ผลไม้ไทยเตรียมหนาว!! เมืองฝางเฉิงก่างของกว่างซีพัฒนาการปลูก “ชมพู่” สำเร็จ

2 Apr 2014

เว็บไซต์ข่าวฝางเฉิงก่าง : ชาวกว่างซีเตรียมลิ้มรส ชมพู่ออร์แกนิกส์ ที่ปลูกได้แล้วในกว่างซีและกำลังจะออกสู่ตลาดในเดือนมิถุนายนนี้

บริษัท Tianhong Technology (天红科技有限公司) ได้ลงทุน สวนชมพู่ออร์แกนิกส์ บนเนื้อที่ 350 หมู่จีน (ราว 145 ไร่) ในตำบลหัวสือ (Hua Shi Town, 华石镇) เขตฝางเฉิง (Fangcheng Area, 防城区) เมืองฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang City, 防城港市) ของกว่างซี

ปี 2554 นายเฉิน ซ่าว หลง (Chen Shao Long, 陈少龙) เจ้าของสวนชมพู่ได้รับช่วงการปลูกชมพู่ต่อจากนักธุรกิจไต้หวัน ช่วงแรกของการปลูกชมพู่ต้องประสบปัญหาดอกร่วง ผลร่วง และผลแตก เนื่องจากยังขาดประสบการณ์ อีกทั้งต้นชมพู่ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศท้องถิ่นได้

นายเฉินฯ ได้ว่าจ้างนักเทคนิคเกษตรจากไต้หวัน เพื่อช่วยให้คำแนะนำและคัดเลือกพันธุ์ชมพู่ให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของกว่างซี จนกระทั่งได้พันธุ์ “Tian Hong No.1” (天红一号) มาจากไต้หวัน

จุดเด่นของพันธุ์ “Tian Hong No.1” คือ ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศกว่างซีได้ดี ทนต่อสภาพอากาศร้อนและหนาว อีกทั้งยังมีรสชาติหวานกว่าชมพู่พันธุ์ขึ้นชื่ออย่าง Black pearl” (黑珍珠) และพันธุ์ “Black King Kong” (黑金刚)

นายเฉินฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สวนของตนเป็นสวนชมพู่เพียงแห่งเดียวในกว่างซีที่นำเข้าพันธุ์ “Tian Hong No.1” จากไต้หวันมาปลูก คาดหมายว่า หากได้ผลผลิตสมบูรณ์จะสร้างมูลค่าการผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านหยวน

ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ แหล่งปลูกชมพู่ในประเทศจีนจึงมีเพียงมณฑลไห่หนาน และมณฑลกวางตุ้งเท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ราคาตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 15-20 หยวน

ชมพู่ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดกว่างซีส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่น ทว่า ต่อจากนี้ไป ชมพู่พันธุ์ “Tian Hong No.1” จะสามารถอุดช่องว่างทางการตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในกว่างซีได้ไม่น้อย

ที่สำคัญ ในสวนชมพู่ยังมีการเลี้ยงห่านกว่าพันตัว เพื่อใช้ประโยชน์จากปุ๋ยมูลสัตว์ และช่วยกำจัดแมลงและวัชพืชในสวน ซึ่งช่วยประหยัดค่าแรงและยาฆ่าแมลงได้อย่างมาก

นายเฉินฯ เปิดเผยถึงแผนงานก้าวต่อไปว่า ตนเองจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจการเป็น บริษัท+เกษตรกร เพื่อเสริมช่องทางสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น และสร้างแบรนด์ชมพู่พันธุ์  “Tian Hong No.1” ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

นอกจากนี้ ตนเองยังเตรียมพัฒนาสวนชมพู่ให้กลายเป็นแหล่งเกษตรสมัยใหม่ที่มีฟังก์ชั่นครบวงจรทั้งการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และโฮมสเตย์ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเก็บชมพู่ บาร์บีคิว และพักผ่อนในสวนชมพู่ได้

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชมพู่ เป็นผลไม้ 1 ใน 23 ชนิดที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าจากไทย ทว่า ความที่ผลไม้บอบช้ำง่ายจึงเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง และทำให้ผลไม้ชนิดนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหัวเมืองรองสักเท่าไหร่

อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความต้องการบริโภคชมพู่ของชาวจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากชมพู่ที่สามารถผลิตได้เองในประเทศแล้ว ยังมีชมพู่ที่นำเข้ามาจากไต้หวันเป็นหลัก

สำหรับตลาดในนครหนานหนิง สามารถพบเห็นชมพู่วางจำหน่ายเฉพาะในซุปเปอร์มาร์เก็ต (ระดับพรีเมี่ยม) มีราคาสูง และเป็นชมพู่ไต้หวันทั้งสิ้น ขณะที่ร้านขายผลไม้ทั่วไปไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถอาศัยช่องว่างทางการตลาดในการผลักดันผลไม้ชนิดอื่น ๆ ของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น และไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะว่ากว่างซีได้พยายามพัฒนาสายพันธุ์ผลไม้เมืองร้อนอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตและสร้างตัวเลือกให้กับผู้บริโภคชาวจีน

หากในอนาคตกว่างซี (จีน) สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้เมืองร้อนของตนเองจนมีระดับคุณภาพเทียบเท่ากับผลไม้ที่ปลูกในประเทศเมืองร้อนอย่างไทย เมื่อนั้นตลาดผลไม้ส่งออกไทยคงได้รับผลกระทบไม่น้อย

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน