ผู้เชี่ยวชาญแนะ มณฑลเสฉวนควรสร้างความร่วมมือกับไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางสำคัญในนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
22 Jun 2020ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของมณฑลเสฉวนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในปี 2562 การนำเข้าและส่งออกของมณฑลเสฉวนทะลุ 600,000 ล้านหยวน โดยคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับ ได้แก่ สหรัฐฯ อาเซียน และสหภาพยุโรป ตามลำดับ มูลค่าการนำเข้าและส่งออกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนรวมอยู่ที่ 780 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 62.5 ขณะที่นครเฉิงตูมีมูลค่าการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนอยู่ที่ 102.51 ล้านหยวน เติบโตขึ้นจากปี 2561 กว่าร้อยละ 102.5 นับเป็นปีที่ 4 ที่นครเฉิงตูมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 100
เมื่อเร็ว ๆ นี้ อาจารย์มู่ เหล่ย อาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเฉิงตูได้กล่าวถึงข้อดีด้านโลจิสติกส์ของรถไฟด่วนสายหรงโอว (เฉิงตู – ยุโรป) ต่อการสร้างช่องทางการค้าเพื่อเชื่อมโยงยุโรปและอาเซียนผ่านการขนส่งที่ผสมผสานระหว่างทางทะเลและทางบก โดยประยุกต์ใช้ข้อได้เปรียบจากนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย (EEC) ในการสร้างความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนกับประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นเวทีใหม่สำหรับการค้าพหุภาคีระหว่างประเทศ
อาจารย์มู่ฯ ระบุว่า หากมองในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มณฑลเสฉวนถือเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่างยุโรปและอาเซียน โดยทางตอนเหนือ สามารถขนส่งไปยังยุโรปได้ผ่านรถไฟด่วนสายหรงโอว (เฉิงตู – ยุโรป) และทางตอนใต้ สามารถขนส่งไปยังอาเซียนได้ผ่านเส้นทางท่าเรือฝางเฉิง หรือ อ่าวเป่ยปู้ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เชื่อว่าช่องทางการขนส่งที่ครอบคลุมและสะดวกสบายดังกล่าว จะทำให้มณฑลเสฉวนกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญอีกแห่งหนึ่งของนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
นอกจากนั้น อาจารย์มู่ฯ ยังกล่าวด้วยว่า ข้อดีของการสร้างพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างมณฑลเสฉวนและไทยหรือภูมิภาคอาเซียน จะทำให้ (1) ปริมาณบรรจุสินค้าของรถไฟด่วนสายหรงโอว (เฉิงตู – ยุโรป) เพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสทธิภาพให้มากขึ้น และลดอัตราพื้นที่ว่างตู้บรรจุสินค้า นอกจากนั้น ในด้านวิธีการรวบรวมและขนส่งสินค้า หากสามารถเพิ่มปริมาณแหล่งสินค้าที่มาจากไทยหรือสหภาพยุโรปได้ ก็จะทำให้การขนส่งมีความหลากหลายและประสิทธิภาพดีขึ้น (2) ทำให้มณฑลเสฉวนกลายเป็นศูนย์กระจายสินค้าระหว่างอาเซียนและยุโรป ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อด้านเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวนเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ อุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การจัดนิทรรศการ เป็นต้น และ (3) ช่วยขยายการค้าระหว่างประเทศของมณฑลเสฉวนให้กว้างมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของมณฑลเสฉวนด้วย
นายกวน กั๋วซิ่ง หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือจีน – ไทย มหาวิทยาลัยเฉิงตู และ หัวหน้าภาควิชาเกียรติคุณ ภาควิชาภาษาไทย ระบุว่า จีนถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย และไทยเองก็ได้มีการขยายการค้ากับต่างประเทศมาโดยตลอด การผลักดันความร่วมมือ การพัฒนาด้านการแลกเปลี่ยนการค้า และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมณฑลเสฉวนให้มากยิ่งขึ้นผ่านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ถือเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับมณฑลเสฉวนด้วย
นอกจากนั้น นายกวนฯ ได้กล่าวอีกว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลเสฉวนได้มีบทบาทและมีอิทธิพลต่อระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ นายกวนฯ หวังว่าไทยและมณฑลเสฉวนจะสามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันได้มากยิ่งขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมทางการค้าในลักษณะเช่นนี้ และเชื่อว่ามณฑลเสฉวนจะมีศักยภาพในระดับสากลมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติได้ในที่สุด
เเหล่งที่มา http://sc.cri.cn/2020-06-04/c9aa9d90-5645-9e3d-8e71-95c99684501c.html?from=groupmessage&isappinstalled=0