ยักษ์ใหญ่ธุรกิจสุกรระดับโลกจากแคนาดาจับมือกว่างซีตั้ง “ธนาคารน้ำเชื้อหมู”

25 Mar 2013

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : โครงการลงทุน ธนาคารสเปิร์มสุกร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธุรกิจจีน(กว่างซี)-แคนาดา ได้เริ่มการก่อสร้างแล้วในเมืองกุ้ยก่าง (Guigang City, 贵港市) ของกว่างซี

กลุ่มบริษัท OEM จากประเทศแคนาดา ได้ตัดสินใจร่วมธุรกิจกับกลุ่มบริษัท Yangxiang Group (广西扬翔) ของกว่างซี เพื่อสร้าง ศูนย์รับน้ำเชื้อผสมเทียมสุกรเพศผู้ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ตามรายงาน กลุ่มบริษัท OEM Group เป็นผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายสุกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับประเทศ บริษัทลูกภายใต้ธง OEM Group มีการรวมตัวจนกลายเป็น ธนาคารสเปิร์มเพาะพันธุ์สุกร ที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน

ส่วนบริษัท Yangxiang Group เป็นวิสาหกิจชั้นนำระดับประเทศ และเมื่อ 2 ปีก่อน แซงหน้าประเทศเนเธอแลนด์ขึ้นเป็น ศูนย์ผลิตและซัพพลายน้ำเชื้อสุกร ที่่ใหญ่ที่สุดของโลก

โครงการระยะแรก วางแผนนำเข้าพ่อพันธุ์สุกรชั้นดีจากประเทศแคนาดา จำนวน 1,200 ตัวคาดว่าภายหลังสร้างเสร็จจะสามารถซัพพลายน้ำเชื้อสุกรพันธุ์ดีไปทั่วโลกได้ปีละกว่า 5 ล้านตัว และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเกือบ 2,000 ล้านหยวน

ตามรายงาน ทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามสัญญาความร่วมือในโครงการเพาะพันธุ์สุกรสมัยใหม่ตั้งแต่ปี 54 ครอบคลุมด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ ข้อมูล และการฝึกอบรมบุคลากร มีมูลค่าเงินลงทุนราว 1,050 ล้านหยวน

เป้าหมายสำคัญของการร่วมธุรกิจ คือ การสร้างฐานอุตสาหกรรมสุกรมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ที่สุด และมีความสามารถทางการแข่งขันมากที่สุดของประเทศจีน

BIC เห็นว่า จุดแข็งของกว่างซีเป็นฐานะการเป็นมณฑลเกษตรที่สำคัญของประเทศจีน ทำให้วิสาหกิจต่างๆ จากทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความสนใจเข้าลงทุนในกว่างซี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพื้นที่ทางตอนเหนือและพื้นที่เลียบชายฝั่งภาคตะวันออกแล้ว ถือว่ากว่างซีมีความได้เปรียบค่อนข้างมากในแง่ของสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยการผลิต และต้นทุนการผลิต

อย่างไรก็ดี นักลงทุนที่สนใจจำเป็นต้องศึกษารูปแบบการลงทุน (ที่นิยมคือ การหาผู้ร่วมทุนชาวจีน (Joint Venture)) และติดตามกฎระเบียบด้านการลงทุนให้ละเอียดรอบคอบ เนื่องจากกฎหมายจีนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง และมีแนวโน้มเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับธุรกิจจีนมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของต้นทุนประกอบการ ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนไม่ควรละเลย โดยเฉพาะภาษีธุรกิจ สวัสดิการ/ประกันสังคมพนักงาน ปัญหาแรงงานขาดแคลน อัตราค่าจ้างแรงงานและทิศทางเงินเฟ้อ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน