลยุทธ์ของโยชิอากิ อิโตะคือ “Change” เปลี่ยนทั้งการผลิต การตลาด การขาย และการบริหาร ภายใต้เป้าหมายพลิกฟื้นธุรกิจจากการขาดทุนให้มีกำไร สิ่งสำคัญที่เริ่มต้นและเห็นผลได้ชัดคือการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร โดยมุ่งไปที่การปรับโครงสร้างผู้บริหาร จากเดิมที่มีถึง 15 ระดับ ให้เหลือเพียง 4 ระดับ ทำให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น กำไรครั้งแรกในรอบ 15 ปี คือ จุดเริ่มต้น จากนี้ไปเขาตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ผลประกอบการของ Haier Asia เติบโต 2 เท่าภายใน 3 ปี วิธีที่จะสร้างการเติบโตต่อไปประกอบด้วยนวัตกรรมสินค้า การขยายตลาดและบุกตลาดในรูปแบบ B2B และB2G มากขึ้น
ส่วนการขยายตลาดจะมีทุกรูปแบบ เช่น ที่ผ่านมาได้เข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สาธาณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อทำสัญญาร่วมกัน และขยายความร่วมมือในลักษณะนี้กับประเทศอื่น ๆ ใช้ชื่อเสียงของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในตลาดสำคัญอย่างอเมริกาและยุโรป สร้างการยอมรับในการเป็นแบรนด์ระดับโลก และใช้วิธีเข้าไปตั้งโรงงานในต่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีและร่วมทุนกับบริษัทในประเทศนั้น ๆ เพื่อทำลายภาพเดิมของสินค้า Made in China เช่น ร่วมมือกับ Lieb-herr ของเยอรมนี เพื่อใช้เทคโนโลยีผลิตตู้เย็นไปขายอเมริกาทุกปีจนเป็นที่ยอมรับ ก่อนจะเข้าไปตั้งโรงงานผลิตตู้เย็นในอเมริกา ที่รัฐเซาท์แคโรไลนา เพื่อได้ชื่อว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากประเทศอเมริกา
ด้านการลงทุน ได้ลงทุน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับศูนย์วิจัยในญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาสินค้าประเภทตู้เย็นและเครื่องซักผ้า เพื่อป้อนให้กับตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์แห่งนี้สามารถรองรับการทำงานของวิศวกรได้ 800 คน ปัจจุบันมีวิศวกรที่ทำงานอยู่ 250 คน และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การสร้างศูนย์ CAC : Commercial Air Conditioner เพื่อใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบเครื่องปรับอากาศให้กับทีมงานและลูกค้า โดยคาดว่าปีนี้จะทำการฝึกอบรมได้ประมาณ 200 คน รองรับทั้งตลาดในไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม โดยวางเป้าหมายเบื้องต้นที่จะเพิ่มยอดขายเครื่องปรับอากาศในอาเซียนให้เติบโตอีก 3 เท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อจะเข้าสู่ความเป็นTop 10 ของตลาด และการปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ชื่อของแบรนด์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ชื่อสินค้าในแต่ละประเทศ ยังมีความแตกต่างกัน โดยไทยใช้แบรนด์ Haier เวียดนามใช้แบรนด์ซันโย มาเลเซียและอินโดนีเซียใช้ทั้งไฮเออร์และซันโย ส่วนญี่ปุ่นใช้แบรนด์อะควา (Aqua) และ Haier โดย 3 ปีหลังจากนี้ แบรนด์ซันโยจะเปลี่ยนเป็นอะควาทั้งหมด หลังจากนี้ไปจะเห็นการลงทุนของ Haier เอเชียมากขึ้น โดยได้เริ่มต้นแล้วที่พม่า จำนวน 400 ล้านบาท และจะเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นลำดับต่อไป ผลประกอบการของHaier Group ในปีที่ผ่านมา มีรายได้ 3.2 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 11 โดยยอดขายของ Haier Asia อยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท โดยร้อยละ 50 มาจากญี่ปุ่น
ภาพของ Haier Asia ในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาสินค้า เพื่อรองรับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค Internet of Thing การสร้าง Haier Asia ให้แตกต่างจาก Haier ในจีน หากต้นแบบนี้สำเร็จก็สามารถขยายไปใช้กับHaier Group ได้ด้วย และชื่อของ Haier Asia จะกลายเป็นบริษัทของคนเอเชีย ไม่ใช่แค่จีนหรือญี่ปุ่นอีกต่อไป
ข้างต้นเป็นเพียงบทเริ่มต้นของ Haier ในครั้งหน้าจะนำท่านผู้อ่านไปรู้จัก Haier ให้มากขึ้น ตอนที่ 2 อย่าลืมติดตามตอนต่อไปกันนะคะ
แหล่งข้อมูล
Ø http://www.nationmultimedia.com/
Ø http://www.positioningmag.com/content/haier
Ø http://www.mbamagazine.net/index.php/marketing-menu/9-case-study
Ø http://marketeer.co.th/2015/01/haier/
Ø https://m.facebook.com/HaierTH?refsrc=https%3A%2F%2Fth-th.facebook.com%2FHaierTH
จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว