ผู้เชี่ยวชาญคาด เงินฝากสกุลหยวนในฮ่องกงอาจทะลุ 1 ล้านล้านหยวนในสิ้นปีนี้ หลังการลงนามสัญญากู้ยืมเงินข้ามพรมแดนกับเขตเฉียนไห่
1 Feb 2013เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2556 ธนาคาร 15 แห่ง[1] ในฮ่องกงได้ลงนามในสัญญากู้ยืมเงินข้ามพรมแดนกับเขตเฉียนไห่[2] ในเมืองเซินเจิ้นภายใต้วงเงิน 2,000 ล้านหยวน โดยสัญญาดังกล่าวจะมีส่วนช่วยขยายช่องทางการไหลเวียนเงินหยวนระหว่างประเทศและกระตุ้นการพัฒนาธุรกรรมเงินหยวนระหว่างประเทศของฮ่องกง
สัญญาดังกล่าวทำให้วิสาหกิจที่จดทะเบียนและดำเนินกิจการในเขตเฉียนไห่สามารถกู้ยืมเงินหยวนกับธนาคารในฮ่องกงที่ให้บริการธุรกรรมเงินหยวนได้ โดยเงินที่กู้ยืมไปนั้นต้องนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลจีนหรือเพื่อการพัฒนาเขตเฉียนไห่ และในระยะเริ่มแรกเพดานการกู้ยืมถูกกำหนดไว้ที่ 500 ล้านหยวน สำหรับอัตราดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับการตกลงของฝ่ายผู้กู้และผู้ให้กู้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ฮ่องกงมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าจีนประมาณร้อยละ 3 ส่งผลให้วิสาหกิจในเขตเฉียนไห่ที่กู้ยืมเงินภายใต้สัญญาดังกล่าวมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน
นอกจากนี้ China Construction Bank และ Bank of Communications ในเมืองเซินเจิ้นยังได้ทำสัญญาให้กู้ยืมเงินข้ามพรมแดนกับวิสาหกิจ 3 แห่งในฮ่องกง โดยมีวงเงินกู้จำนวน 620 ล้านหยวน สัญญากู้ยืมเงินทั้งสองจึงนับเป็นการสร้างกระแสการไหลเวียนเงินหยวนระหว่างฮ่องกงกับจีนแบบ 2 ทาง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การกู้ยืมเงินข้ามพรมแดนระหว่างฮ่องกงกับเขตเฉียนไห่นับเป็นก้าวสำคัญของการเริ่มเปิดเสรีบัญชีทุนของจีน หลังจากที่จีนเริ่มเปิดเสรีด้านพันธบัตรและหลักทรัพย์ก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ แม้ว่าโควตาการกู้ยืมเงินข้ามพรมแดนภายใต้นโยบายดังกล่าวจะค่อนข้างจำกัด แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า หากอุปสงค์ในเขตเฉียนไห่สูงขึ้น ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจีนจะเพิ่มโควตาในอนาคต ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจการธนาคารของฮ่องกงในระยะยาว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าจะทำให้ฮ่องกงเป็นแหล่งเงินกู้ที่น่าดึงดูดสำหรับวิสาหกิจจีน
นาย Joanne Yim หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จาก Hang Seng Bank ให้ความเห็นว่า สัญญากู้ยืมเงินข้ามพรมแดนดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นปริมาณเงินฝากสกุลเงินหยวนในฮ่องกง เนื่องจากการกู้ยืมเงินข้ามพรมแดนจะส่งผลให้กระแสเงินหยวนระหว่างประเทศในฮ่องกงที่เริ่มคงที่มีการไหลเวียนสะดวกยิ่งขึ้น โดยคาดว่า ภายในปี 2558 ปริมาณเงินฝากในสกุลเงินหยวนในฮ่องกงอาจสูงขึ้นถึงร้อยละ 25 และภายในสิ้นปีนี้ เงินฝากในสกุลเงินหยวนมีแนวโน้มทะลุยอด 1 ล้านล้านหยวน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ธนาคารในฮ่องกงยังมิได้ใช้ประโยชน์จากเงินฝากในสกุลเงินหยวนอย่างเต็มที่ โดยในปี 2555 ธนาคารในฮ่องกงปล่อยกู้เงินหยวนไปเพียงร้อยละ 13 ของจำนวนเงินฝากในสกุลเงินหยวนทั้งหมดเท่านั้น (อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของระบบธนาคารในฮ่องกงอยู่ที่ร้อยละ 80)
วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรปส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินหลัก อาทิ เงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินยูโร กอปรกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนและการเปิดเสรีด้านการเงินมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้จีนพยายามส่งเสริมและผลักดันเงินหยวนสู่การเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศที่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี โดยใช้ฮ่องกงเป็นพื้นที่นำร่อง ทั้งนี้ การติดตามพัฒนาการเงินหยวนอย่างใกล้ชิดจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนั้นได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
ฮ่องกงเริ่มดำเนินธุรกรรมด้วยเงินหยวนตั้งแต่ปี 2547 โดยปัจจุบัน ได้ขยายบริการจนครอบคลุมทั้งการเปิดบัญชีเงินฝาก การกู้เงิน การแลกเปลี่ยนเงินตรา ตปท. และบริการบัตรเดบิต/เครดิต ต่อมาในปี 2550 ฮ่องกงเริ่มเปิดจำหน่ายพันธบัตรในรูปเงินหยวน และในปี 2552 รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้วิสาหกิจในจีนใช้เงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยปัจจุบัน ร้อยละ 10 ของการค้าสินค้าในจีนชำระผ่านเงินหยวน และกว่าร้อยละ 90 ของการชำระเงินดังกล่าวกระทำผ่านธนาคารในฮ่องกง โดยปัจจุบัน ฮ่องกงมีเงินฝากในรูปเงินหยวน 6.03 แสนล้านหยวน
[1] ประกอบด้วยธนาคารจีนที่มีสาขาในฮ่องกง 9 แห่ง ได้แก่ Bank of China, China Construction Bank, ICBC, Bank of Communications, Agricultural Bank of China, China Merchants Bank, China Development Bank, China Citic Bank และ NCB ธนาคารต่างชาติ 2 แห่ง ได้แก่ Standard Chartered และ HSBC และธนาคารฮ่องกง 4 แห่ง ได้แก่ BEA, Hang Seng Bank, Dah Sing Bank และ Wing Lung Bank
[2] เขตเฉียนไห่มีพื้นที่ 15 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองเซินเจิ้น เมื่อเดือน มิ.ย. 2555 คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) ระบุให้เขตเฉียนไห่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเป็นพื้นที่นำร่องในการผลักดันเงินหยวนสู่การเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศที่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี