ผลไม้ไทยมีคู่แข่ง กว่างซีเร่งพัฒนาการปลูกผลไม้เมืองร้อน ล่าสุดผุดสวนชมพู่ทางภาคใต้ของมณฑล

9 Apr 2013

หนังสือพิมพ์ฝางเฉิงก่าง เดลี่ : จุดเด่นด้านสภาพภูมิอากาศกึ่งร้อน ทำให้กว่างซีประสบความสำเร็จในการปลูกผลไม้เขตร้อนได้หลายชนิด ได้แก่ ลิ้นจี่ ลำไย และล่าสุด เมืองฝางเฉิงก่างเป็น สวนชมพู่ ที่ใหญ่ที่สุดของกว่างซี

ชมพู่ ผลไม้ที่มีกลิ่นหอม เนื้อกรอบ ฉ่ำน้ำ รสหวาน เริ่มเป็นที่รู้จักของชาวจีนมากขึ้น และได้รับการขนานนามให้ชมพู่เป็น เพชรแห่งผลไม้

ปัจจุบัน ตลาดชมพู่ในจีนมีความสดใส ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิอากาศ ทำให้ในประเทศจีนมีเพียงไม่กี่มณฑลที่สามารถปลูกผลไม้ชนิดดังกล่าว ได้แก่ มณฑลไห่หนาน มณฑลกวางตุ้ง และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องการขนส่ง เนื่องจากชมพู่เป็นผลไม้ที่มีความบอบบาง ช้ำง่าย และเก็บรักษาได้ไม่นาน ทำให้ผู้ประกอบไม่ค่อยนิยมนำเข้าผลไม้ดังกล่าว ชมพู่นำเข้าส่วนใหญ่มาจากทางไต้หวัน

สถานการณ์ข้างต้นได้ส่งผลให้อุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน ฉะนั้น จึงจำหน่ายได้ราคาสูงราวๆกิโลกรัมละ 15-20 หยวน (75-100 บาท)

สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง เมื่อ 4 ปีก่อน (ปี 52) บริษัท Tianhong Technology (天红科技有限公司) ได้ลงทุน สวนชมพู่อินทรีย์ บนพื้นที่ 350 หมู่จีน (ราว 145 ไร่) ในเขตฝางเฉิง (Fangcheng Area, 防城区) เมืองฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang City, 防城港市)

บริษัทดังกล่าวได้นำเข้าวิธีเทคโนโลยีและพันธุ์ชมพู่ “Tian Hong No.1” (天红一号) มาจากไต้หวัน ตามรายงาน พันธุ์ชมพู่ดังกล่าวเหมาะกับสภาพภูมิอากาศของกว่างซี เนื่องจากสามารถทนต่อสภาพอากาศหนาวและร้อนจัดได้ดี คุณภาพชมพู่มีรสชาติหวานกว่าชมพู่ชนิดอื่นๆ ที่ปลูกได้ในจีน

เป็นที่คาดหมายว่า พื้นที่ปลูก 145 ไร่นี้ จะสร้างมูลค่าการผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านหยวน และผลผลิตจะออกสู่ท้องตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมปีนี้

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชมพู่ เป็นผลไม้ 1 ใน 23 ชนิดที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าจากไทย ผลไม้ที่เหลือ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด กล้วยไข่ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง มะพร้าว มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ สับปะรด ละมุด เสาวรส น้อยหน่า มะขาม ขนุน สละ ลองกอง ส้มเขียวหวาน ส้ม และส้มโอ

ปัจจุบัน กว่างซีเป็นฐานการผลิตผลไม้เขตร้อนของจีน โดยผลไม้เขตร้อนหลายชนิดที่ปลูกในกว่างซีมีความซ้ำซ้อนกับประเทศไทย อาทิ ลำไย ลิ้นจี่ ฝรั่ง สับปะรด มะละกอ ส้มโอ

แม้ว่า ผลไม้ไทยยังมีความได้เปรียบในแง่ของคุณภาพ และรสชาติ ทว่า นักวิจัยกว่างซีก็พยายามพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพการผลิตผลไม้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น BIC เห็นว่า หากในอนาคตกว่างซี (จีน) สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้เมืองร้อนของตนเองจนมีระดับคุณภาพเทียบเท่ากับผลไม้ที่ปลูกในประเทศเมืองร้อนอย่างไทย เมื่อนั้นตลาดผลไม้ส่งออกไทยคงได้รับผลกระทบไม่น้อย ส่วนแบ่งทางการตลาดของผลไม้ไทยในตลาดจีนคงหดตัวลงไปไม่มากก็น้อย

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน