‘ผลไม้ไทย’เปิดประเดิมนำเข้าผ่านท่าเรือชินโจว
4 Sep 2017เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 เรือบรรทุกสินค้าของสายเรือ SITC ที่บรรทุกผลไม้จากประเทศไทยได้เข้าเทียบท่าที่เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว (Qinzhou Free Trade Port Area,钦州保税港区) เป็นที่เรียบร้อย ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่าท่าเรือแห่งนี้พร้อมสำหรับการนำเข้าส่งออกผลไม้กับต่างประเทศแล้ว
เมืองชินโจวเป็น 1 ใน 3 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (อ่าวตังเกี๋ย) และเป็นท่าเรือเพียงแห่งเดียวของมณฑล (และภาคตะวันตกของประเทศจีน) ที่มีฟังก์ชั่นครบครันด้านการนำเข้าสินค้าที่มีความอ่อนไหว อาทิ รถยนต์ประกอบสำเร็จ ธัญพืช(ข้าว) ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และผลไม้
ตามรายงาน ทุเรียนและมังคุดจากประเทศไทยจำนวน 6 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมน้ำหนัก 113 ตัน เป็นผลไม้ล็อตแรกที่ประเดิมการนำเข้าผ่านเข้าด่านในเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว หลังจากที่ด่านแห่งนี้ได้รับการอนุมัติก่อสร้างจากรัฐบาลกลางเป็น ‘ด่านนำเข้าผลไม้‘ เมื่อ 14 เม.ย.2559ต่อมาเมื่อ24 พ.ย.2559 ได้ผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการส่วนกลาง และได้รับการประกาศเป็นด่านนำเข้าผลไม้เมื่อเดือน พ.ค.2560 ที่ผ่านมา
ผลไม้ล็อตนี้ใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน โดยเรือออกจากท่าเรือแหลมฉบังเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2560 และเข้าเทียบท่าในเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวในวันที่ 18 ก.ค.2560 โดยมีเจ้าหน้าที่ CIQ (สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคประจำท้องที่) และเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าเรือคอยอำนวยความสะดวกอยู่บริเวณท่าเรือ หลังจากผ่านกระบวนการตรวจสอบและกักกันโรคแล้ว ผลไม้เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังตลาดค้าส่งผลไม้เจียงหนานในนครกว่างโจว
ปัจจุบัน สายเรือ SITC เป็นผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทางเรือเพียงรายเดียวที่เปิดให้บริการขนส่งสินค้าในเส้นทางระหว่างท่าเรือชินโจว-ท่าเรือแหลมฉบังของไทย (ปิดรับสินค้าวันจันทร์ และเรือออกวันอังคารของทุกสัปดาห์) โดยให้บริกาสัปดาห์ละ 1 เที่ยวในเส้นทางQinzhou-Haiphong-Shekou(Shenzhen)-Xiamen-Incheon(South Korea)-Pyeongtaek(South Korea)- Taesan(SouthKorea)-Qingdao-Shanghai-Xiamen-Hongkong-Danang-Hochiminh-Laemchabang-Jakarta-Laemchabang-Hochiminh-Qinzhou
อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการสายเรือได้วางแผนเพิ่มเที่ยวเรือระหว่างท่าเรือชินโจว-ท่าเรือแหลมฉบังเป็นสัปดาห์ละ 3 เที่ยว เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในเร็วๆ นี้
หลายฝ่ายคาดหมายว่า การเปิดดำเนินการของด่านนำเข้าผลไม้ในเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวจะช่วยส่งเสริมกระตุ้นการพัฒนาของธุรกิจโลจิสติสก์ห่วงโซ่ความเย็น (cold chain logistics) ให้เติบโตตามไปด้วย และคาดการณ์ว่า ปี 2560 นี้ เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวจะมีการนำเข้าผลไม้ราว 8 หมื่นตัน และในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนตัน
ปัจจุบัน เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวมีผู้ให้บริการคลังสินค้าเย็นรายใหญ่ อาทิ บริษัท Yilong Import-Export Trading (广西钦州保税港区亿隆进出口贸易有限公司)บริษัท Chuangda Cold Chain Logistics (广西钦州保税港区创大冷链物流有限公司) และบริษัท Yuhua Import-Export Trading (广西钦州保税港区玉华进出口贸易有限公司) รวมพื้นที่ 5.26 หมื่น ตร.ม. โกดังเย็นมีพื้นที่ความจุ 1.85 แสน ลบ.ม. สามารถรองรับผลไม้ได้ปีละ 4 แสนตัน
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเร่งรัดโครงการก่อสร้าง ‘ฐานโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นจีน-ไทย‘ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 268 ล้านหยวน
นายจาง ห้าวหย่ง (Zhang Haoyong,张浩勇) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริหารเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว กล่าวว่า การเปิดด่านนำเข้าผลไม้ของเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวมีนัยสำคัญต่อการพัฒนา "เส้นทางโลจิสติกส์อวี๋ (นครฉงชิ่ง) กุ้ย (เขตฯ กว่างซีจ้วง) ซิน (สิงคโปร์)" การกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ากับประเทศสมาชิกอาเซียน และการเป็น ‘ข้อต่อ‘ เชื่อมยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(One Belt One Road) ของเมืองชินโจวและเขตฯ กว่างซีจ้วง
บีไอซี ขอให้ข้อมูลว่า ผลไม้ถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวในระบบการค้าต่างประเทศ เนื่องจากปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชที่เป็นภัยคุกคามระบบนิเวศของประเทศผู้นำเข้าดังนั้น รัฐบาลจีนโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติ (AQSIQ) จึงได้นำมาตรการบริหารความเสี่ยงด้วยการกำหนด ‘ด่าน(ที่ได้รับสิทธิ)นำเข้าผลไม้‘
ทั้งนี้ ด่านในเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวเป็น 1 ใน 7 ด่าน และเป็นด่านท่าเรือแห่งที่ 2 ของมณฑล (ต่อจากด่านท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง) ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางเป็นด่านนำเข้าผลไม้ของประเทศจีน
ด่านที่ได้รับอนุมัติการนำเข้าผลไม้ของเขตฯ กว่างซีจ้วง |
||
ประเภทด่าน |
รายละเอียด |
สถานะ |
ด่านทางบก |
ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border,友谊关口岸) ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง (ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองฉงจั่ว) เป็นด่านนำเข้าผลไม้ไทยตามพิธีสารฯ R9 จังหวัดมุกดาหาร |
เปิดแล้ว |
ด่านทางบกหลงปัง (Longbang Border,龙邦口岸) ในอำเภอจิ้งซี เมืองไป่เซ่อ ติดกับด่านTalungจังหวัด Cao Bang ของเวียดนาม |
กำลังก่อสร้าง |
|
ด่านทางบกตงซิง (Dongxing Border,东兴口岸) ในอำเภอระดับเมืองตงซิง (ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองฝางเฉิงก่าง) ติดกับด่าน MongCaiจังหวัดQuangninhของเวียดนาม |
กำลังก่อสร้าง |
|
ด่านทางบกสุยโข่ว (Shuikou Border,水口口岸) ในอำเภอหลงโจว เมืองฉงจั่ว ติดกับด่าน Ta LungจังหวัดCao Bangของเวียดนาม |
กำลังก่อสร้าง |
|
ด่านทางทะเล |
ด่านท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง |
เปิดแล้ว |
ด่านในเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว |
เปิดแล้ว |
|
ด่านทางอากาศ |
ด่านในท่าอากาศยานเหลียงเจียงเมืองกุ้ยหลิน |
เปิดแล้ว |
ลิงค์ข่าว
– ด่านท่าเรือชินโจวจะเริ่มทดลองนำเข้าผลไม้แล้ว(10 พ.ค. 2560)
–ช่องทางใหม่ของการขนส่งผลไม้(ไทย)เข้ากว่างซี(06 เม.ย. 2560)
– ท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นด่านนำเข้า ‘แร่เหล็ก‘ ที่สำคัญของจีนตะวันตก(12 ม.ค. 2560)
– ด่านโหย่วอี้กวานเปิดช่องเดินรถบรรทุกสินค้า ช่วยร่นเวลาผ่านด่าน(15 ธ.ค. 2559)
– ท่าเรือเมืองชินโจวสอบผ่าน พร้อมนำเข้า ‘ผลไม้‘ แล้ว(30 พ.ย. 2559)
– ด่านสุยโข่ว เป็น ‘ด่านนำเข้าผลไม้‘ แห่งที่ 7 ของกว่างซี(24 ส.ค. 2559)
– กว่างซีนำเข้าผลไม้ ‘อาเซียน‘ มากที่สุดในจีน(08 ก.ค. 2559)
– เหตุผลง่ายๆ ที่ผู้ค้าผลไม้นิยมใช้ ‘ผิงเสียง‘ เป็นด่านนำเข้า(05 ก.ค. 2559)
– ท่าเรือฝางเฉิงก่างผลัก Single Stop Inspection หนุนนำเข้า ‘ผลไม้‘ง่าย รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ(13 พ.ค. 2559)
– ทำไม?? จึงพูดว่า "กว่างซี" เป็นฐานกระจายผลไม้อาเซียนที่ใหญ่ที่สุดของจีน(17 ก.พ. 2559)