ภาคอุตสาหกรรมกว่างซีใช้พลังงานมากเกิน ทำกำไรหด

26 Mar 2013

เว็บไซต์อ่าวเป่ยปู้ออนไลน์ : อุตสาหกรรมผลิตดั้งเดิมกว่างซีประสบปัญหาใช้พลังงานสูงและกำไรลดลงจากการผลิตล้นเกิน

สภาพดังกล่าวสะท้อนว่า ธุรกิจไทยจะลงทุนต้องมีนวัตกรรมเพิ่มผลิตภาพ เลือกลงทุนในสาขาที่มีเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากสถิติ อัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมา (ปี 55) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2

ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.55) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8

สองไตรมาสแรก (ม.ค.-มิ.ย.55) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6

สามไตรมาสแรก (ม.ค.-ก.ย.55) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14

ผลสำรวจจากทางการชี้ว่า การดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมกว่างซีในปีที่ผ่านมาประสบปัญหาที่น่าติดตาม ดังนี้

หนึ่ง ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานในการผลิตสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตดั้งเดิมที่ใช้ทรัพยากรมาก

ข้อมูลระบุว่า อุตสาหกรรม 8 สาขาหลักของกว่างซีบริโภคพลังงานเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 93.6 ของพลังงานทั้งหมดที่ภาคอุตสาหกรรมใช้ โดยมูลค่าเพิ่มการผลิตและกำไรสุทธิของ 8 สาขานี้มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 54 และ 37.6 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมถลุงและแปรรูปโลหะ อุตสาหกรรมผลิตสินค้าอโลหะซึ่งบริโภคพลังงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.8 และ 20.4 ของพลังงานทั้งหมด สร้างมูลค่าเพิ่มการผลิตเพียงร้อยละ 11.6 และ 7.8 และมีกำไรสุทธิเพียงร้อยละ 3.5 และ 11 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมสาขาดังกล่าวของกว่างซีบริโภคพลังงานสูง แต่สร้างมูลค่าเพิ่มต่ำจนไม่สามารถเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต

สอง การดำเนินงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังขาดประสิทธิภาพ กำไรสุทธิมีแนวโน้มลดลงอันเป็นผลมาจากกำลังการผลิตล้นเกิน (Over Production)

ปีที่ผ่านมา กำไรสุทธิของภาคอุตสาหกรรมกว่างซีเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมบางสาขากลับมีกำไรสุทธิลดลง อาทิ สาขาเหมืองแร่ลดลงร้อยละ 21.9 สาขาถลุงโลหะหนักลดลงร้อยละ15 สาขาแปรรูปเกษตรและอาหารลดลงร้อยละ 23.1 (ในจำนวนนี้อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลลดลงร้อยละ 38.7)

สาขาการผลิตและแปรรูปโลหะมีสีลดลงร้อยละ 85 สาขาผลิตโลหะลดลงร้อยละ 7.2 สาขาผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้เฉพาะทางลดลงร้อยละ 15 สาขาผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 7.0 สาขาผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์การขนส่งลดลงร้อยละ 9 ส่วนสาขาแปรรูปปิโตรเลียม พลังงานนิวเคลียร์และ Coking ขาดทุน 3247 ล้านหยวน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอุตสาหกรรมของกว่างซีก็มีกำไรสุทธิลดลงเช่นเดียวกัน โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีผลดำเนินงานขาดทุนประมาณร้อยละ 15 และมีสินค้าค้างสต็อกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7

เงินทุนที่ใช้ดำเนินการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตส่วนใหญ่เป็นเงินทุนของตนเอง ผลกำไรที่ลดลงจึงทำให้ความสามารถในการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการลดลงหรือถูกจำกัด

สถิติระบุว่า กำไรสุทธิภาคอุตสาหกรรมใน 8 จาก 14 เมืองของกว่างซีลดลงในปี 55 ในจำนวนนี้ กำไรสุทธิของภาคอุตสาหกรรมในเมืองเป๋ยไห่และฝางเฉิงก่างลดลงร้อยละ 19.9 และ 31.7      

BIC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากสถิติปี 55 ระบุว่า มูลค่าเพิ่มการผลิตของอุตสาหกรรม 41 สาขาหลักของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ 11 สาขามีกำไรสุทธิลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหากำลังการผลิตล้นเกิน (Over production) จนส่งผลให้กำไรสุทธิลดลงตามไปด้วย

ในบรรดาอุตสาหกรรมเหล่านี้ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกว่างซี เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ โลหะมีสีต่างก็ประสบกับปัญหากำไรสุทธิลดลง โดยอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของจีนขาดทุนสุทธิ 5,200 ล้านหยวน กำไรสุทธิของสาขาปูนซีเมนต์และโลหะมีสีลดลงร้อยละ 50 และ 8.9 ตามลำดับ

การดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมในกว่างซีก็เป็นไปทิศทางเดียวกับทั้งประเทศ อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างเข้มข้นเริ่มประกอบการยากขึ้นจากหลายสาเหตุ ทำให้อุตสาหกรรมสาขาดังล่าวจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยหันมาใช้เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบในการผลิตมากขึ้น

ธุรกิจไทยที่สนใจเข้ามาลงทุนในสาขาดังกล่าวในเขตฯ กว่างซีจ้วงต้องพิจารณาแผนการลงทุนให้รอบคอบ หากท่านยังคิดจะลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบบดั้งเดิมอยู่ โดยหวังพึ่งปัจจัยด้านค่าแรงถูกของกว่างซี ท่านอาจต้องประสบกับสภาพปัญหาข้างต้น เว้นแต่ว่าธุรกิจของท่านจะมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย สามารถลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน การวางแผนการลงทุนผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ธุรกิจต้องศึกษาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการผลิตล้นเกินจนส่งผลต่อกำไรธุรกิจ ท่านจึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมที่ท่านสนใจจะลงทุนในจีนอย่างต่อเนื่อง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน