ราคากลางราคารับซื้ออ้อยประจำฤดูกาล 55/56 ลดลงเล็กน้อย นักวิเคราะห์เชื่อจีนไม่นำเข้าน้ำตาลมากในปีนี้
22 Feb 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ฤดูกาลผลิต ปี 55/56 ราคากลางรับซื้ออ้อยปรับตัวลงเล็กน้อย ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลลงลดตามไปด้วย
กรมกำกับราคาสินค้ากว่างซี (Guangxi Commodity Price Bureau, 广西物价局) ได้ประกาศราคารับซื้อวัตถุดิบอ้อยสำหรับการผลิตน้ำตาล ในฤดูกาลผลิตปี 55/56 ซึ่งใช้สำหรับเป็นเกณฑ์มาตรฐานทั่วเขตฯ กว่างซีจ้วง โดยราคางวดแรกของฤดูกาลฯ อยู่ที่ตันละ 475 หยวน
ทั้งนี้ ราคารับซื้ออ้อยจะผูกกับราคาน้ำตาลอ้อย และการคำนวณราคาขั้นสอง กล่าวคือ ราคารับซื้อที่ตันละ 475 หยวนจะถูกผูกกับราคาจำหน่ายเฉลี่ยน้ำตาลทรายขาว(รวมภาษี) ที่ตันละ 6,580 หยวน หากราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกๆ 100 หยวน ราคารับซื้ออ้อยก็จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 หยวน
อย่างไรก็ดี พบว่า ราคารับซื้องวดแรกของฤดูกาลผลิตนี้ต่ำกว่าฤดูกาลผลิตก่อนอยู่เล็กน้อย โดยฤดูกาลผลิต 54/55 มีราคารับซื้ออยู่ที่ตันละ 500 หยวน และผูกกับราคาจำหน่ายเฉลี่ยน้ำตาลทรายขาว(รวมภาษี) ที่ตันละ 7,000 หยวน
บุคคลในแวดวงธุรกิจน้ำตาล วิเคราะห์ว่า การปรับลดราคารับซื้อลงจะส่งช่วยต้นทุนของผู้ประกอบการผลิตน้ำตาลทรายขาวลงตันละประมาณ 200 หยวน โดยผู้รับซื้อจะต้องจ่ายเงินงวดแรกให้กับเกษตรกรภายใน 1 เดือน
ในแง่ของเกษตรกรชาวไร่อ้อย มีผลผลิตต่อหน่วยหมู่จีน (ราว 2.4 ไร่) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.44 ตัน ราคารับซื้ออยู่ที่ตันละ 475 หยวน เกษตรกรจะมีรายได้ต่อหมู่จีน 2,109 หยวน ซึ่งเพิ่มขึ้น 259 หยวนจากฤดูกาลผลิตก่อน
แม้ว่าต้นทุนการผลิตมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น (ค่าแรงงาน และค่าวัสดุทางการเกษตร) จากปีก่อน ทว่า หักลบปัจจัยข้างต้นแล้วยังพบว่าเกษตรกรมีรักษาระดับการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ตามรายงาน ฤดูกาลผลิตนี้ ทางการกว่างซีได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนการปลูกอ้อยพันธุ์ดีทั่วมณฑล โดยแต่ละเมืองสามารถคัดเลือกอ้อยพันธุ์ทั้งหมดไม่เกิน 5 พันธุ์จากทั้งหมด 10 พันธุ์ที่รัฐบาลกว่างซีกำหนด เพื่อดำเนินนโยบายเพิ่มราคารับซื้ออ้อยอีกตันละ 30 หยวน
จากที่ BIC เคยนำเสนอข่าวก่อนหน้านี้ว่า ในฤดูกาลผลิตนี้ กว่างซีต้องประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้วิสาหกิจผู้ผลิตน้ำตาลส่วนใหญ่มีการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำตาลลงประมาณร้อยละ 5 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้น้ำตาลขาดแคลนเล็กน้อย
เนื่องจากกว่างซีเป็นมณฑลผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของจีน ด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า จีนยังคงมีปริมาณน้ำตาลเพียงพอ เนื่องจากราคาน้ำตาลที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้โรงงานน้ำตาลดำเนินการกักตุนสำรองน้ำตาลไว้ เพื่อรอให้ราคาน้ำตาลทรายสูงขึ้นจึงปล่อยออกสู่ตลาด
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากจีนไม่ได้ผูกราคาน้ำตาลในประเทศกับราคาน้ำตาลในตลาดต่างประเทศ ปัจจุบัน ราคาน้ำตาลในจีนจึงมีราคาสูงกว่าในต่างประเทศอยู่ ถึงแม้ว่าราคาน้ำตาลในประเทศมีแนวโน้มลดลงจากฤดูกาลผลิตก่อนหน้าก็ตาม
ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลก (ปี 55 ปริมาณนำเข้ากว่า 3.7 ล้านตัน) โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และอเมริกาใต้ (คิวบา บราซิล)
เช่นเดียวกับข้าว น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมและสินค้าอ่อนไหวของจีน ซึ่งในแต่ละปี รัฐบาลกลางจะกำหนดโควต้านำเข้าไว้
หากผู้ประกอบการไทยมีสิทธิ์ที่จะส่งออกน้ำตาล และต้องการส่งออกมายังจีน ต้องตรวจสอบเสียก่อนว่า คู่ค้าของตนมีโควต้าการนำเข้าน้ำตาลจากภาครัฐหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการทำสัญญาการซื้อขาย เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– อากาศหนาวทำพิษ!! ปริมาณการผลิตน้ำตาลกว่างซีร่วงลง 5% (16 มกราคม 2556)