ฝูเจี้ยนเอาจริง ออกนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเต็มที่!
27 Feb 2013
27 ก.พ. 56 (www.fjsen.com) – รายงานข่าวระบุว่า GDP ของมณฑลฝูเจี้ยน ปี 2555 เติบโตร้อยละ 12.6 มีมูลค่ารวม 2 ล้านล้านหยวน ในที่นี้มูลค่าของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5 โดยการประชุมสภาผู้แทนประชาชนประจำมณฑลที่ผ่านมายังระบุว่าเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลฝูเจี้ยนในช่วง 5 ปีถัดไป (2556-2560) จะเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรม ล่าสุด รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนได้ออกแนวนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. กระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการค้าขายอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
2. สนับสนุนการส่งออกอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจากผู้ประกอบการส่วนบุคคล โดยจะมีการให้เงินสนับสนุน รวมทั้งดึงดุดให้นักลงทุนต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่ช่วยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การ์ตูน เกมส์ การจัดแสดงสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น งานฝีมือ งานศิลปะ ทั้งนี้จะเพิ่มและบูรณาการการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างมณฑลฝูเจี้ยน ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า
3. ส่งเสริมการประชุม การจัดแสดงสินค้าที่มีการซื้อขายสินค้าทางวัฒนธรรม
4. สร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับไต้หวันในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
5. สนับสนุนให้สมาคมธุรกิจที่ประกอบอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของไต้หวันมาเปิดหน่วยงานในมณฑลฝูเจี้ยน
6. ยกระดับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับทางฮ่องกงและมาเก๊า
7. สร้างศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและซื้อขายอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
8. ส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยให้การสนับสนุนผู้ประกอบการหากต้องการขอจดทะเบียนตั้งบริษัท การขอลิขสิทธิ์ และยังรวมถึงนโยบายลดภาษี
9. กระตุ้นให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ
10. เพิ่มขนาดของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม โดยสนับสนุนการให้การบริการหลายด้าน เช่นด้านการเงิน การประกันภัยแก่ผู้ประกอบการ
ข้อมูลเพิ่มเติม : อุตสาหกรรมวัฒนธรรม ตามการจำแนกประเภทที่กำหนดโดยกรมสถิติของจีนเมื่อปี 2004 ว่าด้วย “วัฒนธรรมและการจำแนกประเภทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง” คือ กิจกรรมที่เสนอ วัฒนธรรม สินค้าและการบริการบันเทิง ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าว
ตามความหมายนี้ จึงมีขอบเขตอุตสาหกรรมวัฒนธรรมดังต่อไปนี้
1. กิจกรรมที่เสนอสินค้าบันเทิงและวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุที่จัดต้องได้ให้แก่มวลชน เช่น การตีพิมพ์ ผลิตและจำหน่ายสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
2. การเสนอการบริการทางวัฒนธรรมและบันเทิงที่มวลชนสามารถเข้าร่วมและเลือกได้ เช่น การบริการวิทยุและโทรทัศน์ ภาพยนตร์และการบริการที่ให้การแสดงวัฒนธรรมและศิลปะ เป็นต้น
3. การให้บริการด้านการบริหารและวิจัยวัฒนธรรม เช่นการรักษาวัตถุโบราณและมรดกทางวัฒนธรรม การบริการในหอสมุด และกิจกรรมของกลุ่มสังคมด้านวัฒนธรรม เป็นต้น
4. กิจกรรมที่ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์และวัตถุที่ใช้ในการผลิตสินค้าวัฒนธรรมและ บันเทิง เช่นการผลิตและบริหารจัดการอุปกรณ์ตีพิมพ์และเครื่องเขียนเป็นต้น
5. กิจกรรมที่ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่การบริการด้านวัฒนธรรมและ บันเทิงต้องการ เช่นการผลิตและบริหารจัดการอุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ตลอดจนอุปกรณ์ถ่ายทำ ภาพยนตร์เป็นต้น
6.กิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและบันเทิง เช่น กิจกรรมผลิตงานศิลปะและการออกแบบเป็นต้น