รัฐบาลวางแผนเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กองทุนต่างชาติ หวังผลักดันฮ่องกงสู่ศูนย์กลางการบริหารจัดการกองทุน
12 Mar 2013นาย John Tsang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฮ่องกง (Financial Secretary) ได้แถลงงบประมาณประจำปี ค.ศ. 2013-2014 (2556-2557) ต่อสภานิติบัญญัติของฮ่องกง (Legislative Council: LegCo) เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2556 โดยมียุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 4 ด้าน คือ (1) ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ (2) ส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรบุคคล (3) พัฒนาและลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ (4) ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ภายใต้แผนการงบประมาณดังกล่าว นโยบายใหม่ที่น่าสนใจสำหรับชาวต่างชาติ คือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กองทุนต่างชาติ โดยรัฐบาลได้ (1) วางแผนขยายนโยบายยกเว้นภาษีกำไร[1](profits tax) แก่ Private Equity Funds[2] (2) วางแผนเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่รูปแบบกองทุนต่างชาติที่เข้ามาจัดตั้งในฮ่องกง โดยปัจจุบัน ฮ่องกงกำหนดให้กองทุนต่างชาติต้องอยู่ในรูปแบบทรัสต์เท่านั้น แต่รัฐบาลได้วางแผนขยายรูปแบบกองทุนต่างชาติให้สามารถอยู่ในรูปแบบกองทุนเปิด[3] (open-ended Investment Company)ได้ด้วย และ (3) วางแผนเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อให้กองทุนที่จดทะเบียนในฮ่องกงสามารถเปิดจำหน่ายในจีนได้ ในขณะเดียวกัน กองทุนในจีนก็สามารถเปิดจำหน่ายได้ในฮ่องกง ซึ่งนโยบายดังกล่าวข้างต้นมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นแก่อุตสาหกรรมกองทุนในฮ่องกง ดึงดูดกองทุนต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในฮ่องกงมากขึ้น และส่งเสริมบทบาทด้านการเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการด้านกองทุนของฮ่องกง
นอกจากนี้ นาย Tsang ได้สรุปภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2555 และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2556 ดังนี้
– ฮ่องกงมีการขยายตัวของ GDP ในปี 2555 ร้อยละ 1.4 (ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา) โดยได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการที่ค่อนข้างต่ำ (ร้อยละ 1.3 และ 1.2 ตามลำดับ) เนื่องจากอุปสงค์ด้านสินค้าและบริการจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปลดลง
– เศรษฐกิจของฮ่องกงยังเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน (private consumption) ร้อยละ 4 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากอัตราการจ้างงานที่สูงและรายรับที่ปรับเพิ่มขึ้น มีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 3.3 (ธ.ค. 2555) มีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 48 ล้านคน ซึ่งได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮ่องกงมาอย่างราบรื่น
– สำหรับปี 2556 นั้น ยังคงเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่ยังผันผวน โดยสหรัฐอเมริกามีอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างช้า เศรษฐกิจของยุโรปยังอยู่ในช่วงซบเซา และปัญหาหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นยังคงไม่คลี่คลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังมีความเสี่ยง 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านสกุลเงิน การค้าระหว่างประเทศและภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitics)
– อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่เข้มแข็งและเศรษฐกิจจีนที่เริ่มฟื้นตัวจะช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศของฮ่องกง นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในฮ่องกงจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักแก่เศรษฐกิจฮ่องกงในปี 2556 เนื่องจากปัจจัยจากการมีตลาดแรงงานที่มีเสถียรภาพ การบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ส่งผลให้รัฐบาลฮ่องกงคาดการณ์ว่า ในปี 2556 ฮ่องกงจะมีการขยายตัวของ GDP ที่ร้อยละ 1.5-3.5และมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 4.2-4.5
[1] เดิมรัฐบาลฮ่องกงจะยกเว้นภาษีกำไรให้แก่กองทุนต่างชาติที่เป็นกองทุนรวม (Hedge Fund) เท่านั้น ส่งผลให้ Private Equity Funds ต้องไปบริหารจัดการกองทุนในต่างประเทศ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี
[2] Private Equity Funds คือ การลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อ-ขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึงการกู้มาซื้อกิจการ (Leverage Buyout) กองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital Fund) การลงทุนโดยบุคคล หรือนิติบุคคลในกิจการที่ยังไม่มั่นคงนัก การลงทุนในลักษณะ private equity นี้เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็สูงตามไปด้วย
[3] กองทุนเปิด คือ กองทุนรวมที่สามารถเพิ่มหรือลดหน่วยลงทุนได้ ไม่มีกำหนดอายุโครงการ