ทำเลทองของนักลงทุน เมืองฝางเฉิงก่างดันพื้นที่เลียบท่าเรือเป็นศูนย์กลางนิคมอุตสาหกรรมหนัก
12 Jul 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : เมืองฝางเฉิงก่างอาศัยจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้ง พัฒนาเขตท่าเรือเป็นฐานอุตสาหกรรมหนักที่มีมูลค่าการผลิตแสนล้านหยวน
เขตอุตสาหกรรมฉี่ซา (Qi Sha Industrial Zone, 企沙工业区) ในท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่างได้รับการกำหนดเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแสนล้านหยวนของกว่างซี โดยถูกระบุอยู่ใน “ข้อคิดเห็นว่าด้วยการเร่งส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเขตฯ กว่างซีจ้วง” ของรัฐบาลกลาง
|
ที่มา : http://www.bbw.gov.cn/ |
ในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวมีนิคมอุตสาหกรรมเลียบท่าเรือต้าซีหนาน(ฝางเฉิงก่าง) (Da Xi Nan (Fangchenggang) Port Industrial Zone, 大西南(防城港)临港工业园区) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2546 เป็นหัวใจสำคัญ และถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมสำคัญของเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซีด้วย
ตลอดหลายปีในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้นิคมอุตสาหกรรมฯ ต้าซีหนานกำลังกลายเป็นพื้นที่รวมตัวของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
จุดเด่นของนิคมฯ นอกจากด้านทำเลที่ตั้งเลียบท่าเรือขนาดใหญ่ มีระบบคมนาคมขนส่งที่ค่อนข้างสมบูรณ์ทั้งทางถนน รถไฟ และเรือ ยังมีในส่วนของนโยบายส่งเสริมภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ต่างๆ อาทิ กรอบยุทธศาสตร์การเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่ชายทะเล กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก กรอบยุทธศาสตร์การเปิดสู่ภายนอกอ่าวเป่ยปู้กว่างซี กรอบนโยบายชนชาติส่วนน้อย และกรอบนโยบายพื้นที่ชายแดน
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมโครงเหล็ก อุตสาหกรรมถลุงโลหะและวัสดุก่อสร้าง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักในนิคมฯ มีวิสาหกิจเข้าจัดตั้งธุรกิจแล้ว 29 ราย มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 16,000 ล้านหยวน (มูลค่าการผลิตทั้งนิคมอยู่ที่ประมาณ 70,000 ล้านหยวน)
จึงกล่าวได้ว่านิคมแห่งนี้เป็นฐานอุตสาหกรรมโครงเหล็ก และฐานอุตสาหกรรมถลุงโลหะและวัสดุก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ
สำหรับเป้าหมายในปีนี้ นิคมฯ เน้นส่งเสริมและขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรม (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลายน้ำ) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิตแสนล้านหยวนโดยเร็ว โดยประเภทอุตสาหกรรมที่จะผลักดัน ได้แก่ เหล็กกล้า พลังงานนิวเคลียร์ นิกเกิล ทองแดง ฟอสฟอรัส ซัลเฟอร์ ถลุงโลหะ การแปรรูผลิตภัณฑ์เหล็ก วัสดุใหม่ และน้ำมันพืช
อย่างไรก็ดี นิคมฯ ได้กำหนดคุณสมบัติของโครงการลงทุนว่าจะต้องเป็นโครงการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Benefits) สิ้นเปลืองทรัพยากรต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ