บริษัทกำลังจะมีการสั่งซื้อสินค้าจากจีน กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาทางการค้า ไม่ทราบว่ามีข้อควรคำนึงที่สำคัญในการจัดทำสัญญาทางการค้ามีอะไรบ้าง และจะสามารถศึกษาตัวอย่างสัญญาการค้าที่ทำกับจีนได้จากแหล่งข้อมูลไหนอย่างไรบ้าง
18 Apr 2014การจัดทำสัญญาการค้าระหว่างคู่สัญญา ควรคำนึงถึงสิ่งสำคัญเบื้องต้น ดังนี้
1. ระบุข้อความสำคัญของสัญญา ได้แก่
- 1.) ชื่อ – สกุล และที่อยู่ของคู่สัญญา
- 2.) วัตถุประสงค์แห่งสัญญา
- 3.) ปริมาณ
- 4.) คุณภาพ
- 5.) ราคาหรือค่าตอบแทน
- 6.) เวลา สถานที่ และรูปแบบในการปฎิบัติ
- 7.) ความรับผิดชอบเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา
- 8.) วิธีการแก้ไขเมื่อเกิดข้อพิพาท และหากมีเอกสารแนบจะต้องระบุว่า “สิ่งที่แนบมาด้วยเป็นส่วนประกอบของสัญญาฉบับนี้ และมีผลบังคับใช้ในทางกฏหมายด้วยเช่นกัน”
2. ระบุวัตถุประสงค์การเซ็นต์สัญญาให้ชัดเจน และควรหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ
3. กำหนดขอบเขตและรายละเอียดความรับผิดชอบของคู่สัญญาให้ชัดเจน เช่น หากแค่กำหนดว่า “ฝ่ายที่ทำผิดสัญญาเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ” ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าเมื่อทำผิดแล้วต้องการชดเชยอะไรบ้าง ก็เท่ากับสัญญาไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบแต่อย่างใด
3. กำหนดขอบเขตและรายละเอียดความรับผิดชอบของคู่สัญญาให้ชัดเจน เช่น หากแค่กำหนดว่า “ฝ่ายที่ทำผิดสัญญาเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ” ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าเมื่อทำผิดแล้วต้องการชดเชยอะไรบ้าง ก็เท่ากับสัญญาไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบแต่อย่างใด
4. ระบุถึงวิธีการแก้ไขเมื่อมีกรณีพิพาท เช่น การเลือกศาลในการฟ้องคดีเมื่อเกิดกรณีพิพาท
กฎหมายแพ่งฉบับปรับปรุง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 กำหนดว่า คู่คดีที่เกี่ยวกับสัญญาหรือสิทธิในทรัพย์สินอื่น ๆ สามารถทำข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดศาลในการฟ้องคดีเมื่อเกิดกรณีพิพาทได้ โดยสามารถเลือกศาลที่ดูแลรับผิดชอบในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกรณีพิพาท เช่น ที่อยู่ของโจทก์ สถานที่ที่จะเป็นที่ปฏิบัติหากดำเนินการตามสัญญา สถานที่ที่ลงนามสัญญา ที่อยู่ของจำเลย เป็นต้น และการนัดหมายศาลในการฟ้องคดี ไม่ควรฝ่าฝืนกฎระเบียบที่เกี่ยวกับขอบเขตการดูแลของศาลระดับต่าง ๆ
5. มีการระบุถึงการขออนุญาตตุลาการ คู่สัญญาสามารถตกลงกันให้คณะกรรมการอนุญาตตุลาการ หรือศาลเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นเป็นผู้ชี้ขาดกรณีพิพาท
6. การใช้ภาษาของสัญญา ตามปรกติสัญญาระหว่างประเทศอย่างน้อยมี 2 ภาษา ถึงแม้ว่ามีล่ามช่วยแปล แต่อาจมีบางคำมีความหมายเพี้ยนหรือมีความแตกต่างเล็กน้อย หากสัญญาไม่ได้กำหนดจะเลือกภาษาอะไรเป็นภาษามาตรฐาน ตามกฎหมายเศรษฐกิจสากล จะถือว่าสัญญาของทั้ง 2 ภาษามีผลบังคับใช้เท่าเทียมกัน ดังนั้น เมื่อทำสัญญา นักธุรกิจจะพยายามตกลงเลือกภาษาของประเทศตนเองเป็นภาษามาตรฐาน
7. การจัดพิมพ์สัญญาและการลงชื่อ การพิมพ์สัญญาลงในกระดาษ ควรใช้กระดาษแบบเดียวกัน ไม่เช่นนั้นอาจเป็นช่องว่างให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวหาว่าเราเปลี่ยนเนื้อหาสัญญาหลังจากทั้งสองฝ่ายลงชื่อเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ควรให้ทั้งสองฝ่ายลงชื่อในแต่ละหน้าของสัญญา หรือประทับตราที่สันหนังสือสัญญา
8. ข้อควรระวังในทำสัญญาอื่นๆ เช่น
8.1 หัวข้อ ควรระบุให้ชัดเจนว่าเป็น “ข้อตกลง” (Agreement) หรือ “สัญญา” (Contract) ไม่ใช่หนังสือแสดงเจตนา หรือหนังสือแจ้งให้ทราบ (notice) หรือ อื่น ๆ ตัวอย่าง: ตามกฎหมายประเทศจีน ผู้รับจ้างต้องลงนามสัญญาจ้างงานกับผู้ว่าจ้างภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ผู้รับจ้างเริ่มปฎิบัติงาน มิฉะนั้น จะถือว่าผู้ว่าจ้างกระทำผิดกฎหมาย จะถูกปรับโดยจ่ายเงินเป็น 2 เท่าของเงินเดือนให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างบางแห่งไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ คิดเพียงว่ามี “หนังสือตอบรับ” แล้วไม่ต้องทำสัญญาก็ได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจีน เนื่องจากชื่อหนังสือไม่ได้ระบุว่าเป็น “สัญญา”
8.2 การตรวจสอบความสามารถของคู่สัญญา ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ควรระมัดระวังในการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เช่น ใบอนุญาตของคู่สัญญายังไม่หมดระยะเวลาที่สามารถประกอบธุรกิจได้ใช่หรือไม่ มีข้อกำหนดขอบเขตว่าสามารถประกอบธุรกิจอะไรได้บ้าง ได้ผ่านการตรวจสอบประจำปีของสำนักงานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แล้วหรือไม่ เป็นต้น เพื่อแน่ใจว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิในการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ควรพิจารณาว่า คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิหรืออำนาจในการทำสัญญาหรือไม่
8.3 สำหรับการทำสัญญาที่ต้องการคุณวุฒิเฉพาะอย่าง ควรตรวจสอบหนังสือรับรองคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง เพื่อแน่ใจว่าคู่สัญญามีสิทธิชอบธรรม และมีผลบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ และสามารถประกอบกิจการในขอบเขตที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ที่สำคัญคือ ควรพึงระลึกว่า คุณวุฒิเป็นสิ่งที่ไม่สามารถให้ยืมกันได้ระหว่างบริษัทที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันหรือบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน มิเช่นนั้นสัญญาจะตกเป็นโมฆะ
8.4 สำหรับสัญญาที่มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ควรตรวจสอบว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีใบอนุญาตการผลิตหรือใบอนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎระเบียบหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสัญญามีผลบังคับใช้
8.5 หากอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจ ควรตรวจสอบว่ามีหลักฐานการรับมอบอำนาจจริง และควรระมัดระวังในการตรวจสอบว่าคนที่ได้รับการมอบอำนาจนั้นลงนามสัญญานอกเขตอำนาจหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการลงนามสัญญาที่เป็นโมฆะ
**ประเทศจีนมีกฎระเบียบมากมาย นอกจากมีที่รัฐบาลกลางกำหนดแล้ว ยังมีกฎระเบียบปลีกย่อยที่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้กำหนด ซึ่งมีผลบังคับใช้เช่นกัน และแม้ว่ากฎระเบียบปลีกย่อยเหล่านี้อาจจะไม่ถึงกับทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะ แต่อาจจะทำให้คู่สัญญาได้รับการลงโทษทางปกครองได้
(ข้อมูลเรียบเรียงจากบทความเกร็ดความรู้ในการลงนามสัญญาในจีนและการจัดตั้งบริษัทต่างชาติในจีน โดยศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อบทความน่ารู้)
สำหรับตัวอย่างสัญญาการค้าที่ใช้กับคู่ค้าจีนเพื่อใช้ในการศึกษาเป็นข้อมูลเบื้องต้นนั้น สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.diyifanwen.com
อย่างไรก็ดี ข้อแนะนำที่ยกมานี้เป็นข้อควรคำนึงเพียงบางส่วนเท่านั้น ผู้ที่ต้องการทำสัญญาการค้าควรใช้ความระมัดระวังและควรขอคำปรึกษาแนะนำเพิ่มเติมโดยตรงในรายละเอียดจากสำนักงานกฏหมายที่มีความเชี่ยวชาญด้านสัญญาการค้าระหว่างประเทศเพื่อลงลึกในรายละเอียดในการรักษาผลประโยชน์ของคู่สัญญา