รอการสุกงอม!!! นิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทย แหล่งการลงทุนใหม่ในอนาคต

14 Oct 2013

หนังสือพิมพ์ Youjiang Daily: ทางการกว่างซีจัดประชุม เพื่อเร่งผลักดันความคืบหน้าในการก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทย (China (Chongzuo) – Thailand Industrial Park, 中泰(崇左)产业园)

นายจาง เสี่ยวชิน (Zhang Xiao Qin, 张晓钦) รองประธานเขตฯ กว่างซีจ้วง (เทียบเท่ารองผู้ว่าการมณฑล) และรองเลขาธิการคณะทำงานเขตนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย ได้เป็นประธานจัดงานประชุมดังกล่าวขึ้น โดยกล่าวว่า รัฐบาลกว่างซีพร้อมให้การสนับสนุนเมืองฉงจั่วอย่างเต็มที่ในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้

นายซุน ต้า กวาง (Sun Da Guang, 孙大光) นายกเทศมนตรีเมืองฉงจั่ว ได้รายงานสภาพความคืบหน้าของแผนงานก่อสร้างนิคมฯ และขอให้ทางการกว่างซีเร่งจัดตั้ง คณะทำงานร่วมกว่างซี-ไทย (เป็นแนวคิดริเริ่มของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงกับรัฐบาลกว่างซี เพื่อทำหน้าที่ประสานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการศึกษาระหว่างสองฝ่าย)

เทศมนตรีฯ ยังขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลมณฑลทั้งด้านสิทธิประโยชน์/นโยบายพิเศษ เงินทุน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งช่วยผลักดันให้นิคมแห่งนี้ได้รับการยกระดับเป็นความร่วมมือระดับประเทศ (เหมือนนิคมฯ จีน-มาเลเซียในเมืองชินโจว)

ตลอดช่วง 2 ปีมานี้ เทศบาลเมืองฉงจั่วมีความกระตืนรือร้นอย่างมากในการผลักดันความคืบหน้าของการจัดตั้ง นิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เทศบาลเมืองฉงจั่วได้ร่วมหารือกับบริษัท East Asia Sugar (เครือบริษัทน้ำตาลมิตรผล) เกี่ยวกับการย้ายโรงงานผลิตน้ำตาลมาจัดตั้งในพื้นที่นิคมแห่งนี้ ภายใต้คอนเซปต์อุตสาหกรรมการผลิตเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ระหว่างการเยือนไทยของคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนกว่างซี ซึ่งมีการจัดงานกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจการค้ากว่างซี-ไทย นายซุนฯ เทศมนตรีเมืองฉงจั่ว ได้มีโอกาสพบปะและนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งนิคมฯ กับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี

เมื่อเดือนกันยายน 2556 ระหว่างการเยือนเขตฯ กว่างซีจ้วง เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 10 (10th CAEXPO) ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เปิดโอกาสให้นายเผิง ชิงหัว เลขาธิการพรรคฯ ประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือ โดยนายเผิงฯ ได้ใช้โอกาสดังกล่าวแนะนำแผนงานก่อสร้างนิคมฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแสดงการสนับสนุนในชั้นนี้

นอกจากนี้ เทศบาลเมืองฉงจั่วยังได้เชิญคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนไทยเดินทางเยือนเมือฉงจั่ว เพื่อศึกษาและเยี่ยมชมนิคมแห่งนี้หลายต่อหลายครั้ง

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เทศบาลเมืองฉงจั่วได้กำหนดฟังก์ชั่นของนิคมฯ เป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสหากรรมการแปรรูปผลไม้ อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรจากประเทศสมาชิกอาเซียน และอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเครื่องใช้ไฟฟ้า

BIC เห็นว่า การจัดตั้งนิคมฯ แห่งนี้เป็นหนึ่งในกุศโลบายอันชาญฉลาดของเทศบาลเมืองฉงจั่ว ซึ่งหวัง ยืมแรง วิสาหกิจต่าง ๆ ในการพัฒนาและนำความเจริญสู่พื้นที่ดังกล่าว

เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ที่ได้รับการกำหนดเป็นนิคมฯ ส่วนใหญ่เป็นที่พื้นที่ไร่อ้อย ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ที่ต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะในด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ในแง่สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน เนื่องจากนิคมฯ แห่งนี้เป็นเพียงความร่วมมือระดับเทศบาลท้องถิ่น ดังนั้น สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจึงยังมีไม่มาก และขาดแรงดึงดูด

อย่างไรก็ดี หากนิคมแห่งนี้ได้รับการยกระดับเป็นความร่วมมือระดับมณฑลและประเทศ รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้มีความทันสมัยแล้ว นิคมดังกล่าวน่าจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับจุดแข็งในพื้นที่ (เช่น ธุรกิจน้ำตาล เพราะเมืองฉงจั่วเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่ใหญ่ที่สุดของจีน)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน