ทางการจีนปรับระเบียบการประมูล หวังปิดประตูการนำน้ำตาลต่างประเทศมาย้อมแมวเข้าคลังสำรองน้ำตาลของชาติ
23 May 2013เว็บไซต์ข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : รัฐบาลกลางจีนเตรียมดำเนินมาตรการสำรองน้ำตาลภายในประเทศ รอบ 2 เพื่อคลายแรงกดดันจากราคาน้ำตาลในต่างประเทศที่มีต่อราคาน้ำตาลในประเทศ
คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission:NDRC, 国家发改委) เปิดเผยปริมาณสำรองไว้ที่ 3 แสนตัน ราคารับซื้อตันละ 6,100 หยวน (ราคารวมภาษีในนครหนานหนิง) โดยจะทำการซื้อขายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 09:00 – 17:00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ในส่วนของน้ำตาลที่ยังไม่ได้ตกลงซื้อขายสำเร็จจะถูกสะสมไว้สำหรับการซื้อขายในรอบถัดไป
บุคคลในแวดวงธุรกิจน้ำตาล เห็นว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดแรงกดดันจากน้ำตาลในต่างประเทศแล้ว ยังเป็นผลดีในแง่ของการคุ้มครองผู้ผลิตน้ำตาลภายในประเทศและการช่วยรักษาผลประโยชน์ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการสำรองน้ำตาลในครั้งนี้ต้องใช้คำว่า “ชัดเจน” และ “รัดกุม” มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ (1) จะดำเนินการซื้อขายกับวิสาหกิจผู้ผลิตน้ำตาลโดยตรง และ (2) รับซื้อน้ำตาลทรายขายเฉพาะที่ผลิตภายในประเทศที่ผลิตหลังเดือนมกราคม 56
ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นผลมาจากการประมูลซื้อขายน้ำตาลในครั้งก่อนผิดวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการรักษาระดับราคาน้ำตาลภายในประเทศ เนื่องจากไม่มีการระบุคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลอย่างชัดเจน ทำให้วิสาหกิจนำเข้าน้ำตาลและพ่อค้าคนกลางจำนวนมากยื่นซองเข้าร่วมประมูล
ท้ายที่สุดส่งผลให้มีน้ำตาลนำเข้าจากต่างประเทศไหลเข้าคลังแทนที่จะเป็นน้ำตาลที่ผลิตขึ้นในประเทศ ทำให้มาตรการดังกล่าวขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ชัดเจน
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีนี้ ทางการจีนวางแผนสำรองน้ำตาลเข้าคลังทั้งหมด 3 ล้านตัน โดยครั้งแรกดำเนินการไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.55 และ 22 ม.ค.56 ปริมาณรวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านตัน
สำหรับสถานการณ์ผลิตน้ำตาลใน“เขตฯ กว่างซีจ้วง” ในฐานะ “ฐานการผลิตน้ำตาล” ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ (สัดส่วนร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ) นั้น ในฤดูหีบอ้อย ปี 55/56 มีโรงงานน้ำตาล 103 ราย ฤดูการผลิตยาว 202 วัน (เพิ่มจากฤดูกาลก่อน 18 วัน) เพิ่งจะสิ้นสุดฤดูหีบอ้อยไปเมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลผลิตน้ำตาลราวๆ 8 ล้านตัน (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน เม.ย.ได้ผลผลิตน้ำตาลแล้ว 7.836 ล้านตัน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.12 แสนตัน คิดเป็นอัตราส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7
สำหรับปริมาณการผลิตทั้งประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ 13 ถึง 13.3 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำตาลจะเกินกว่า 13.5 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศ แสดงว่า จีนยังต้องพึ่งพาน้ำตาลนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อชดเชยส่วนขาดดังกล่าวอย่างแน่นอน
จึงกล่าวได้ว่า ช่วงระยะเวลาอันใกล้ จีนยังคงต้องเผชิญปัญหาเสถียรภาพของราคาน้ำตาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากราคาน้ำตาลในประเทศอยู่ในภาวะซบเซา มาตรการหรือนโยบายภาครัฐไร้ผลชัดเจน ผู้ผลิตในประเทศขาดทุนหนัก (ต้นทุนการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น) รวมทั้งการป้องกันปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำตาลตามแนวตะเข็บชายแดนยังดำเนินการได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
แม้จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย BIC ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกน้ำตาลกับจีนอย่างรอบคอบ เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าอ่อนไหว จีนใช้ระบบโควต้าจำกัดการนำเข้า โดยภาษีนำเข้าน้ำตาลในโควต้าจัดเก็บในอัตราร้อยละ 15 (โควต้านำเข้า 1.945 ล้านตัน) และน้ำตาลนอกโควต้าจัดเก็บในอัตราร้อยละ 50
ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาด้วยว่าคู่ค้าของท่านมีโควค้านำเข้าน้ำตาลหรือไม่ ซึ่งผู้ที่ได้โควต้านำเข้าน้ำตาลส่วนใหญ่จะเป็นรัฐวิสาหกิจจีน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– คาดจีนยังต้องพึ่งน้ำตาลต่างประเทศ เหตจากต้นทุนการผลิตในประเทศพุ่ง (28 มีนาคม 2556)
– พาณิชย์จีนพร้อมอุ้มน้ำตาลจีน กว่างซีรับอานิสงส์ (8 มีนาคม 2556)
– ราคากลางราคารับซื้ออ้อยประจำฤดูกาล 55/56 ลดลงเล็กน้อย นักวิเคราะห์เชื่อจีนไม่นำเข้าน้ำตาลมากในปีนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2556)
– อากาศหนาวทำพิษ!! ปริมาณการผลิตน้ำตาลกว่างซีร่วงลง 5% (16 มกราคม 2556)