“มะม่วงเถียนตง” ของกว่างซี คู่แข่งมะม่วงไทยตัวจริง
19 Aug 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ความได้เปรียบทางสภาพภูมิศาสตร์ ทำให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นแหล่งผลิตผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญของจีน โดยเฉพาะมะม่วง ลิ้นจี่ และลำไย
ช่วงเวลานี้ ถือเป็นหน้าผลไม้เมืองร้อนของกว่างซี ผลไม้เมืองร้อนเริ่มทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย ช่วยเกษตรกรระบายผลผลิต และประชาสัมพันธ์สร้างชื่อเสียงให้กับแหล่งผลิตผลไม้ของกว่างซี หน่วยงานภาครัฐในระดับต่าง ๆ ได้ให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรม “เทศกาลผลไม้” ในแหล่งผลิตทั่วมณฑล
ตัวอย่างเช่น หน้ามะม่วงกับ “กิจกรรมวัฒนธรรมมะม่วงเมืองไป่เซ่อ-เถียนตง” (百色·田东芒果文化活动月) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 ก.ค.-11 ส.ค.56 ที่ผ่านมา
“เถียนตง” (Tian Dong County, 田东县) เป็นอำเภอหนึ่งของเมืองไป่เซ่อที่มีชื่อเสียงด้านการปลูกมะม่วงจนได้รับการขนานนามเป็น “บ้านเกิดของมะม่วงจีน”
จากข้อมูลปี 55 อำเภอแห่งนี้มีพื้นที่ปลูกมะม่วงทั้งสิ้น 1.3 แสนหมู่จีน (ราว 54,169 ไร่) ได้ผลผลิตมากกว่า 4 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่าการผลิตมากกว่า 130 ล้านหยวน (มากกว่า 650 ล้านบาท)
ในปีนี้ พื้นที่ปลูกมะม่วงในอำเภอแห่งนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.45 แสนหมู่จีน (ราว 60,419 ไร่) คาดว่าจะได้ผลผลิตราว 8 หมื่นตัน มีมูลค่าการผลิตประมาณ 400 ล้านหยวน โดยกว่าร้อยละ 75 ของผลผลิตถูกส่งไปจำหน่ายนอกมณฑล
อำเภอเถียนตงมีการปลูกมะม่วงมากกว่า 40 สายพันธุ์ อาทิ Gui7 (桂七芒) Yuwen9 (玉文6号) งาช้างแดง (红象牙) Nongtai No.1 (台农一号) JinHuang (金煌芒) KaiTe (凯特芒) และ JinHui (金穗芒)
พัฒนาการของการปลูกมะม่วงในอำเภอเถียนตง ในะระยะแรกประสบปัญหาสายพันธุ์มะม่วงขาดความหลากหลาย (มากกว่าร้อยละ 70 เป็นสายพันธุ์ธรรมดา) ผลผลิตกระจุกตัวออกสู่ท้องตลาด ส่งผลให้จำหน่ายไม่ได้ราคาซึ่งกระทบกับรายได้ของเกษตรกรชาวสวนอย่างมาก
จนเมื่อปี 45 อำเภอเถียนตงได้ดำเนินโครงการ “ผลไม้พันธุ์ดี” โดยเริ่มต้นจากการสร้างสวนสาธิตการเพาะและขยายพันธุ์มะม่วงชั้นดี และนำพันธุ์มะม่วงคุณภาพดีจากต่างถิ่นมากกว่า 10 สายพันธุ์มาปลูกในสวนสาธิตแห่งนี้
และเมื่อเดือน มิ.ย.54 สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีน (General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of The PR.C: AQSIQ, 国家质检总局) ได้ประกาศอนุมัติให้มะม่วงเถียนตงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Mark Protection Product)
เมื่อปีก่อน (ปี 55) สถาบันเกษตรศาสตร์เขตร้อนแห่งชาติจีน (Chinese Academy of Tropical Agricultural Sciences: CATAS, 中国热带农业科学院) ร่วมกับอำเภอเถียนตงประสบความสำเร็จในการสร้าง “สวนรวมพันธุ์มะม่วง” เพื่อรวบรวมสายพันธุ์มะม่วงคุณภาพดีจากทั่วทุกมุมโลก และเป็นแหล่งวิจัยสาธิต คัดเลือกและขยายพันธุ์มะม่วงสายพันธุ์ใหม่ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตมะม่วงของอำเภอ
นักวิชาการยังให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวสวนถึงวิธีการพัฒนาสายพันธุ์ และรับมือกับการเสื่อมถอยทางพันธุ์กรรมของมะม่วง โดยวิธีการทาบกิ่ง ตอนกิ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตแล้ว ยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างการผลิตและฤดูกาลออกสู่ตลาดของผลไม้ให้ยาวมากขึ้น
อำเภอเถียนตงมีตลาดค้าส่งพืชผักผลไม้ขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า “Tiandong Fruits and Vegetable Wholesale Market” (田东果蔬批发市场) และเป็นตลาดซื้อขายมะม่วงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอำเภอ
ช่วงการจัดกิจกรรมฯ สามารถพบเห็นรถบรรทุกเข้าออกตลาดพลุกพล่าน แต่ละวันมีการซื้อขายมะม่วงเฉลี่ยมากกว่า 1,000 ตัน
พ่อค้าแม่ขายในตลาดให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า ช่วงหน้ามะม่วงปีนี้ มะม่วงจำหน่ายได้ราคาดีกว่าปีก่อนเป็นเท่าตัว เช่น พันธุ์กุ้ยชี (Gui7, 桂七) ราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 6-8 หยวน คาดว่าพ้นช่วงนี้ไปแล้วจะจำหน่ายได้ราคาสูงขึ้น 2-3 เท่าตัว หรือประมาณกิโลกรัมละ 20 หยวน
ภายใต้แรงสนับสนุนของเทศบาลอำเภอเถียนตง ปัจจุบัน มะม่วงของอำเภอเถียนตงนอกจากจะมีจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตเฟรนด์ไชส์ในหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองรองทั่วจีนแล้ว (กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และจิงหนานจิง) ผลผลิตบางส่วนถูกส่งออกไปยังจำหน่ายยังอาเซียน รวมถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรปอีกด้วย
จึงกล่าวได้ว่า “มะม่วง” เป็นกุญแจสู่ความมั่งคั่งของชาวอำเภอเถียนตงอย่างแท้จริง