“บิดาข้าวลูกผสม” ทดลองปลูกข้าวในดินเค็มสำเร็จ ผลผลิตเฉลี่ยกว่า 360 กก./ไร่
6 Jan 2017เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพข้าวน้ำเค็ม (sea-rice) นครอู่ฮั่น เปิดเผยว่า การส่งเสริมการทดลองปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ “ไห่เต้า 86” ในแถบชายฝั่งทะเลและพื้นที่ดินเค็ม/น้ำกร่อยประสบความสำเร็จ ผลผลิตเฉลี่ยมากกว่า 150 กก./หมู่ (360 กก./ไร่) และใช้เวลาในการพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้นานกว่า 30 ปี โดยมีจุดเด่นที่สามารถต้านทานน้ำเค็มและทนต่อน้ำท่วมได้ดี และสามารถเติบโตได้ดีในน้ำเค็มที่มีค่า PH ต่ำกว่า 9.3 หรือน้ำทะเลที่มีปริมาณความเข้มข้นของเกลือต่ำกว่าร้อยละ 0.6
ปี 2559 ได้ทดลองปลูกข้าวในดินเค็ม/น้ำกร่อยเกือบ 6,000 หมู่ (2,500 ไร่) ในมณฑลกวางตุ้ง ซานตง จี๋หลิน และคาดว่าในปี 2560 จะขยายพื้นที่การทดลองปลูกกว่า 10,000 หมู่ (4,167 ไร่)
ปัจจุบัน จีนมีพื้นที่ดินเค็มน้ำประมาณ 1,500 ล้านหมู่ (625 ล้านไร่) ในจำนวนนี้มีศักยภาพปลูกข้าวได้ 200 ล้านหมู่ (83 ล้านไร่) หากปลูกข้าวน้ำเค็มทั้งหมด จะสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวได้ถึง 30,000 ล้าน กก. ถือเป็นความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของจีน
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยข้าวน้ำเค็มเมืองชิงต่าว โดยมี ศ. หยวน หรงผิง เป็นประธาน ชิงเต่ามีพื้นที่น้ำเค็ม/น้ำกร่อย 500,000 หมู่ (208,333 ไร่) ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมและการวิจัยการปลูกข้าวน้ำเค็ม ศ.หยวน หรงผิง กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตสูงที่สามารถต้านทาน ความเค็มและความเป็นด่าง และจะใช้เวลาในการพัฒนาข้าวชนิดนี้ 3 ปี เพื่อให้มีผลผลิตเฉลี่ย 300 กก./หมู่ (720 กก./ไร่) เนื่องจากขณะนี้ผลผลิตโดยเฉลี่ยยังไม่สูงมากนัก เกษตรกรไม่เต็มใจปลูก เพราะไม่คุ้มค่า หากได้ผลผลิตที่สูงกว่านี้ ศักยภาพการปลูกข้าวในน้ำเค็ม/น้ำกร่อยก็จะเพิ่มมากขึ้น
ศ.หยวนฯ กล่าวต่อไปว่า กุญแจสำคัญในการพัฒนาพันธุ์ข้าวน้ำเค็มคือ การพัฒนาความสามารถ ในการต้านทานระดับความเข้มข้นของเกลือ และเชื่อมั่นว่าการเพาะเมล็ดโดยใช้เทคโนโลยีระดับโมเลกุล (Molecular Technology) จะได้ประสิทธิภาพที่ดี แต่ระดับความยากย่อมมากขึ้น
ต่อข้อสงสัยที่ว่า “ข้าวผลผลิตสูงมักคุณภาพต่ำ” ศ. หยวนฯ กล่าวว่า มีบางคนคิดว่าข้าวลูกผสมให้ผลิตสูงแต่คุณภาพไม่สูง ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคบางคนชื่นชอบข้าวคุณภาพดีจากต่างประเทศ แน่นอนว่าในอดีตมีข้าวลูกผสมบางส่วนคุณภาพธรรมดา เพราะตอนเริ่มต้นต้องแก้ปัญหาให้ปากท้องอิ่มก่อน จำเป็นต้องเอาปริมาณนำคุณภาพ แต่ปัจจุบันระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนสูงขึ้น เพียงแค่กินอิ่มคงไม่เพียงพอ ประชาชนต้องการ “กินดี” ด้วย พวกเราจึงเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ ไม่ทิ้งปริมาณเพื่อแลกมาซึ่งคุณภาพ แต่ต้องได้ทั้งปริมาณสูงและคุณภาพที่ดี
แล้วข้าวน้ำเค็มหุงแล้วจะเค็มไหม ศ. หยวนฯ กล่าวว่า ไม่เค็ม แร่ธาตุในน้ำทะเลมีค่อนข้างสูง ดังนั้น ข้าวน้ำเค็มจึงอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากกว่าข้าวทั่วไป นอกจากนี้ แมลงศัตรูพืชยังน้อยกว่าข้าวที่ปลูกในน้ำจืด และความต้านทานโรคสูง คาดว่าปี 2560 บางพื้นที่น่าจะได้ลิ้มลองข้าวชนิดนี้
ที่มา :http://hn.people.com.cn/n2/2016/1218/c195194-29478117.html
http://news.xinhuanet.com/fortune/2016-11/05/c_129352342.htm
http://news.163.com/16/1103/09/C4UH4ODE0001875N.html