รายงานกระทรวงเกษตรของสหรัฐคาดการณ์ว่า ยอดนำเข้าข้าวของจีนปี 2555 เพิ่มขึ้น 4.5 เท่า

17 Jan 2013

จากรายงานของกระทรวงเกษตรของสหรัฐ ปริมาณการนำเข้าข้าวของจีน ในปี 2555 น่าจะเพิ่มขึ้น มากกว่า 4.5 เท่า โดยเป็นการทำสถิติใหม่ที่ 2.6 ล้านตัน และทำให้จีนเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับสองของโลกรองจากไนจีเรีย รายงานดังกล่าวสร้างความกังวลว่า จีนอาจกำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร

ในปี 2555 ปริมาณธัญญาหารที่จีนผลิตอยู่ที่ราว 2 ร้อยล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3.28 ล้านตัน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 9 ขณะที่ ขนาดของพื้นที่การเพาะปลูกของทั้งประเทศ ก็สามารถรักษาระดับคงที่ที่ราว 1.8 พันล้านหมู่ อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณการผลิตธัญญาหารของจีนมีโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตัวเลขการนำเข้าข้าวกลับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายนของปี 2555 ปริมาณการนำเข้าข้าวของจีนอยู่ที่ราว 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 310 หรือมากกว่า 3 เท่าตัว ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมการลักลอบนำเข้าอีกจำนวนหนึ่ง

การที่ปริมาณการนำเข้าข้าวของจีนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งๆที่ปริมาณธัญญาหารที่ผลิตได้ก็เพิ่มสูงขึ้น มีสาเหตุหลักจากช่องว่างราคาระหว่างข้าวที่ผลิตในประเทศกับข้าวที่นำเข้า โดยราคา ณ ปัจจุบัน ข้าวที่จีนผลิตเองราคาราว 180 หยวนต่อ 50 กิโลกรัม ขณะที่ข้าวนำเข้าอยู่ที่ 170 หยวนต่อ 50 กิโลกรัม ทำให้เกิดการแสวงหากำไรจากช่องว่างราคาดังกล่าว การที่ราคาข้าวจีนสูงกว่าข้าวนำเข้านั้นเกิดปัจจัยหลายประการ เช่น ต้นทุนการผลิต เช่น แรงงาน ที่เพิ่มสูงขึ้น อุปสงค์ด้านอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น การรับซื้อข้าวของภาครัฐที่กำหนดราคาไว้สูงเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร รวมถึงมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ทำให้ราคาข้าวภายในประเทศของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรอย่างไทยและเวียดนาม ต่างมีข้อได้เปรียบด้านสภาพภูมิอากาศ และได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ทำให้มีความได้เปรียบทางด้านราคา

อัตราการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าประเภทธัญญาหารจากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดความกังวลว่า จีนอาจเผชิญปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร โดยนอกจากการนำเข้าข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราการพึ่งพาการนำเข้าของถั่วเหลืองและน้ำมันปรุงอาหารก็ได้เกินระดับร้อยละ 60 ไปเรียบร้อยแล้ว โดยตามสถิติ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและจำหน่ายธัญญาหารของโลกอย่าง ADM CARGILL Bunge และ Louis Dreyfus รวมกันมีส่วนแบ่งการตลาดวัตถุดิบสำหรับผลิตและแปรรูปน้ำมันปรุงอาหารถึงมากกว่าร้อยละ 75 ของตลาดจีน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน