ตามกระแส!!! กว่างซีเล็งจัดตั้งกลไกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียน
11 Sep 2013สำนักข่าวซินหัว : (5 ก.ย.56) ทางการกว่างซีวางแผนจัดสรรเงินมูลค่า 1,000 ล้านหยวนสำหรับจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียนในนครหนานหนิง เพื่อสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างกัน
ในระหว่างฟอรั่มความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียน ประจำปี 2556 (ASEAN– China Environmental Cooperation Forum) ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองกุ้ยหลินของกว่างซี
นายหลาน เทียนลี่ (Lan Tian Li, 蓝天立) รองประธานเขตฯ กว่างซีจ้วง (เทียบเท่ารองผู้ว่าการมณฑล) กล่าวว่า ศูนย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียนจะทำหน้าที่เป็นกลไกความร่วมมือในระยะยาวในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และผลักดันการประหยัดพลังงานและรักษ์สิ่งแวดล้อมกับชาติสมาชิกอาเซียน
ยุคปัจจุบัน คำว่า “สีเขียว” และ “คาร์บอนต่ำ” เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในสังคม
นายหลานฯ ชี้ว่า สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของกว่างซีและอาเซียนมีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองฝ่ายกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่มีความเปราะบาง รวมถึงการขาดแคลนทรัพยากรและพลังงาน
กว่างซีในฐานะ “สะพาน” เชื่อมความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน จึงพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในภูมิภาคทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก เพื่อผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว”
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น นายหลานฯ เสนอว่า จีนและอาเซียนจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือในโครงการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดตั้ง “ศูนย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียน” นับเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาความร่วมมือด้านดังกล่าว
บทบาทของศูนย์ดังกล่าว มีดังนี้
(1) เป็นฐานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ฐานการฝึกอรบ และฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลของกว่างซีกับอาเซียน
(2) เป็นกลไกการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เช่น การบำบัดน้ำเสียและของเสีย การกำจัดขยะมูลฝอย การบำบัดน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาล
(3) เป็นแหล่งรวมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม การป้องกันและบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำสาธารณะ การแยกกำมะถันจากถ่านหินในโรงงานผลิตไฟฟ้า การควบคุมตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูดิน การป้องกันและบำบัดมลพิษจากสารโลหะหนัก และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมหมุนเวียนในโรงงานน้ำตาล เป็นต้น
(4) เป็นกลไกแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการคุ้มครองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมความร่วมมือด้านการควบคุมตรวจสอบและกักกันโรควัตถุอันตรายที่มีการนำเข้าส่งออก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านระบบมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรการประหยัดพลังงานและลดมลพิษ การผลิตที่สะอาด การรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
(5) เป็นกลไกส่งเสริมความร่วมมือด้านการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างแนวเชื่อมต่อทางชีวภาพ (Biological Corridor) ข้ามชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลข้ามชาติ การชดเชยเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco–compensation) การควบคุมตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม และการปราบปรามการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ เป็นต้น
ฟอรั่มดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Building up Partnership for Regional Green Transformation” (区域绿色发展转型与合作伙伴关系) โดยมีบุคคลในแวดวงวิชาการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ สำนักเลขาธิการจีน-อาเซียน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากอาเซียน โครงการสิ่้งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เป็นต้น