ผลกระทบราคาน้ำตาล ทำโรงงานน้ำตาลกว่างซีเหยียบเบรค ชะลอเดินสายการผลิต
21 Nov 2013เว็บไซต์ china-เมืองหลิ่วโจว : แรงกดดันจากน้ำตาลราคาถูกในตลาดต่างประเทศส่งผลให้โรงงานน้ำตาลในกว่างซีชะลอการเดินเครื่องหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2556/2557
“จีน” เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ปีที่ผ่านมา (ปี 55) มีผลผลิตน้ำตาลทั้งสิ้น 13.07 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 1.55 ล้านตัน) ในจำนวนนี้ เป็นผลผลิตจากเขตฯ กว่างซีจ้วงมากถึง 7.94 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของผลผลิตทั้งประเทศ
ขณะเดียวกัน “จีน” ยังเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลกเช่นกัน และมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากร ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ประเทศจีนมีการนำเข้าน้ำตาลทั้งสิ้น 2.926 ล้านตัน
การนำเข้าน้ำตาลปริมาณมากจากต่างประเทศ (เนื่องจากมีราคาถูกกว่าน้ำตาลที่ผลิตในประเทศจีน) ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลและเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โรงงานน้ำตาลต้องประสบผลขาดทุนถ้วนหน้า บุคคลในแวดวงธุรกิจน้ำตาล คาดหมายว่า ปีนี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งระบบต้องขาดทุนกว่า 10,000 ล้านหยวน
สาเหตุที่ราคาน้ำตาลในต่างประเทศต่ำกว่าราคาในประเทศ มีดังนี้
หนึ่ง ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น (ผลผลิตส่วนเกิน) ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดต่างประเทศลดลง
สอง จีนเรียกเก็บภาษีน้ำตาลนำเข้าในโควต้าในอัตราร้อยละ 15 คำนวณราคาต้นทุนรวมภาษีอยู่ที่ประมาณตันละ 4,200 หยวน ขณะที่เฉพาะต้นทุนการผลิตในกว่างซีก็สูงถึง 5,500 หยวน
นายหลี เหว่ย ชุน (Li Wei Chun, 李伟春) ผู้จัดการบริษัทค้าส่งน้ำตาลรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า การนำเข้าน้ำตาลนอกโควต้า ซึ่งทางการจีนเรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 50 เมื่อรวมต้นทุนเบ็ดเสร็จแล้วก็ยังคงได้กำไรอยู่
สาม การดำเนินมาตรการสำรองน้ำตาล เพื่อรักษาระดับราคาน้ำตาลในประเทศ โดยราคารับซื้อสูงถึงตันละ 6,100 หยวน ทำให้ราคาน้ำตาลทรายขายพุ่งสูงขึ้น
สี่ การที่น้ำตาลในต่างประเทศมีราคาถูกส่งผลให้เกิดการลักลอบนำเข้าน้ำตาลอย่างผิดกฎหมาย ทำให้น้ำตาลจากประเทศทะลักเข้าสู่ตลาดจีนจำนวนมาก
นายเก่อ จวิ้น เจี๋ย (Ge Jun Jie, 葛俊杰) ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท Shanghai TangJiu (上海糖酒集团) ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลข้างต้นมีแนวโน้มยืดเยื้อ บริษัทฯ จึงวางแผนว่า ในอนาคตจะเข้าไปควบซื้อกิจการน้ำตาลในประเทศออสเตรเลีย และบราซิล เพื่อคลายแรงกดดันจากราคาต้นทุนน้ำตาลในประเทศ
ขณะที่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง เพิ่งมีการประกาศแผนราคารับซื้ออ้อย ประจำฤดูการผลิตปี 2556/2557 โดยมีการปรับลดราคารับซื้องวดแรกจากตันละ 475 หยวนเหลือตันละ 440 หยวน (เป็นการปรับลดราคารับซื้ออ้อยครั้งที่สองติดต่อกันจากฤดูการผลิตปีก่อน) เป็นการช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการผลิตน้ำตาล
อย่างไรก็ดี การลดราคารับซื้ออ้อยได้สร้างผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย เนื่องจากปัจจุบัน เกษตรกรต้นแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้่น อาทิ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และค่าแรงงานตัดอ้อย (ค่าแรงปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 160 หยวน ขณะที่ 2 ปีก่อนอยู่ที่ตันละ 100-120 หยวน)
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– ธุรกิจน้ำตาลจีนเจอศึกหนัก คาดปีนี้ขาดทุน 10,000 ล้านหยวน (18 พ.ย. 2556)
– เกษตรกรโวย กว่างซีดำเนินแผนลดราคารับซื้ออ้อย ลดต้นทุนการผลิตสู้น้ำตาลนำเข้า (18 พ.ย. 2556)