มาตรฐานสินค้าเกษตร “3 ผลิตภัณฑ์ 1 ตราสัญลักษณ์” เพิ่มคุณค่า อัพราคางาม
3 Apr 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : สินค้าเกษตรที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐาน "3 ผลิตภัณฑ์ 1 สัญลักษณ์" สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่มีตราสัญลักษณ์ดังกล่าว
ตรามาตรฐาน “3 ผลิตภัณฑ์ 1 ตราสัญลักษณ์” ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรปลอดสารพิษ (无公害产品) ผลิตภัณฑ์อาหารสีเขียว (绿色食品) ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (有机农产品) และผลิตภัณฑ์ที่เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น (农产品地理标志)
ยกตัวอย่างเช่น น้ำตาลทรายขาวที่ผ่านการรับรอง “ผลิตภัณฑ์อาหารสีเขียว” จะได้ราคาจำหน่ายสูงขึ้นตันละ 400 หยวน หรือจะเป็นใบชาที่ได้รับตรา “ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์” จำหน่ายได้ราคาสูงกว่าใบชาชนิดเดียวกันที่ยังไม่ผ่านการรับรองประมาณ 10 เท่า หรือจะเป็นหวยซาน (Chinese yam) พืชทำยาและต้มแกงจืด ที่ได้รับมาตรฐาน “ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรปลอดสารพิษ” ก็สามารถจำหน่ายได้ราคาดีขึ้นร้อยละ 10-20
ชาวกว่างซี (ชาวจีน) เริ่มความตื่นตัวในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารมากยิ่งขึ้น หลังข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับอาหารและยาที่ผลิตในประเทศจีนไร้มาตรฐานจนกลายเป็นภัยคุกคามผู้บริโภค
ทำให้ผู้บริโภคให้สนใจในเรื่องการบริโภคอาหารธรรมชาติและระมัดระวังเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคอาหารที่มีสารเคมีการเกษตรตกค้างและปนเปื้อน รวมถึงพฤติกรรมผู้ผลิตที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องสร้างกลไกสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยการสร้างตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรข้างต้น เพื่อผลักดันการพัฒนามาตรฐานการผลิต-การแปรรูปสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
อีกความน่าสนใจของกลไกดังกล่าว คือ การผูกระบบการรับรองตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์กับกลไกการประเมินผลต่างๆ อาทิ
หนึ่ง การประเมินเป็นวิสาหกิจชั้นนำ หากวิสาหกิจไม่มีตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ฯ จะไม่ได้รับการประเมินเป็นวิสาหกิจชั้นนำ
สอง การประเมินเป็นอุตสาหกรรมเด่น หากธุรกิจที่ไม่ได้รับตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ฯ จะหมดสิทธิเข้ารับการประเมินเป็นอุตสาหกรรรมเด่นที่ได้รับการสนับสนุน
สาม การประเมินเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรคุณภาพยอดเยี่ยม หากผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ฯ จะไม่ได้รับการประเมินเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรคุณภาพยอดเยี่ยมหรือ ผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีชื่อเสียงของกว่างซี
BIC เห็นว่า ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรของไทยก็มีกลไกดังกล่าว ทว่า ยังเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนมากนัก จึงเป็นโจทย์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์และยกระดับสินค้าเกษตรของไทยให้มีคุณค่าสูงขึ้น ในอนาคต การปักธงชัยของสินค้าเกษตรไทยในตลาดจีนก็คงจะเป็นเรื่องง่ายขึ้น