ปี 2561 การค้าต่างประเทศกว่างซีทุบสถิติใหม่ ไทยครองอันดับ 2 ในอาเซียน
19 Feb 2019ไฮไลท์
- ปี 2561 มูลค่าการค้าต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างสถิติสูงสุด เป็นผลจากการปรับปรุงโครงสร้างด้านการค้า ทำให้กว่างซีเปลี่ยนจากฝ่ายเสียดุลการค้าเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า
- “อาเซียน” เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่างซี โดยมีเวียดนามเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด ในสัดส่วน 84.8% ของการค้ากับอาเซียน และคิดเป็น 42.6% ของการค้าต่างประเทศของทั้งมณฑล
- ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน “ประเทศไทย” ครองตำแหน่งคู่ค้าอันดับ 2 ของกว่างซีเป็นปีที่สองติดต่อกัน ด้วยตัวเลขการเติบโตสูงถึง 96.3% และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่างซีสูงถึง 5,446 ล้านหยวน
ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าต่างประเทศของกว่างซีในปี 2561 มีดังนี้
1. ปรับปรุงโครงสร้างด้านการค้า สถานการณ์การค้าต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตได้ดี การค้าต่างประเทศของกว่างซีมีมูลค่ารวม 4.1067 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 5% (YoY) แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 2.1761 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 14.6% และมูลค่าการนำเข้า 1.9306 แสนล้านหยวน ลดลง 4.1% โดยกว่างซีเปลี่ยนจากฝ่ายเสียดุลเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 24,550 ล้านหยวน (ปี 2560 กว่างซีเป็นฝ่ายเสียดุลการค้า 11,430 ล้านหยวน)
การค้าต่างประเทศของ 11 เมืองในกว่างซีมีแนวโน้มเติบโตดี โดยเมืองที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เมืองฉงจั่ว นครหนานหนิง และเมืองฝางเฉิงก่าง
2. มุ่งพัฒนาการค้าชายแดนเป็นหลัก การค้าการแปรรูปเพื่อการส่งออกและการค้าผ่านเขตโลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บนเติบโตรวดเร็ว การค้าชายแดนขยายตัวเร็วที่สุด โดยมูลค่าการค้าชายแดนอยู่ที่ 1.6177 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 6.9% คิดเป็นสัดส่วน 39.4% ของการค้าต่างประเทศ
ในจำนวนนี้ เป็นการค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดน 1.0762 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 22.2% คิดเป็นสัดส่วน 26.2% ของการค้าต่างประเทศ และการค้าผ่านเขตโลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บน มีมูลค่า 18,250 ล้านหยวน
3. มีความร่วมมือด้านการค้าเชิงลึกกับประเทศที่ตั้งอยู่บนกรอบยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative โดยมีมูลค่าอยู่ที่2.2444 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 4.6 % คิดเป็นสัดส่วน 54.7 % โดย “อาเซียน” เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่างซีด้วยมูลค่าการค้า2.0615 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 6.3% คิดเป็นสัดส่วน 50.2% ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ และ “เวียดนาม” ยังคงครองตำแหน่งประเทศคู่ค้าหลักที่มูลค่า 1.749 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 16.9% คิดเป็นสัดส่วน 42.6% ของการค้าต่างประเทศ และคิดเป็น 84.86% ของการค้ากับอาเซียน
สำหรับการค้ากับประเทศไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 9,136 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 96.3% แบ่งเป็นมูลค่านำเข้าจากไทย 7,291 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 191% และมูลค่าส่งออกไปไทย 1,845 ล้านหยวน ลดลง 14.1% โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่างซี 5,446 ล้านหยวน
ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของกว่างซี มีสัดส่วน 4.43% ของการค้ากับอาเซียน และคิดเป็นสัดส่วน 2.22% ของการค้าต่างประเทศ ซึ่งบีไอซีเห็นว่า ไทยยังมีโอกาสและศักยภาพในการขยายความร่วมมือด้านการค้ากับกว่างซีอีกมาก เมื่อคำนึงถึงช่องทางการค้าที่มีต่อกันทั้งเส้นทางทางทางบกผ่านชายแดน เส้นทางทางทะเลสู่เมืองท่าของกว่างซีในอ่าวเป่ยปู้ (ตังเกี๋ย) และทางอากาศซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางบินระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น
4. ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกลเป็นสินค้านำเข้า-ส่งออกหลัก โดยสามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
5. องค์กรธุรกิจ“ภาคเอกชน” เป็นตัวหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการค้าต่างประเทศ มีมูลค่าอยู่ที่ 2.0111 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 20.2% คิดเป็นสัดส่วน 49% ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ โดยทางการกว่างซีได้สนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ การสนับสนุนแพลตฟอร์มการเงินและสินเชื่อ การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์การผลิต การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสนับสนุนแพลตฟอร์มการบริการต่างๆ อาทิ ตราสินค้า สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์
จัดทำโดย นางสาวหลี่ เจียอี้ (李佳翊) นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 26 มกราคม 2562
เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关) วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562
รูปประกอบ www. pixabay.com