ซอกแซกเสฉวน-ฉงชิ่ง: ท่าอากาศยานเจียงเป่ย นครฉงชิ่ง กับก้าวย่างที่สำคัญแห่งการพัฒนาสู่สากล
16 Apr 2013ปัจจุบัน กระแสการพัฒนาและยกระดับเมือง ได้กลายเป็นกลไลสำคัญในการสานต่อความสำเร็จของพัฒนาการในปัจจุบัน และเป็นการปูทางเชื่อมโยงไปสู่ความสำเร็จในอนาคต เป็นสิ่งที่ไม่มีจุดสิ้นสุด มีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
แนวคิดทางการพัฒนา ถือเป็นกลยุทธ์หลักที่ทุกเมืองเน้นย้ำและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องตามสภาพการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนจุดเด่นและจุดด้อยของเมืองนั้นๆ
นครฉงชิ่ง เมืองระดับแนวหน้าแห่งภาคตะวันตกของจีน ที่หลายปีมานี้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อีกทั้งเปี่ยมด้วยศักยภาพสำหรับการพัฒนาในระยะยาว โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งเป็นที่สุด โดยเฉพาะการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางอากาศ ที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นระบบการขนส่งที่สอดคล้องกับวิถีชิวิตยุคใหม่อย่างแท้จริง ด้วยขั้นตอนและวิธีการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็ว
การเดินทางทางอากาศ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมือง อีกทั้งเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศ ตอบโจทย์กระแสการพัฒนาเมืองและรองรับความเป็นสากลในยุคโลกาภิวัฒน์ได้เป็นอย่างดี
โดยรัฐบาลจีนมีแผนนโยบายพัฒนานครฉงชิ่งให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศ มีโครงข่ายคมนาคมที่กว้างขวางและเพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีครบวงจรที่สุดในจีน
ในปัจจุบัน นครฉงชิ่งมีท่าอากาศยานที่เปิดให้บริการทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย ท่าอากาศยานว่านโจว และท่าอากาศยานเฉียนเจียง นอกจากนี้ ยังมีสนามบินอีก 2 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ ท่าอากาศยานอู่หลงและท่าอากาศยานอูซาน

ภาพตำแหน่งที่ตั้งสนามบินทั้ง 5 แห่งของนครฉงชิ่ง
ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย นครฉงชิ่ง 1 ใน 3 ท่าอากาศยานสำคัญของจีนตะวันตก 1 ใน 10 ท่าอากาศยานขนาดใหญ่ของจีน และ1 ใน 100 อันดับท่าอากาศยานของโลก ที่ในปัจจุบันได้รับการจับตามองอย่างยิ่งจากทั่วโลกในด้านพัฒนาการเปลี่ยนแปลง


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ท่าอากาศยานเจียงเป่ย เริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2533 ตั้งอยู่ในเขตอวี๋เป่ย ห่างจากศูนย์กลางนครฉงชิ่งประมาณ 21 กม.มีอาคารที่พักผู้โดยสารจำนวน 3 แห่ง ปัจจุบันมีสายการบินตรงทั้งภายในและต่างประเทศกว่า 50 เมือง และมีสายการบินที่เปิดให้บริการทั้งสิ้น 43 สาย
ทวีป | สถานีปลายทางระหว่างประเทศ ของท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย | รวม เส้นทางบิน |
---|---|---|
เอเชีย | กรุงเทพฯ ภูเก็ต (ไทย) ฮ่องกง มาเก๊า โซล เกาะเซจู (เกาหลีใต้)โตเกียว นาโกยา (ญี่ปุ่น) ไถเป่ยถาวหยวน ไถเป่ยซงซาน ไถจง เกาสง (ไต้หวัน) สิงคโปร์ เสียมราฎ (กัมพูชา) ฮานอย (เวียดนาม) ดาร์กา (บังกลาเทศ) โดฮา (กาตาร์) มัลดีฟส์ | 18 |
ยุโรป | มิวนิค (เยอรมัน) เฮลซิงกิ (ฟินแลนด์) | 2 |
ตารางเส้นทางการบินระหว่างประเทศของท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย
ในปีแรกของการเปิดให้บริการ รองรับจำนวนผู้โดยสารเพียง 440,000 ราย ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ต่อมาท่าอากาศยานเจียงเป่ยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และได้เร่งเดินหน้าพัฒนาอย่างเต็มกำลัง จนในปี 2541 ได้เปิดให้บริการเส้นทางการบินตรงสู่ทวีปยุโรปแห่งแรกในจีนตะวันตก ยกระดับขึ้นเป็นท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย
หลังจากนั้น ตัวเลขของผู้โดยสารก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2547 รองรับจำนวนผู้โดยสารถึง 8,050,000 ราย และสามารถแทรกตัวเข้าเป็น 1 ใน 10 อันดับสนามบินยักษ์ใหญ่ของประเทศ
และไม่นานมานี้ “วอชิงตัน” หนังสือพิมพ์ชื่อดังของสหรัฐฯ รายงานสถิติท่าอากาศยานที่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุดระหว่างปี 2548 – 2553 ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย นครฉงชิ่งได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่ง โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นสูงถึง 137%
นอกจากนี้ ยังมีท่าอากาศยานของจีนอีกหลายแห่งที่ติด 1 ใน 10 ของการจัดอันดับดังกล่าว ได้แก่ นครซีอัน อันดับ 3 เพิ่มขึ้น 126% เมืองเซี่ยเหมิน อันดับ 4 เพิ่มขึ้น 110% นครเฉิงตู อันดับ 7 เพิ่มขึ้น 79% และนครหางโจว อันดับ 10 เพิ่มขึ้นที่ 77%
ผู้โดยสารส่วนใหญ่ได้แก่ กลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เชื่อมโยงจากการที่นครฉงชิ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญในจีนตะวันตก และเป็นฐานการผลิตยานยนต์และคอมพิวเตอร์แบบพกพาที่ใหญ่ที่สุดในจีน อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนวัฒนธรรมการเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์

ภาพจาก www.cq.xinhuanet.com
โดยในปี 2555 ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย รองรับผู้โดยสารทั้งสิ้น 22,030,000 ราย ซึ่งตัวเลขการใช้บริการของผู้โดยสารยิ่งเพิ่มขึ้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาเติบโตที่โดดเด่น
นอกจากนี้ ช่วงกลางปี 2555 คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนานครฉงชิ่ง ได้อนุมัติโครงการสร้างอาคารผู้โดยสารตะวันออกและสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 ของท่าอาศยานฯ โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 26,300 ล้านหยวน ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออกขนาด 4.5 แสน ตร.กม. และโครงการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 มีความยาว 3.8 กม.
โครงการดังกล่าวมีกำหนดที่จะดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2563 หากแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารทั้งจากในและต่างประเทศได้ถึง 45 ล้านคนต่อปี และรองรับการขนส่งสินค้าได้ถึง 1.1 ล้านตัน
จากความสำเร็จในการเป็นท่าอากาศยานยอดนิยม 6 ปีซ้อน สามารถทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ยมีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก แต่เป้าหมายในการก้าวขึ้นเป็นท่าอากาศยานระดับสากลอย่างเต็มตัว และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศที่สำคัญของทวีปเอเชียให้ได้ภายในปี 2578 ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลนครฉงชิ่งต่อการยกระดับในทุกด้านของการคมนาคมทางอากาศ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการเติบโตของนครฉงชิ่ง หากท่ากาศยานนานาชาติเจียงเป่ยสามารถพัฒนาก้าวหน้าจนประสบความสำเร็จบรรลุดั่งเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว “นครฉงชิ่ง” ก็จะยกระดับขึ้นสู่ความเป็นสากล ครองความยิ่งใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในจีนตะวันตกอย่างเต็มภาคภูมิ
สามารถสอบถามข้อมูลทั่วไปกับศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนได้โดยผ่านทางอีเมล์ [email protected]