นครหนานหนิงวาง Positioning ชัด เป็น “พื้นที่นำร่องการใช้ดิจิทัลหยวนกับอาเซียน”

6 Jun 2023

 

ประเทศจีนได้ทวีบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลกมากขึ้นทุกขณะ สะท้อนได้จากการที่ประเทศจีนมีการเชื่อมโยงด้านการค้า การลงทุนและการเงินกับภูมิภาคอื่นทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสาคัญ ด้วยเหตุนี้ การขยับตัวและการตัดสินใจดำเนินนโยบายใด ๆ ของจีนจึงได้รับความสนใจจากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงนโยบายการผลักดันสกุลเงินหยวนสู่สากล หรือ RMB Internationalization ซึ่งมี ‘ดิจิทัลหยวน’ เป็นหนึ่งในเครื่องมือชิ้นสำคัญด้วย

‘ดิจิทัลหยวน’ หรือที่เรียกสั้นๆว่า e-CNY เป็นอีกวิวัฒนาการด้าน FinTech ของจีนที่ก้าวหน้าไปอีกขั้นจาก e-Wallet ซึ่งรัฐบาลจีนกำลังเร่งส่งเสริมให้มีการทดลองใช้ในเมือง/เขตที่เป็นจุดนำร่องทั่วประเทศจีน ก่อนที่จะมีการขยายผลการใช้งานให้แพร่หลายในวงกว้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจุดนำร่องที่กล่าวมาข้างต้นนั้น รวมถึง 2 เมืองในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ ‘อาเซียน’

หลังจากที่เมื่อเดือนธันวาคม 2565 “นครหนานหนิง” เป็น 1 ใน 2 เมืองของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่ได้รับการอนุมัติให้เป็น ‘จุดทดลองดิจิทัลหยวน’ ของประเทศจีน (อีกเมือง คือ เมืองฝางเฉิงก่าง) ธนาคารประชาชนจีน หรือแบงค์ชาติจีน สาขาศูนย์หนานหนิง (กำกับดูแลทั้งเขตฯ กว่างซีจ้วง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้ร่วมกันวางแนวทางการดำเนินงาน ‘จุดทดลองดิจิทัลหยวน’

นครหนานหนิงได้ส่งเสริมให้มีการทดลองใช้ ‘หยวนดิจิทัล’ ใน 9 กรอบสถานการณ์ (Scenarios) ได้แก่ การค้าปลีกในย่านธุรกิจ โรงอาหารอัจฉริยะ การเดินทางอัจฉริยะ นิคมอัจฉริยะ การแพทย์อัจฉริยะ การชำระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ การใช้บนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต และธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน โดยเฉพาะใน 6 กรอบ (Scenarios) ที่เป็น ‘อัตลักษณ์หนานหนิง’ ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยหนานหนิง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ แพลตฟอร์มการให้บริการในภูมิภาค และการฟื้นฟูและพัฒนาชนบท

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการเงินหนานหนิง เปิดเผยว่า นครหนานหนิงกำลังเร่งผลักดันการพัฒนาสร้างพื้นที่ศูนย์กลาง (Core area) ทางการเงินที่เปิดสู่อาเซียน และผลักดันความคืบหน้าของการนำนโยบายนำร่องมาทดลองใช้ อาทิ การส่งเสริมการไหลเวียนข้ามพรมแดนแบบสองทางของสกุลเงินหยวนให้มีความสะดวก (Crossborder RMB two-way flow facilitation service) นครหนานหนิงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้าง ‘พื้นที่นำร่องการใช้เงินหยวนดิจิทัลกับอาเซียน’

ข้อมูล ณ ปลายเดือนเมษายน 2566 นครหนานหนิงมีการเปิดใช้ ‘กระเป๋าเงินหยวนดิจิทัล’ แล้ว 4.3 แสนใบ มีผู้ค้าที่รับเงินหยวนดิจทัล 1.73 แสนราย มีรายการค้า 7.57 แสนรายการ ยอดการค้า 402 ล้านหยวน

ล่าสุด นครหนานหนิง เป็นเมืองแรกในประเทศจีนที่ปล่อย ‘สินเชื่อดิจิทัลหยวน’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจ (Postal Savings Bank of China สาขากว่างซีได้ปล่อยสินเชื่อที่เป็นเงินหยวนดิจิทัลให้ภาคธุรกิจเพื่อใช้ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนการใช้ถ่านหินแบบเดิม) และเมืองแรกในกว่างซีที่สามารถนำ ‘หยวนดิจิทัล’ มาใช้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการแพทย์อัจฉริยะ

หลายปีมานี้ นครหนานหนิงได้ดำเนินการปฏิรูปภาคการเงินในเชิงลึก โดยเฉพาะการใช้เงินหยวนกับอาเซียน โดยได้พัฒนาธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดนรูปแบบใหม่หลายสิบรายการ และผลักดันให้มีการนำผลงานของนวัตกรรมทางการเงินไปใช้ประโยชน์จริง อาทิ นวัตกรรมทางการเงินข้ามแดนสำหรับภาคธุรกิจภายใต้กรอบระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (International Land and Sea Trade Corridor: ILSTC) อย่างการระดมทุนและการชำระบัญชีการค้าด้วยสกุลเงินหยวนข้ามแดน

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Financial Town ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงของนครหนานหนิง ให้เป็นศูนย์กลางการเงินสกุลเงินหยวนนอกประเทศจีนระดับภูมิภาค (Offshore Financial Center – OFC) เป็นศูนย์กลางธุรกรรมการชำระบัญชีการซื้อ-ขายสกุลเงินระดับภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านการลงทุนและระดมทุนข้ามแดน ข้อมูล ณ ปลายเดือนมีนาคม 2566 ย่านการเงินแห่งนี้มีสถาบันการเงิน (บริษัท) เข้าจัดตั้งกิจการแล้ว 432 ราย

นครหนานหนิงกำลังส่งเสริมการใช้ ‘หยวนดิจิทัล’ ไม่ว่าจะเป็นระบบการประยุกต์ใช้งานที่คล่องตัว ระบบการรับ-จ่าย สถานการณ์การใช้งาน และรูปแบบการชำระเงินที่มีความครอบคลุม เพื่อให้เกิดระบบนิเวศของการใช้เงินหยวนดิจิทัล รวมทั้งพัฒนา ‘ต้นแบบ’ การบริการและการกำกับดูแลด้านการชำระเงินดิจิทัลหยวน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาให้นครหนานหนิงเป็น ‘พื้นที่ความร่วมมือด้านการพัฒนาเชิงบูรณาการในอุตสาหกรรมข้ามแดนระหว่างจีน-อาเซียน’ และเร่งพัฒนาให้นครหนานหนิงเป็นมหานคร (Mega city) ระดับสากลที่เปิดสู่อาเซียน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมา นครหนานหนิงมีความก้าวหน้าในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและการประกันภัยระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายนำร่องด้านการทำธุรกรรมการเงินสกุลเงินหยวนข้ามแดน การอนุมัติสินเชื่อสกุลเงินหยวนในโปรเจกต์นอกประเทศจีน รวมถึงการทำธุรกรรมการเงินต่างประเทศสำหรับบัญชี Non-Resident Account (NRA) โดยนครหนานหนิงเป็นเมืองแรกในจีนที่ทำตั๋วแลกเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบัญชี NRA ของผู้ค้าในต่างประเทศได้สำเร็จ (โดย Guilin Bank) ขณะที่ศูนย์บริการประกันภัยอาเซียนของบริษัท Taiping Insurance (มีสาขาในประเทศไทย) ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การประกันภัยในอาเซียนด้วยการเปิดกรมธรรม์คุ้มครองเงินหยวนเป็นรายแรกในแวดวงธุรกิจประกัน

บีไอซี เห็นว่า การส่งเสริมการใช้ ‘ดิจิทัลหยวน’ ที่แพร่หลายมากขึ้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ ‘พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน’ และ ‘ระบบการค้าต่างประเทศ’ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับการปฏิวัติรูปแบบการชำระเงินด้วยเงินสดไปสู่ e-Wallet ของ Alipay และ Wechat Pay ยิ่งในบริบทที่นครหนานหนิงเป็น ‘จุดนำร่องดิจิทัลหยวนของจีนที่มุ่งสู่อาเซียน’ เชื่อว่า ในอนาคต จะมีการนำนโยบายเกี่ยวกับการใช้ ‘หยวนดิจิทัล’ ระหว่างจีนกับอาเซียนมาเริ่มทดลองใช้นครหนานหนิงก่อนที่จะขยายผลในระดับประเทศ และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมและปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบการเงินระหว่างประเทศของจีน

 

 

จัดทำโดย : นางสาวหยาง อีเต๋ นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี
เรียบเรียงโดย  : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ http://dmxxg.gxzf.gov.cn (中国东盟信息网) วันที่ 15 พฤษภาคม 2566
เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 13 พฤษภาคม  2566
เว็บไซต์ http://tradeinservices.mofcom.gov.cn (中国服务贸易指南网) วันที่ 22 ธันวาคม 2565

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน