ผลไม้ไทยเตรียมหนาว!! กว่างซีเร่งพัฒนาสายพันธุ์ และแปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า

31 Jul 2014

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : “ไอศกรีมรสแก้วมังกรขายราคาโคนละ 10 หยวน มาการองแก้วมังกรขายกล่องละ 68 หยวน นี่คือสิ่งที่ยืนยันได้ว่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผลไม้ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาผลไม้ล้นตลาดแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่า (Value Added) ให้กับสินค้าได้เป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน ทางการกว่างซีเริ่มสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ตามฤดูกาล เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า

แก้วมังกรเป็นหนึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์แปรรูปของกว่างซี อาทิ ไอศกรีมแก้วมังกร มาการองแก้วมังกร (Macaron ขนมหวานที่มีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศส) กีจ่างแก้วมังกร (คล้ายบ๊ะจ่าง ขนมหวานจิ้มน้ำตาล) น้ำแก้วมังกร หัวเชื้อน้ำเอนไซม์แก้วมังกร ไวน์แก้วมังกร น้ำมันหอมระเหยจากแก้วมังกร ฯลฯ

เจ้าหน้าที่บริษัทหนึ่งที่ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแก้วมังกรดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ บริษัทได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแก้วมังกรแล้วทั้งหมด 18 รายการ สินค้าบางรายการได้ทดลองวางจำหน่ายแล้วตามร้านเฟรนไชส์และบนเว็บไซต์ E-Commerce

กว่างซีมีพื้นที่ปลูกแก้วมังกรราว 1 แสนหมู่ (หรือราวๆ 41,668 ไร่) ได้ผลผลิตปีละกว่า 2 แสนตัน ซึ่งผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยในแต่ละปีกว่างซียังต้องนำเข้าแก้วมังกรมากถึง 2 แสนตัน (ทั้งประเทศมีการนำเข้าประมาณ 6-7 แสนตัน)

เจ้าหน้าที่หน่วยให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีการผลิตผลไม้เขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Fruit Production Technical Guidance Station, 广西水果生产技术指导总站) กล่าวว่า หากแก้วมังกรได้รับการพัฒนาที่ดีจะมีแนวโน้มก้าวขึ้นเป็นผลไม้ขึ้นชื่อกว่างซี ต่อจากกล้วยหอม ลิ้นจี่ และลำไย

ปี 57 กรมการเกษตรกว่างซี ได้ดำเนิน โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลไม้เด่นกว่างซี สำหรับแก้วมังกร นอกจากการปรับปรุงสายพันธุ์แล้ว ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการค้า (Commercialization) และการเก็บรักษาผลไม้ในอุณหภูมิต่ำ ณ แหล่งผลิต เพื่อรักษาคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้ให้มากขึ้น

แก้วมังกรทั่วไปที่ปลูกในนครหนานหนิงมีน้ำหนักไม่เกินครึ่งกิโลกรัม มักพบปัญหาผลแก้วมังกรแตกง่ายในขณะสุกงอมอยู่บนต้น และบอบช้ำง่ายในระหว่างการขนส่ง หากเป็นแก้วมังกรพันธุ์ดีจะมีน้ำหนักราว 1-1.5 กิโลกรัม รสชาติหวานมาก

นายเหลียง กุ้ย ตง (Liang Gui Dong, 梁桂东) นักวิชาการด้านฟังก์ชั่นการผลิตแก้วมังกรจากสถาบันเกษตรศาสตร์เขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Academy of Agricultural, 广西农科院) ให้ข้อมูลว่า ไร่แก้วมังกรแห่งหนึ่งในตำบลผู่เมี่ยว (Pumiao Town, 蒲庙镇) นครหนานหนิง มีการพัฒนาสายพันธุ์แก้วมังกรใหม่ที่มีชื่อสายพันธุ์ว่า เหม่ยหลง หมายเลข 1-8 (Meilong No.1-8, 美龙 1-8) โดยเฉพาะ Meilong No.2 ที่เป็นสายพันธุ์แก้วมังกรชั้นเลิศ

สายพันธุ์นี้มีจุดเด่นในเรื่องของรสชาติที่ไม่หวานจนเกินไป และมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวหลังจากผลสุกได้นาน (ปล่อยคาต้นหลังผลสุก) 15-90 วัน รักษาความสดไว้ได้นานกว่าพันธุ์ทั่วไป 2-4 เท่า ซึ่งนับเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการส่งผลไม้ไปจำหน่ายยังนอกพื้นที่

นอกจากนี้ ไร่แห่งนี้ยังมีระบบการจัดการภาคการผลิตที่มีประสิทธิภาพ สายการผลิตมีการคัดเกรดแก้วมังกรเป็น 3-4 เกรดตามน้ำหนักผล หนึ่งสายการผลิตสามารถคัดเกรดผลผลิตได้ มากกว่า 1,500 กิโลกรัม (แก้วมังกรเกรด 1-2 จะมีราคารับซื้อสูงกว่าผลแก้วมังกรที่ยังไม่ได้คัดเลือกเกรดประมาณ 1-2 หยวน) และมีการเก็บรักษาผลผลิตในห้องเย็นหลังกระบวนการคัดเกรด เพื่อรอส่งจำหน่ายไปยังทั่วประเทศ 

การเก็บรักษาผลผลิตในความเย็นช่วยควบคุมอัตราการสูญเสียไว้ไม่เกินร้อยละ 6 ขณะที่ผลผลิตที่ไม่ผ่านกระบวนดังกล่าวมีอัตราการสูญเสียสูงถึงร้อยละ 20 เจ้าหน้าที่คนเดิม ให้ข้อมูล

เมื่อ 10 ปีก่อน กว่างซีมีการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวผลไม้อยู่ที่ 5 แสนตัน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 2.28 ล้านตัน และคาดหมายว่า ปีหน้า (ปี 58) จะมีสายการผลิตเพื่อจัดการผลไม้เพิ่มขึ้น 100 สายการผลิต ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพการจัดการผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านตัน และมีห้องเย็นในแหล่งผลิตที่สร้างเพิ่มขึ้นใหม่อีก 100 แห่ง ซึ่งสามารถรองรับการเก็บรักษาผลไม้ได้เพิ่มขึ้นอีก 5 แสนตัน

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชาวจีนมีความนิยมในการบริโภคผลไม้เมืองร้อนและผลไม้เขตกึ่งร้อนเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าผลไม้บางประเภทจะสามารถปลูกได้ในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศ ทว่า ปริมาณและคุณภาพผลผลิตไม่สามารถตอบสนองความต้องการภายในประเทศได้

จากบริบทข้างต้น ผู้ประกอบการจีนจำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ในกรณีของแก้วมังกร ผู้ประกอบการจีนมีการนำเข้าแก้วมังกรจากประเทศเวียดนามผ่านด่านทางบกในเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ พื้นที่ผลิตผลไม้ในประเทศเริ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์ผลไม้ รวมทั้งมีการส่งเสริมเทคโนโลยีและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ผลไม้ไทยในตลาดจีนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยในอนาคตอันใกล้

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน