ซอกแซกเสฉวน-ฉงชิ่ง: BOI เคาะประตูเสฉวน เชิญชวนวิสาหกิจท้องถิ่นลงทุนในไทย

12 Jul 2013

เป็นที่ทราบกันดีว่า ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีนมีมาอย่างช้านาน และในช่วงหลายปีมานี้ความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายก็เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ทั้งในด้านวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่ทั้งสองฝ่ายเริ่มหันมาให้ความสำคัญ และตั้งเป้าหมายพัฒนาความร่วมมือให้ก้าวขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับภูมิภาคจีนตะวันตกที่ในปัจจุบันมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด

ช่วงกลางเดือน มิ.ย.56 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย (BOI) ได้จับมือกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มณฑลเสฉวน จัด “การสัมมนาแนะนำนโยบายด้านการลงทุนในประเทศไทย” ขึ้น เพื่อให้ข้อมูลภาพรวมและสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในเชิงลึกต่อกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนให้มีความเข้าใจประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และให้ข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ของ BOI รวมทั้งชักจูงให้ นักลงทุนชาวเสฉวน เกิดความสนใจในการ “ก้าวออกไป” ลงทุนยังประเทศไทยมากขึ้น

การสัมมนาดังกล่าว มีผู้แทนทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีนเข้าร่วมงานอย่างมากมาย ฝ่ายไทยนำโดยนางกัญธกา บุรพธานินทร์ รองกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู นายพิทยา เลิศมหาฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครเซี่ยงไฮ้ และนายสมบูรณ์ วาณิชวศิน ผจก.ทั่วไป ธนาคารกสิกรไทยสาขานครเฉิงตู ฝ่ายจีนนำโดยนางจาง หว่านหวา ผ.อ.สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มณฑลเสฉวน รวมทั้งสือมวลชนและนักลงทุนชาวเสฉวนกว่า 100 ราย ทั้งนี้ รองกงสุลใหญ่ได้เป็นประธานขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการสัมมนาฯ

รองกงสุลใหญ่ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เปิดงานสัมมนาฯ

นางกัญธกา บุรพธานินทร์ รองกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทยและจีนเป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือที่รัฐบาลของสองประเทศให้ความสำคัญนอกเหนือจากการค้า และการท่องเที่ยว อันเป็นเสาหลักของความร่วมมือระหว่างระหว่างไทยกับจีนภายใต้ความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

“ประเทศไทย” มีศักยภาพและจุดแข็งหลายประการ อาทิ เป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน ความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งภายในประเทศทั้งทางถนน ทางเรือ และทางอากาศ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและต่อเนื่อง

การจัดงานสัมมนาส่งเสริมการลงทุนที่นครเฉิงตูในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและความก้าวหน้าของความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างระหว่างไทยกับมณฑลเสฉวนในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แม้ว่าในปัจจุบัน มูลค่าการลงทุนระหว่างไทยกับมณฑลเสฉวนจะมีไม่มากนัก แต่เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดสัมมนาในวันนี้จะช่วยให้นักลงทุนชาวจีนตระหนักถึงศักยภาพและขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นศูนย์กลางฐานอุตสาหกรรมอาเซียน ตลอดจนนักลงทุนจีนจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับการเตรียมความพร้อมในลงทุนในประเทศไทยต่อไป

นายพิทยา เลิศมหาฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า“ประเทศไทย” คือหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจสำคัญในเอเชีย มีทำเลที่ตั้งอันเป็นเสมือนประตูสู่เอเชียทำให้สามารถผ่านไปสู่ประเทศต่างๆ ในเอเชียได้อย่างสะดวก และในปัจจุบันมีการดำเนินนโยบายการผ่อนคลายภาคการลงทุนจากนอกประเทศ สนับสนุนการลงทุนอิสระและการค้าแบบเสรี ซึ่งถือเป็นการเอื้อประโยชน์ในด้านการลงทุนต่อนานาประเทศทั่วโลกเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ประเทศไทยและเป็นแหล่งที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง กอปรกับนโยบายส่งเสริมภาคการลงทุนจากรัฐบาล ทั้งการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร หลักประกันคุ้มครองต่างๆ ในการทำธุรกิจ รวมทั้งไม่มีข้อกำจัดทางการส่งออกและการโอนเงินตราไปยังต่างประเทศ เพิ่มความสะดวกสบายและให้อิสระต่อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติอย่างยิ่ง

สำหรับมณฑลเสฉวน ศูนย์กลางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจีนตะวันตก ที่ในระยะหลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนได้รับการจับตามองจากทั่วโลกถึงการพัฒนาอันแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง มณฑลเสฉวนมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศไทยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

บรรยากาศทั่วไปในการสัมมนาฯ

มณฑลเสฉวนถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยมาโดยตลอด ในปี 2555 การนำเข้าและส่งออกระหว่างเสฉวนกับไทยมีมูลค่ารวม 552.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกจากเสฉวนไปไทย 401.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 70.2% สินค้าส่งออกจากเสฉวนสู่ไทยที่สำคัญ อาทิ วัสดุแม่เหล็ก เครื่องจักรสำหรับขุดเจาะ เป็นต้น และมูลค่าการนำเข้าของเสฉวนจากไทย 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.7% สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ เคมีอนินทรีย์ ส่วนประกอบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ สายไฟฟ้า เป็นต้น

ด้านการลงทุนของไทยในมณฑลเสฉวน มีมูลค่าการลงทุนรวม 50.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีบริษัทไทยที่เข้ามาลงทุนในเสฉวน รวม 92 แห่ง อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ลงทุนครอบคลุมทั้งธุรกิจอาหาร อาหารสัตว์ ชา เครื่องจักรกลและอุปกรณ์) ห้างสรรพสินค้าโลตัส และล่าสุดคือ ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น

การลงทุนของเสฉวนในไทย รวม 3 บริษัท ได้แก่ 1.Sichuan Huiyuan Optical Communication 2. Weibo Fibre – glass Reinforced of Plastics 3. Chengdu Lianxing Zhiye Fazhan Co.,Ltd. มูลค่าการลงทุนโดยรวมทั้งหมด 12.217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ BOI สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพรอบด้านอย่างมณฑลเสฉวน ที่รวบรวมวิสาหกิจชั้นนำที่แข็งแกร่งและนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์อันเฉียบคมไว้มากมาย กอปรกับเพื่อต้องการกระตุ้นภาคการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่ายให้มีความร่วมมือที่หลากหลายมากขึ้น จึงได้จัดการสัมมนาดังกล่าว เพื่อแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการชักชวนวิสาหกิจท้องถิ่นและกลุ่มนักลงทุนของมณฑลเสฉวนมาลงทุนยังประเทศไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่นอกจากเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยและมณฑลเสฉวนแล้ว อุตสาหกรรมดังกล่าวยังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ จึงถือเป็นโอกาสอันดีของวิสาหกิจมณฑลเสฉวนที่จะได้เข้ามาบุกตลาดไทยขยายช่องทางการทำธุรกิจออกสู่นอกประเทศ

นอกจากนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยยังจัดเป็นหนึ่งในสถานีท่องเที่ยวปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากถึง 22.3 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณ 2.8 ล้านคน ทำให้เกิดช่องว่างของการลงทุนในด้าน “อสังหาริมทรัพย์ในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ” ของไทย ซึ่งเป็นการลงทุนด้านใหม่ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับจ้องอย่างไม่ละสายตา

“การสัมมนาแนะนำนโยบายด้านการลงทุนในประเทศไทย” ในครั้งนี้ นับเป็นการที่ประเทศไทย “เปิดประตู”รองรับการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศอย่างอิสระ สร้างโอกาสและช่องว่างทางการลงทุนให้กับกลุ่มนักลงทุนชาวจีน โดยเฉพาะชาวเสฉวน และเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพการเป็นฐานการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายของประเทศไทย อีกทั้งการสัมมนาดังกล่าว ยังเปรียบเสมือน “สะพาน” ในการสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย เพื่อผลักดันไปสู่การพัฒนาและยกระดับทั้งภาคการค้าและการลงทุน สนองตอบนโยบาย “ก้าวออกไป” ของจีน และ “ชักจูงให้เข้ามา” ของไทยอย่างแท้จริง

สามารถสอบถามข้อมูลทั่วไปกับศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนได้โดยผ่านทางอีเมลล์ [email protected]

นายธวัช มหิตพงษ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

แหล่งที่มา จากการเข้าร่วมการสัมมนาแนะนำนโยบายด้านการลงทุนในประเทศไทยของบีโอไอ ณ นครเฉิงตู

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน