ท่าเรือเป๋ยไห่ของกว่างซีนำเข้า “มันเส้น” พุ่งสูง ผู้ประกอบการไทยพร้อมแค่ไหน?

17 Jul 2014

เว็บไซต์ข่าวอ่าวเป่ยปู้ : สถานการณ์นำเข้ามันสำปะหลังแห้ง (หรือที่คนไทยเรียกสั้น ๆ ว่า มันเส้น) ผ่านท่าเรือเมืองเป๋ยไห่ของกว่างซีมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำนักงานศุลกากร เปิดเผยว่า ช่วง 6 เดือนแรก ปี 57 ท่าเรือเมืองเป๋ยไห่มีการนำเข้ามันสำปะหลังแห้งสูงถึง 2.38 แสนตัน ขยายตัวสูงถึง 1.9 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

มันสำปะหลังแห้ง (มันเส้น) เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล (Ethanol) และกรดมะนาว (Citric acid)

หลายปีมานี้ ประเทศจีนมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอลพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ทว่า ศักยภาพการผลิตในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมากในแต่ละปี

เจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากร ชี้ว่า สถานการณ์การนำเข้ามันสำปะหลังแห้งผ่านด่านท่าเรือเมืองเป๋ยไห่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าเทกอง (Bulk) ที่สำคัญของท่าเรือฯ

กล่าวคือ เมื่อปี 56 มีการนำเข้ามันสำปะหลังแห้งมากเป็นอันดับ 6 ในบรรดาสินค้าเทกองทั้งหมดที่มีการนำเข้าผ่านท่าเรือเมืองเป๋ยไห่

ขณะที่ครึ่งปีแรกปี 57 ปริมาณนำเข้าขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 รองจากถั่วเหลือง (ใช้สำหรับการผลิตน้ำมันและอาหารสัตว์) และสินแร่นิเกิล

แหล่งนำเข้าหลัก คือ เวียดนาม และไทย ข้อมูลช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ มีการนำเข้าจากเวียดนามมากถึง 1.39 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด

กลุ่มผู้นำเข้าหลักเป็นกิจการร่วมทุน และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากที่สุด ข้อมูลตั้งแต่ปี 55 มิ.ย.57 กิจการร่วมทุนมีปริมาณนำเข้ารวม 4.74 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 67.62 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด (เฉพาะ 6 เดือนแรกที่ผ่านมา มีการขยายตัวสูงถึง 5.7 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน)

BIC เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ประกอบการนำเข้ามันสำปะหลังชาวจีน และได้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการจีนนิยมนำเข้ามันเส้นจากเวียดนามมากกว่าไทย เนื่องจากปัญหาเรื่องคุณภาพมันเส้น ฝุ่นผง และวัตถุเจือปน (เศษหินดินทราย)

ดังนั้น ผู้ผลิตมันเส้นไทยจำเป็นต้องปรับปรุงขั้นตอนในการผลิตให้ได้มันเส้นชิ้นใหญ่และฝุ่นผงน้อยลง รวมถึงปรับปรุงวิธีการจัดเก็บและการส่งออกไม่ให้เกิดฝุ่นผงเพิ่มขึ้น

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน