มารู้จัก “เศรษฐกิจดิจิตอล” (Digital economy) : ตอนที่ 2 หัวใจสำคัญและการมุ่งสู่ “เศรษฐกิจดิจิตอล” ของจีน ”
12 Jan 2017สืบเนื่องจากบทความตอนที่แล้ว เรื่อง มารู้จัก “เศรษฐกิจดิจิตอล” (Digital economy) : ตอนที่ 1 วิวัฒนาการของ “เศรษฐกิจดิจิตอล” ซึ่งศูนย์บีไอซี ณ เมืองเซี่ยเหมินได้นำเสนอเกี่ยวกับ วิวัฒนาการของ “เศรษฐกิจดิจิตอล” ตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบันมาแล้วนั้น ในบทความตอนที่ 2 นี้ ศูนย์บีไอซีฯ จะมานำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ หัวใจสำคัญและการมุ่งสู่ยุค “เศรษฐกิจดิจิตอล” ของจีน
ทำความเข้าใจ “เศรษฐกิจดิจิตอล” จากหลากหลายมิติ
ไม่ว่าจะเป็น “เศรษฐกิจดิจิตอล” “เศรษฐกิจสารสนเทศ” หรือ “เศรษฐกิจเครือข่าย” นักวิจัยส่วนใหญ่มักจะใช้ GDP และอัตราการจ้างงานในสาขานั้นๆ มาเป็นตัววิเคราะห์พัฒนาการ แต่ตัวเลขดังกล่าว ก็เป็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น หากจะให้แม่นยำ จะต้องทำความเข้าใจ “เศรษฐกิจดิจิตอล” จากหลายๆ มิติ
ในยุคอุตสาหกรรมจะเน้นรูปแบบเศรษฐกิจ แบบ “ใหญ่+เยอะ” คือเน้นปริมาณการผลิตเป็นหลัก ผลิตสินค้าชนิดหนึ่งๆ ในปริมาณมาก แล้วนำมาเฉลี่ยเพื่อลดต้นทุน แต่ “เศรษฐกิจดิจิตอล” จะเน้นการผลิตที่หลากหลาย และที่สำคัญ คือ “เน้นคุณภาพ” เป็นหลัก
ถึงแม้ข้อมูลสารสนเทศจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านปัจจัยพื้นฐานหลักของมนุษย์ได้เหมือน อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย แต่ข้อมูลสารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยุค “เศรษฐกิจดิจิตอล” ในการทราบความต้องการ (demand) ของผู้บริโภค ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยก่อน ที่ผลิตออกมาโดยไม่ทราบข้อมูลความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่แม่นยำ ทำให้สินค้าล้นตลาด แต่ลักษณะพิเศษที่สำคัญของ “เศรษฐกิจดิจิตอล” คือ ผลิตตามความต้องการที่มี (Production on demand) เท่านั้น
หากดูจากมุมมองทางด้านเวลาหรือยุคสมัย จะพบว่า เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว นักวิชาการคาดการณ์ว่า อัตราส่วนของอุตสาหกรรมบริการในจีนจะแซงหน้าอุตสาหกรรมผลิตได้ในราวๆ ปี ค.ศ. 2030 แต่เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้อุตสาหกรรมบริการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในปี ค.ศ. 2013 สัดส่วน GDP รวมของจีนในอุตสาหกรรมบริการได้แซงหน้าอุตสาหกรรมการผลิตไปแล้ว
มุมมองทางด้านเวลาในแต่ละยุค ก็มีอิทธิพลกับประเทศหนึ่งๆ เป็นอย่างมาก โดยในปี ค.ศ.1793 คณะทูตจากอังกฤษ นำโดย George Macartney ได้เดินทางเยือนจีนเพื่อประกาศความสำเร็จของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ และได้นำเครื่องจักรกลมากมายมาถวายเป็นเครื่องบรรณาการให้แก่กษัตริย์จีนสมัยนั้น และถือโอกาสเปิดลู่ทางเจรจาธุรกิจกับจีน แต่รัฐบาลยุคราชวงศ์ชิงสมัยนั้นยังไม่รู้จักเทคโนโลยีเหล่านี้ และมองว่าเป็นเรื่องประหลาด ทำให้จีนพลาดโอกาสในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องมุมมองของแต่ละยุคสมัย และมีความสำคัญเกี่ยวพันกับการพัฒนาประเทศในระยะยาว และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ ในยุค 80 ของศตวรรษที่ 20 ซูเหลียนเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากกว่าอเมริกา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมหนัก แต่ผู้นำซูเหลียนในสมัยนั้น ยังขาดวิสัยทัศน์และความเข้าใจในการปฎิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ในยุคปฎิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศซูเหลียนอยู่ในกลุ่มประเทศล้าหลัง เป็นต้น ซึ่งประวัติศาสตร์เหล่านี้ถือเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าสำหรับคนรุ่นหลัง
ชูจุดเด่น มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิตอลที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง
ปัจจุบัน จีนมีผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล โดยในปี ค.ศ. 2016 สมาคม ChinaInfo100 ได้ตีพิมพ์หนังสือ เรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจสารสนเทศ : ในด้านรูปแบบ แรงจูงใจ และลู่ทางการพัฒนาในระดับภูมิภาค” โดยกล่าวว่า ในปี ค.ศ.1996 –ค.ศ. 2014 เศรษฐกิจสารสนเทศของจีนเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 23.79 ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงกว่า GDP ของประเทศอย่างเห็นได้ชัด และกำลังกลายเป็น “เครื่องยนต์” สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยจีนมี 7 บริษัทเครือข่ายอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ระดับ Top 20 ของโลก ได้แก่ อาลีบาบา, Tengxun, Baidu, Antgroup.com, Xiaomi, JD.com, Didi Taxi และเป็นบริษัทจีนในสาขาเศรษฐกิจดิจิตอลชั้นแนวหน้าของโลกด้วย
ในด้านเศรษฐกิจดิจิตอลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในจีนนั้น ยังคงต้องใช้เวลา เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในจีนมีปัญหาที่สะสมมานานและมีความขัดแย้งกันในตัวเอง จึงจำเป็นต้องอาศัยเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นกุญแจไขปัญหาเหล่านี้
การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลขึ้นอยู่กับจำนวนผู้บริโภคข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งการบริโภคข้อมูลสารสนเทศของคนจีนนั้น ถือว่ายังอยู่ในขั้นพื้นฐานเท่านั้น โดยคนจีนบริโภคข้อมูลสารสนเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 300 เหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี ไม่ถึง 1 ใน 10 ของอเมริกา ล่าสุดในปี ค.ศ. 2016 จีนจึงประกาศ “ร่างนโยบายการพัฒนาสารสนเทศแห่งชาติ” กำหนดให้มูลค่าการบริโภคข้อมูลสารสนเทศในปี ค.ศ. 2020 จะต้องแตะ 6 ล้านล้านหยวน และการบริโภคข้อมูลสารสนเทศเฉลี่ยต่อคนจะอยู่ที่ 700 เหรียญสหรัฐฯ/ปี
ในประเทศอเมริกา มีการออกนโยบายสนับสนุนจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสาขาต่างๆ อาทิ ส่งเสริมและให้เงินสนับสนุนแก่หน่วยงานแพทย์ที่หันมาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำบัญชีประวัติผู้ป่วย ซึ่งอเมริกาได้ทุ่มเงินไปแล้วกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับโครงการดังกล่าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กระบวนการเหล่านี้ยังต้องอาศัยเวลาแบบค่อยเป็นค่อยไป ปัจจุบันจีนมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในด้านการค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) และเครือข่ายทางสังคมเป็นหลัก และในอนาคตจะเริ่มก้าวเข้ามีบทบาทในสาขาการผลิตมากขึ้น โดยจะนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหลักแต่ปัญหาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในจีนยังมีความไม่สมดุลอยู่มาก อาทิ ความแตกต่างในการใช้เทคโนโลยี สารสนเทศในแต่ละสาขางาน ความแตกต่างในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของชุมชนเมืองและชนบท เป็นต้น และที่สำคัญคือปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถและทักษะความเชี่ยวชาญต่างๆ จึงเป็นอุปสรรคที่จีนจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อมุ่งสู่ยุคใหม่ของเศรษฐกิจดิจิตอลที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งของโลก
*******************************