ท่าเรือฝางเฉิงก่างครองแชมป์นำเข้า “แร่ทองแดง” มากที่สุดในจีน
25 Feb 2016เว็บไซต์ข่าวเมืองฝางเฉิงก่าง: ปริมาณการนำเข้า "สินแร่ทองแดง" ผ่านท่าเรือฝางเฉิงก่างมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ท่าเรือแห่งนี้กลายเป็นด่านนำเข้าสินแร่ทองแดงที่สำคัญของประเทศจีน
สำนักงาน CIQ เมืองฝางเฉิงก่าง (防城港检验检疫局) ให้ข้อมูลว่า ปี 2558 ท่าเรือฝางเฉิงก่างมีปริมาณการนำเข้าสินแร่ทองแดง 1.761 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.1 (YoY) คิดเป็นมูลค่า 2,396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1 (YoY)
ปัจจัยหลักที่ทำให้ท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นด่านนำเข้าสินแร่ทองแดงที่สำคัญของประเทศจีน คือ
หนึ่ง ความต้องการใช้สินแร่ทองแดงจำนวนมหาศาลของบริษัท Guangxi Jinchuan Nonferrous Metal (广西金川有色金属公司) ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในท่าเรือฝางเฉิงก่าง เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทแห่งนี้มีการนำเข้าสินแร่ทองแดง 138 ล็อต น้ำหนักรวม 1.386 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 78.7 ของปริมาณนำเข้าผ่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง
สอง การเร่งกักตุนสินแร่ทองแดงของวิสาหกิจจีน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ราคาทองแดงของตลาดต่างประเทศตกต่ำ ส่งผลให้ราคาทองแดงในต่างประเทศมีราคาถูกลงใกล้เคียงกับราคาในประเทศ
สาม การแปรรูปและสกัดแร่ทองแดงให้บริสุทธิ์ (Refine) มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้โรงงานมีกำไรเพิ่มมากขึ้นจากการนำเข้าสินแร่เพื่อมาแปรรูปในประเทศ โรงงานจึงมีการนำเข้าวัตถุดิบจำนวนมากเพื่อขยายปริมาณการผลิต
สำนักงาน CIQ เมืองฝางเฉิงก่างได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์ที่ปริมาณการนำเข้าสินแร่ทองแดงเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน สินค้าที่นำเข้ากลับมีคุณภาพที่ลดง ในประเด็นดังกล่าว สำนักงาน CIQ ได้มีการเตือนผู้นำเข้าให้ระมัดระวังและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของตนเองตามกฎหมายอย่างรอบคอบ
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือฝางเฉิงก่าง เป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตั้งเกี๋ย) ท่าเรืออีกสองแห่ง คือ ท่าเรือชินโจว และท่าเรือเป๋ยไห่ ซึ่งในแนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการตามแนว "ดุลยภาพใหม่" (New normal) เพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ มีการกล่าวถึงฟังก์ชั่นของท่าเรือข้างต้น
กล่าวคือ ท่าเรือฝางเฉิงก่างจะทำหน้าที่ด้านการขนส่งสินค้าเทกอง (Bulk) โดยท่าเรือฝางเฉิงก่างดูแลพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเช่นเดียวกับท่าเรือเป๋ยไห่ที่แบ่งหน้าที่ให้ดูแลพื้นที่จีนตอนใต้ และภาคกลางตอนล่างของประเทศ ส่วนท่าเรือชินโจว เป็นแกนกลางคอยรับผิดชอบงานขนส่งตู้คอนเทนเนอร์
ทั้งนี้ สถานการณ์การนำเข้าในปัจจุบันมีลักษณะสอดคล้องกับเป้าหมายการทำงานข้างต้นมากพอสมควร สะท้อนได้จากการที่ "ท่าเรือฝางเฉิงก่าง" ติดอันดับท่าเรือนำเข้าสินค้าเทกองหลายรายการ นอกจากสินแร่ทองแดงแล้วยังมี "กำมะถัน" หรือซัลเฟอร์ (Sulfur) ที่ท่าเรือแห่งนี้มีการนำเข้ามากเป็นอันดับหนึ่งของจีน ด้วยตัวเลขกว่า 2.87 ล้านตันในปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าสินค้าราว 448 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อ 9 ต.ค.2557 สำนักงาน AQSIQ ได้ประกาศอนุมัติให้ท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นด่านนำเข้าธัญพืช (รวมถึงข้าว) ในบัญชีรายชื่อชุดแรกของประเทศจีน พร้อมๆ กับท่าเรือเมืองชินโจวและท่าเรือ(แม่น้ำ)เมืองอู๋โจวของกว่างซี
และล่าสุดเมื่อ 24 เม.ย.2558 ท่าเรือแห่งนี้เพิ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน AQSIQ ให้มีสิทธินำเข้าผลไม้เป็นด่านแห่งที่ 3 ของมณฑลต่อจากด่านทางบกโหย่วอี้กวนเมืองผิงเสียง (ไม่รวมด่านการค้าชายแดนผู่จ้ายและอื่นๆ ที่อนุญาตให้สินค้าเวียดนามนำเข้ามาได้) ด่านท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียงเมืองกุ้ยหลิน
ลิงค์ที่น่าสนใจ
– ทำไม?? จึงพูดว่า "กว่างซี" เป็นฐานกระจายผลไม้อาเซียนที่ใหญ่ที่สุดของจีน (17 ก.พ. 2559)
– ท่าเรือในอ่าวเป่ยปู้ เป็นทางเลือกใหม่ของการขนส่งสินค้าทางเรือสู่จีน (12 ม.ค. 2559)
– อนุมัติแล้ว!! ท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็น "ด่านนำเข้าผลไม้" ใกล้ไทยที่สุด (07 พ.ค. 2558)
– รัฐบาลกลางไฟเขียว ‘3 เมืองท่า’ ของกว่างซี เปิดสิทธินำเข้าธัญพืช (Grain) (21 ต.ค. 2557)