มารู้จัก “เศรษฐกิจดิจิตอล” (Digital economy) : ตอนที่ 1 วิวัฒนาการของ “เศรษฐกิจดิจิตอล”
12 Jan 2017ปธน. สีจิ้นผิงของจีนได้เคยกล่าวไว้ว่า “อุตสาหกรรมเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก” และในการประชุมสุดยอดผู้นำ 20 ประเทศ (G20) ก็ได้มีการกล่าวถึง “โครงการความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลในกลุ่ม 20 ประเทศสมาชิก” ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลในระยะ 10 กว่าปีหลังนี้ มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่าในศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจดิจิตอลจะกลายเป็น “พระเอก” ในการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก ปัจจุบันจีนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างจริงจังและผลักดันการเพิ่มบทบาทของเศรษฐกิจดิจิตอลต่อการพัฒนาประเทศมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว “เศรษฐกิจดิจิตอล” (Digital economy) ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่หากมีวิวัฒนาการมาช้านาน ซึ่งบทความนี้ ศูนย์บีไอซี ณ เมืองเซี่ยเหมิน จะพาท่านผู้อ่านมารู้จักวิวัฒนาการของ “เศรษฐกิจดิจิตอล” อย่างถี่ถ้วน
วิวัฒนาการของ “เศรษฐกิจดิจิตอล”
“เศรษฐกิจดิจิตอล” (Digital economy) ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แนวคิดดังกล่าวมีการกล่าวถึงครั้งแรกในกลางยุค 90 โดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ชื่อ Mr.Don Tapscott เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “เศรษฐกิจดิจิตอล” ตีพิมพ์สู่สาธารณะชนเป็นครั้งแรก ซึ่งยุค 90 ถือเป็นยุครุ่งเรืองของ “เทคโนโลยีดิจิตอล” ได้มีแนวคิดทฤษฏีของนักวิจัยและนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านออกมามากมาย ส่งผลให้นักลงทุนหันมาตื่นตัวในการลงทุนด้านธุรกิจอินเทอร์เน็ต จนทำให้ตลาดหุ้น Nasdaq ในอเมริกาขณะนั้นพุ่งสูงขึ้นถึง 5000 กว่าจุด ขณะเดียวกันอเมริกาก็มีการประกาศนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลแนวใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี ค.ศ. 1990 – ปี ค.ศ. 2000 อุตสาหกรรมสารสนเทศของอเมริกาเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 6.47 (อัตราการขยายตัวมากกว่า GDP ของประเทศถึง 2 เท่า) แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 เศรษฐกิจดิจิตอลเกิดปรากฏการณ์ฟองสบู่ กิจการหลายรายต้องปิดตัวลง นักวิจัยหลายท่านให้ความเห็นว่าปรากฏการณ์ฟองสบู่เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการการพัฒนาของเศรษฐกิจดิจิตอล กล่าวคือเป็นช่วงขาลง (Low tide) เท่านั้น
หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 2004 บริษัท Facebook ได้ก่อตั้งขึ้น และใช้ระยะเวลาไม่กี่ปีก็สามารถทำรายได้แซงหน้าบริษัท Google ทำให้เกิดเป็นกระแสที่ทั่วโลกหันมาจับตามองอีกครั้ง ซึ่งในช่วงปี ค.ศ. 2004-2007 อุตสาหกรรมดิจิตอลได้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี
จนมาถึงในปี ค.ศ. 2008 ที่เป็นยุควิกฤตการเงินโลก (international financial crisis) กิจการยักษ์ใหญ่หลายรายต้องปิดตัวลง แต่บริษัทด้านเทคโนโลยีดิจิตอล อาทิ Apple, Facebook, Google, Amazon, Microsoft กลับแทบไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด รวมถึงบริษัทดิจิตอลในจีนอย่าง Alibaba, Baidu, Weibo ก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
จากเหตุการณ์วิกฤตการเงินโลก ทำให้ทั่วโลกรวมถึงจีน ตระหนักถึงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยเน้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (New Normal) ซึ่งปัจจุบัน จีนกำลังเข้าสู่ยุคการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ New Normal โดยมีเทคโนโลยี Big Data แรงงานอัจฉริยะ เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (VR) เป็นกลไลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“เศรษฐกิจดิจิตอล” ยุคปัจจุบัน
“โครงการความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลในกลุ่ม 20 ประเทศสมาชิก” ได้นิยามความหมายของ “เศรษฐกิจดิจิตอล” ว่า แท้จริงแล้วคือ “เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ” ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลสารสนเทศ และอินเทอร์เน็ต แต่ผู้นำในกลุ่ม 20 ประเทศในการประชุม G20 หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “เศรษฐกิจสารสนเทศ” มาใช้ว่า “เศรษฐกิจดิจิตอล” แทนนั้น เนื่องจากคำนึงถึงผลที่จะตามมา โดยได้กำหนดความหมายคร่าวๆ ของ “เศรษฐกิจดิจิตอล” ว่า เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวผลักดันประสิทธิภาพของโครงสร้างเศรษฐกิจ และมีเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน และมีข้อมูลสารสนเทศแบบดิจิตอลเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ
ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ “เศรษฐกิจดิจิตอล” กลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและโน้มนำเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีปัจจัยหลายด้านในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่ไม่สอดรับกับเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ จึงทำให้มีนักวิชาการเกิดความสงสัยในผลกระทบของ “เศรษฐกิจดิจิตอล”
ต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวซูเหลียนได้วิเคราะห์ตัวเลขสถิติของเศรษฐกิจในประเทศตะวันตก เขาได้พบว่า ก่อนจะเข้ายุค 80 ในศตวรรษที่ 18 นั้น วิวัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศทุนนิยมแบ่งเป็น 3 ช่วงคลื่นยาว (long wave) ซึ่งแต่ละช่วงกินเวลา 50-60 ปี และทุกช่วงคลื่นยาว (long wave) ล้วนจะสัมพันธ์กับการปฏิรูปเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อาทิ เครื่องจักรกลไอน้ำ พลังงานไฟฟ้า รถไฟ/ระบบราง เป็นต้น โดยนักวิชาการหลายคนให้ข้อสรุปว่า สังคมมนุษย์ผ่านช่วงคลื่นยาว (long wave) มาแล้ว 4 ช่วง และช่วงที่ 5 จะเริ่มตั้งแต่ยุค 90 โดยมี “อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิตอล” เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งช่วงคลื่นยาวของเศรษฐกิจในระยะหลังนี้มีแนวโน้มระยะเวลาที่สั้นลง โดยช่วงที่ 5 อาจจะใช้เวลาราวๆ 40 ปีเท่านั้น
บริษัท McKinsey&Company (บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการชื่อดังของโลก สัญชาติอเมริกัน) คาดการณ์ด้านเทคโนโลยีว่า ในปี ค.ศ. 2025 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่า 5-10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ cloud computing และ Internet of things เป็นต้น และราวๆ ปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจะเป็นช่วงคลื่นยาว (long wave) ลูก 6 ก็ยังจะต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อนพื้นฐาน แต่จะมีลักษณะ “ความอัจฉริยะ” เพิ่มขึ้น หากมองภาพรวมในปัจจุบันแล้ว ศตวรรษที่ 21 ยังคงต้องพึ่ง “เศรษฐกิจดิจิตอล” เป็นหลักอยู่
บริษัท Accenture (บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการและเป็นซัพพลายเออร์ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก สัญชาติอเมริกัน) คาดการณ์ว่า ในอนาคตธุรกิจดิจิตอลจะมีมูลค่าทำลายสถิติในประวัติศาสตร์ของธุรกิจอื่นๆ ที่เคยมีมา โดยในปี ค.ศ. 2025 ธุรกิจดิจิตอลทุกสาขาอาจจะมีมูลค่าทางสังคมและเชิงพาณิชย์ราว 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และอุตสาหกรรม 4 ประเภทหลัก ได้แก่ รถยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค พลังงานไฟฟ้า และ
โลจิสติกส์ จะมีมูลค่าทางสังคมและเชิงพาณิชย์มากกว่า 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือได้ว่าระบบดิจิตอลเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอนาคต นอกจากนี้ บริษัท Accenture ยังได้เผยรายงานการวิเคราะห์วิจัยจากทั่วโลกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของอเมริกามี “ศักยภาพในเทคโนโลยีดิจิตอล” เพียงร้อยละ 18 เท่านั้น ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญบางคนฟันธงสรุปว่า ในยุคแห่งสารสนเทศนี้ มนุษย์มีความสามารถในการจัดการข้อมูลสารสนเทศ เปรียบได้กับยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมของเครื่องจักรกลแรงดันไอน้ำเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจ “เศรษฐกิจดิจิตอล” จากหลากหลายมิติ และแนวทางการมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อเข้าสู่ยุค “เศรษฐกิจดิจิตอล” อย่างแท้จริงของจีน ก็เป็นเรื่องที่เราควรศึกษาและติดตามต่อไป ซึ่งศูนย์บีไอซี ณ เมืองเซี่ยเหมิน จะนำมาเสนอในบทความตอนต่อไป เรื่อง “มารู้จัก “เศรษฐกิจดิจิตอล” (Digital economy) : ตอนที่ 2 หัวใจสำคัญและการมุ่งสู่ “เศรษฐกิจดิจิตอล” ของจีน ”