ทางการกว่างซีออกกฎเหล็กคุมเข้มมาตรฐานผู้ผลิตสตาร์ชมันสำปะหลัง
19 Jun 2014สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : ทางการกว่างซีบังคับใช้กฎระเบียบท้องถิ่นฉบับใหม่กับผู้ผลิตแป้งสตาร์ชมันสำปะหลังในท้องที่เขตฯ กว่างซีจ้วง เพื่อจัดระเบียบและปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรม รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการผลิต
“สตาร์ชมันสำปะหลัง” ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเกษตรเด่นและอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้จุดแข็งด้านทรัพยากรของกว่างซี นอกเหนือจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลปัจจุบัน กว่างซีมีกำลังการผลิตและปริมาณการผลิตสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ในกว่างซีมีวิสาหกิจแปรรูปสตาร์ชมันสำปะหลังมากกว่า 120 ราย มีกำลังการผลิตปีละ 4.6 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ
คณะกรรมาธิการมาตรฐานเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Standardization Administration, 广西标准化管理委员会) ได้อนุมัติ “มาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตของวิสาหกิจสตาร์ชมันสำปะหลัง” (Standardization of safety production of Cassava Starch Enterprises, 木薯淀粉企业安全生产标准化规范) เป็นที่เรียบร้อย
มาตรฐานดังกล่าวร่างขึ้นโดยสำนักบริหารงานตรวจสอบความปลอดภัยในการทำงานเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Administration of Work Safety, 广西安全生产监督管理局) เป็นกฎระเบียบท้องถิ่นฉบับที่ 2 ที่ทางการกว่างซีใช้บังคับกับผู้ผลิตในกว่างซีต่อจากมาตรฐานผู้ผลิตน้ำตาลอ้อย
เจ้าหน้าที่สำนักบริหารงานตรวจสอบความปลอดภัยในการทำงานฯ กล่าวว่า มาตรฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบมาตรฐานการผลิตของผู้ผลิตแป้งสตาร์ชมันสำปะหลังในกว่างซี
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็สามารถยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการความปลอดภัยภาคการผลิตในธุรกิจของตนเช่นกัน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะเป็นประเมินตรวจสอบกระบวนการผลิตแป้งสตาร์ชของผู้ผลิตในเขตพื้นที่ดูแล ตั้งแต่ขั้นตอนการนำวัตถุดิบเข้าสู่โรงงาน ระบบบริหารจัดการด้านการผลิต ระบบความปลอดภัยในการผลิต ระบบสุขอนามัย อุปกรณ์และเทคโนโลยีการผลิต กระบวนการบำบัดน้ำเสียและของเสียที่ปล่อยออกจากโรงงาน
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กว่างซี(ประเทศจีน)มีความต้องการบริโภคสตาร์ชมันสำปะหลังจำนวนมาก ซึ่งปริมาณการผลิตภายในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง แม้ว่าจะเป็นมณฑลที่มีกำลังการผลิตและปริมาณการผลิตสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ทว่า โครงสร้างการผลิตยังขาดความเข้มแข็ง ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรายย่อยซึ่งขาดเทคโนโลยีอันทันสมัย
แหล่งวัตถุดิบของกว่างซียังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม และไทย
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรนครหนานหนิง พบว่า ปีที่ผ่านมา (ปี 56) มันสำปะหลังแห้ง สตาร์ชมันสำปะหลัง และโมดิฟายด์สตาร์ช เป็นกลุ่มสินค้าเกษตรหลัก 3 อันดับแรกที่กว่างซีมีการนำเข้าจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 99 ของมูลค่าสินค้าเกษตรนำเข้าจากประเทศไทย