“ผิงเสียง” ปลายทางเส้นทาง R9 ยังคงเป็นหน้าด่านสำคัญที่ใช้นำเข้าผลไม้อาเซียนตามคาด ผลไม้เวียดนามกินรวบอีกเช่นเคย
5 Feb 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : อำเภอระดับเมืองผิงเสียงของกว่างซี ยังคงแสดงบทบาทการเป็นประตูการค้ากับอาเซียน โดยเฉพาะกับเวียดนาม ได้เป็นอย่างดี
ปีที่แล้ว (ปี 55) กว่างซีมีปริมาณนำเข้าส่งออกผลไม้ทั้งหมด 9.54 แสนตัน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากมณฑลกวางตุ้ง
ในจำนวนข้างต้น เป็นการค้าผลไม้กับอาเซียน 9.47 แสนตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.3 ของปริมาณทั้งหมด
เวียดนามเป็นตลาดนำเข้าส่งออกหลัก คิดเป็นน้ำหนักผลไม้ 9.24 แสนตัน
ผลไม้นำเข้า 4 อันดับแรก ได้แก่ แก้วมังกร แตงโม ลำไย และลิ้นจี่ โดยคิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ 98 ของผลไม้นำเข้าทั้งหมด
ผลไม้ส่งออก 4 อันดับแรก ได้แก่ ส้มแมนดาริน สาลี่ แอปเปิ้ล และส้ม โดยคิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ 86.5 ของผลไม้ส่งออกทั้งหมด
หากจะวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่า การค้าผลไม้กับอาเซียนโดยส่วนใหญ่จะผ่านอำเภอระดับเมืองผิงเสียง (Pingxiang City, 凭祥市) ซึ่งเป็นเมืองที่่สำคัญที่ได้รับการกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์เป็น “หน้าด่านการค้าทางบก” ของกว่างซีกับอาเซียน
จากข้อมูล ด่านในเมืองแห่งนี้ เป็นทางผ่านของผลไม้ รวมน้ำหนัก 6.96 แสนตัน หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.95 ของปริมาณนำเข้าส่งออกทั้งหมดของกว่างซี คิดเป็นมูลค่านำเข้าส่งออกรวม 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 27.6
ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ปริมาณผลไม้ส่งออก 3.96 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออก 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปริมาณผลไม้นำเข้า 3 แสนตัน คิดเป็นมูลค่านำเข้า 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ผิงเสียง” เป็นเมืองหน้าด่านที่พ่อค้าแม้ค้าไทยรู้จักดี ในฐานะที่เป็นปากทางเข้าจีนจากถนนวิ่งจากมุกดาหารและนครพนมของไทย
จากการลงพื้นที่สำรวจ BIC พบว่า ผลไม้ไทยจำนวนมากผ่านเข้าผิงเสียง ในนามผลไม้เวียดนาม ผ่านการค้าชายแดนที่ “จุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดนผู่จ้าย” (Puzhai Border Trade Area, 浦寨边贸互市点)
โดยที่เป็นการขนส่งผ่านการด่านชายแดน จึงไม่มีการบันทึกสถิติผลไม้ไทยที่ส่งเข้าจีนผ่านช่องทางดังกล่าว
ปัจจุบัน การขนส่งผลไม้ไทยไปจีนผ่านด่านชายแดนดังกล่าว ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์อยู่ นอกเหนือจากการขนส่งผ่านด่านสากลโหยวอี้กวาน ผิงเสียง กว่างซี