ทราบแล้วเปลี่ยน! นักวิจัยกว่างซีเจ๋ง พบวิธีรักษาความสดใหม่ “ลิ้นจี่”
3 Apr 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : นักวิจัยจากฝ่ายงานวิจัยแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร สถาบันเกษตรศาสตร์เขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Academy of Agricultural, 广西农科院) ใช้เวลา 3 ปี ในการคิดค้นวิธีรักษาคุณภาพ “ลิ้นจี่” คงความสดใหม่หลังเก็บเกี่ยวนานถึง 15 วัน
“ลิ้นจี่” เป็นผลไม้กึ่งเมืองร้อนที่เก็บรักษาได้ยากหลังจากเก็บเกี่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ส่งออก เพราะความที่เน่าเสียง่ายจึงต้องขนส่งแข่งกับเวลา ทำให้นักวิจัยต่างคิดค้นวิธีการรักษาความสดใหม่ของผลไม้ชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน การรักษาความสดใหม่ของ “ลิ้นจี่” ที่ได้รับนิยมมีอยู่ 2 วิธี คือ (1) การฉีดพ่นสารเคมีซึ่งทำได้ไม่ทั่วถึงมากนัก และ (2) การใช้สารรมควัน ซึ่งง่าย ได้ประสิทธิภาพ แต่ปริมาณสารที่ใช้ต้องมีความแม่นยำ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
นายซุน เจี้ยน (Sun Jian, 孙健) หัวหน้าฝ่ายงานวิจัยฯ เปิดเผยว่า วิธีการใหม่ที่ทีมวิจัยค้นพบ คือ การ “อาบน้ำ ทาครีม” ให้ลิ้นจี่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้ประสิทธิภาพดี และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่มีความยุ่งยากกว่า 2 วิธีข้างต้น
วิธีการดังกล่าวเป็นการนำลิ้นจี่ไปแช่ในน้ำที่มีการเติม “สารชีวภาพเพื่อรักษาความสดใหม่” เปรียบเสมือนการเพิ่มชั้นปกป้องอนุมูลอิสระให้กับผลลิ้นจี่ ทำให้เปลือกลิ้นจี่มีสีสวย คงความสดใหม่ และรสชาติไม่เปลี่ยน
สารชีวภาพดังกล่าว ประกอบด้วย สารระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (Bacteriostatic Agent) สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ซึ่งช่วยป้องกันหรือชะลอกระบวนการรวมตัวกับออกซิเจน (ทำให้เปลือกลิ้นจี่ไม่ดำ)
นอกจากนี้ ยังมีสาร Tea Polyphenols และกรดแอสคอร์บิค (Ascorbic Acid) หรือวิตามิน ซี ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างการมนุษย์ จึงตัดประเด็นความไม่ปลอดภัยของอาหารไปได้ และผลวิจัยดังกล่าวได้แจ้งจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อนึ่ง การรักษาความสดใหม่ของลิ้นจี่ เกษตรกรต้องใส่ใจตั้งแต่กระบวนการเก็บเกี่ยวจนถึงขนส่ง เลือกช่วงเวลาเช้าที่น้ำค้างแห้งแล้ว และยังแสงแดดไม่จัด ผลสุกประมาณร้อยละ 80-85 (ไม่ควรสุกจัด) เก็บเกี่ยวแล้วขนย้ายมารวมกันที่ร่ม เพื่อทำการตัดแต่งช่อผล คัดขนาด แบ่งเกรด บรรจุ เพื่อส่งจำหน่าย โดยลิ้นจี่้ควรเก็บรักษาในอุณหภูมิ 3-5 องศาเซลเซียส
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลิ้นจี่ได้รับการปลูกอย่างแพร่หลายบริเวณพื้นที่ตอนใต้ของจีน (มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกวางตุ้ง และเขตฯ กว่างซีจ้วง) เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค.-ส.ค.ของทุกปี
ช่วงปีที่ผ่านมา ความต้องการบริโภคลิ้นจี่ของชาวจีนเพิ่มขึ้นสวนทางกับพื้นที่ปลูกที่ลดลงกระทบกับปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ทำให้ราคาลิ้นจี่ในท้องตลาดจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น
วิธีการแบ่งเกรดลิ้นจี่ของกว่างซี แบ่งเป็น 3 เกรด คือ
1) เกรดคัดพิเศษ แบ่งเป็น ลิ้นจี่พันธุ์ที่มีผลใหญ่ กิโลกรัมละไม่เกิน 35 ลูก ส่วนลิ้นจี่พันธุ์ที่มีผลเล็ก กิโลกรัมละไม่เกิน 56 ลูก
2) เกรดหนึ่ง แบ่งเป็น ลิ้นจี่พันธุ์ที่มีผลใหญ่ อยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 35-40 ลูก ส่วนลิ้นจี่พันธุ์ที่มีผลเล็ก อยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 56-62 ลูก
3) เกรดสอง แบ่งเป็น ลิ้นจี่พันธุ์ที่มีผลใหญ่ กิโลกรัมละไม่เกิน 50 ลูก ส่วนลิ้นจี่พันธุ์ที่มีผลเล็ก กิโลกรัมละไม่เกิน 68 ลูก
ลิ้นจี่เป็นผลไม้ 1 ใน 23 ชนิดที่จีนอนุญาตให้ไทยส่งออกมายังจีน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของศุลกากรนครหนานหนิง (Nanning Customs, 南宁海关) พบว่า ปี 55 วิสาหกิจกว่างซีมีการนำเข้าลิ้นจี่สดจากต่างประเทศมากถึง 26,294 ตัน แต่ไม่พบการนำเข้าจากประเทศไทยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้รวมถึงการค้าผ่านตลาดการค้า/จุดผ่อนปรนการค้าตามแนวชาย แดนจีน-เวียดนาม ซึ่งสินค้า(ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน)ที่ผ่านเข้าออกบริเวณดังกล่าวไม่ต้องผ่าน พิธีการศุลกากร โดยชาวชายแดนจีนสามารถนำเข้าสินค้ามูลค่าไม่เกิน 8,000 หยวนต่อวันต่อคน