พ่อเมืองฉงจั่วโปรโมท “นิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทย” หวังเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

6 Nov 2013

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : เมืองฉงจั่วยืมมือสื่อออนไลน์ปั้น นิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทย (China (Chongzuo) Thailand Industrial Park, 中泰(崇左)产业园) เป็นโมเดลความร่วมมือด้านการนิคมระหว่างจีนกับไทย

ทีมสื่อออนไลน์จากทั่วประเทศได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนเมืองฉงจั่ว เมืองการค้าชายแดนที่สำคัญของกว่างซี ในกิจกรรมบันทึกการเดินทางในกว่างซีที่ทางการกว่างซีจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนได้รู้จักกับมณฑลแห่งนี้มากยิ่งขึ้น

นายซุน ต้า กวาง (Sun Da Guang, 孙大光) นายกเทศมนตรีเมืองฉงจั่ว ได้ชูโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทย ซึ่งเป็นโครงการชิ้นโบแดงของเมืองฯ ให้กับทางสื่อมวลชน

นิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองฉงจั่ว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร แผนงานระยะแรกมีเนื้อที่ 15 ตร.กม. (สามารถขยายพื้นที่ถึง 80 ตร.กม. ตามความจำเป็น)

นายซุนฯ กล่าวว่า เมืองฉงจั่วจะผลักดันให้นิคมแห่งนี้เป็นแม่แบบความร่วมมือระหว่างจีนกับไทย ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าในปลายปี 2558 โครงการเฟสแรกจะสามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ได้มากกว่า 60 ราย มูลค่าลงทุนมากกว่า 30,000 ล้านหยวน และสร้างมูลค่าการผลิตโดยรวมมากกว่า 45,000 ล้านหยวน

จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของ นิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2555 ในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 9 (9th CAEXPO) เทศบาลเมืองฉงจั่วและมูลนิธิเอกชนพัฒนาภูมิภาคไทย (The Community Support Foundation Thailand: CSFT) ได้ร่วมกันลงนามหนังสือแสดงเจตนาว่าด้วยการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมดังกล่าว

ปัจจุบัน วิสาหกิจรายใหญ่บางรายที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่นิคมฯ ได้เริ่มสายการผลิตเป็นที่เรียบร้อย อาทิ รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่อย่าง COFCO Tunhe Chongzuo Sugar (中粮屯河崇左糖业有限公司) ขณะที่บางรายอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงโรงงานน้ำตาลของบริษัท East Asia Sugar (เครือน้ำตาลมิตรผลประเทศไทย)

นายซุนฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า นิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทยจะเป็นเวทีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนแห่งใหม่ระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียน อีกทั้ง ยังจะเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยส่งเสริมผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับไทย

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน โครงการนิคมดังกล่าวยังเป็นเพียงความร่วมมือระดับเทศบาลเมืองจึงขาดแรงดึงดูดในแง่สิทธิประโยชน์ทางการลงทุน กอปรกับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในพื้นที่ที่ยังขาดความสมบูรณ์

นอกจากนี้ ระดับการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง (Urbanization) ของเมืองฉงจั่วยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับหัวเมืองอื่น ๆ และพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่เกษตร(ด้อยพัฒนา) นับเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนที่นักลงทุนต้องคำนึง

ดังนั้น นักลงทุน(ไทย)จำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่เป็นสำคัญ การลงทุนจึงจะประสบความสำเร็จอย่างที่เครือน้ำตาลมิตรผลประสบความสำเร็จในการปักธงธุรกิจกว่างซี(จีน) เพราะเมืองฉงจั่วเป็นแหล่งปลูกอ้อยแหล่งใหญ่ของประเทศ

 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รอการสุกงอม!!! นิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทย แหล่งการลงทุนใหม่ในอนาคต (11 ต.ค. 2556)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน