ซอกแซกเสฉวน-ฉงชิ่ง กับความเป็นไปได้ของธุรกิจร้านอาหารไทย สปาไทย และธุรกิจค้าปลีกในนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งโดยสังเขป
13 Jun 20131. โอกาสของร้านอาหารไทย
เมื่อพูดถึงธุรกิจร้านอาหารในเขตจีนตะวันตก นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างสนใจเข้ามาเปิดตลาดและขยายสาขาในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง สองเมืองใหญ่แห่งตลาดผู้บริโภคที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจภาคการบริโภคในธุรกิจร้านอาหาร (ไม่รวมอาหารจานด่วนและอาหารว่าง) ของนครเฉิงตูในปี 2555 มีมูลค่า40,930 ล้านหยวน เติบโต 18.2% จากการสำรวจยังพบอีกว่าผู้บริโภคในนครเฉิงตูมีการใช้จ่ายในการรับประทานอาหารเฉลี่ย 76 หยวนต่อคน/ครั้ง
สำหรับนครฉงชิ่งมีมูลค่าภาคธุรกิจการบริการในส่วนของร้านอาหาร/ภัตตาคาร (ไม่รวมอาหารจานด่วนและอาหารว่าง) เป็นจำนวน 60,026 ล้านหยวน เติบโต 15.1% และผู้บริโภคในนครฉงชิ่งมีการใช้จ่ายในการรับประทานอาหารเฉลี่ย 68 หยวนต่อคน/ครั้ง

ร้านมอร์นิ่งบางกอก (早安曼谷泰国小餐吧)
ร้านอาหารไทยน้องใหม่ในนครเฉิงตูที่ให้ความรู้สึกและบรรยากาศเดียวกับร้านย่านถนนพระอาทิตย์ กทม.
จากตัวเลขเศรษฐกิจข้างต้นชี้ให้เห็นถึงภาคการบริโภคในธุรกิจร้านอาหารเติบโตอย่างรวดเร็ว และสะท้อนให้เห็นว่า ชาวนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งให้ความสำคัญกับ “การทาน” ในร้านอาหารเป็นอย่างมาก ซึ่งมากกว่า 90% คืออาหารเสฉวน หนึ่งใน 8 อาหารประจำชาติจีนที่ถือได้ว่ามีชื่อเสียงและอร่อยที่สุด
อาหารเสฉวนมีจุดเด่นตรงที่รสชาติเผ็ด (ชา) จัดจ้าน เน้นเค็ม ออกเปรี้ยว (น้ำส้มสายชูจีน) และปรุงด้วยน้ำมันพืชเป็นจำนวนมาก อาหารที่ออกมาจึงมีรสชาติที่หลากหลายและสีสันน่ารับประทาน อาทิ ผัดหมูสามชั้นเสฉวน เต้าหู้ทรงเครื่องเสฉวน (หม่าโผโตวฟุ) ปลาอาบน้ำมันพริกและสุกี้เสฉวน เป็นต้น ไม่แปลกใจเลยทีี่ชาวเฉิงตูและฉงชิ่งต่างภูมิใจในความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารพื้นถิ่นของตน จึงทำให้คนท้องถิ่นยากที่จะยอมรับรสชาติอาหารต่างวัฒนธรรม
ปัจจุบันการเติบโตอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง ที่นับว่ารวดเร็วที่สุดในเขตภาคตะวันตกของจีน ทำให้ประชาชนทั้งสองภูมิภาคมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ กอปรกับเมืองมีความเป็นสากล ประชาชนเริ่มเปิดใจยอมรับและเรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติที่หลากหลาย รวมถึงด้านอาหารการกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไทย
“อาหารไทย” หนึ่งในอาหารต่างชาติที่ได้เริ่มเข้ามาในตลาดเฉิงตู-ฉงชิ่งครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และในช่วงกี่้ปีมานี้ ชาวเฉิงตู-ฉงชิ่งรู้จักอาหารไทยมากขึ้นอย่างมากจากการไปท่องเที่ยวเมืองไทย ได้สัมผัสวัฒนธรรมการกินแบบไทย ที่มีรสชาติเผ็ดเปรี้ยว ถูกปากคนในสองภูมิภาคนี้ อีกทั้งภาพยนตร์และละครไทยที่เป็นที่แพร่หลายไปทั่วประเทศจีน รวมถึงล่าสุด ภาพยนตร์เรื่อง“ไท่จ่ง” ที่ได้ปลุกกระแสประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วไปในสังคมจีน ก็ยิ่งทำให้ความเป็นไทย โดยเฉพาะด้านอาหาร ตลอดจนการท่องเที่ยว สปาและสินค้าไทย ฯลฯ ได้รับการยอมรับในตลาดจีนตะวันตก
ในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ร้านอาหารไทยในมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งผุดขึ้นมากกว่า 50% ทำให้ในขณะนี้นครเฉิงตูมีร้านอาหารไทย 15 แห่ง (คนจีนเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมด) และนครฉงชิ่ง 19 แห่ง โดยมีคนไทยเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร (ถือหุ้น 100%) เพียงแห่งเดียว
สำหรับธุรกิจร้านอาหารไทยในทั้งสองภูมิภาค จากการสำรวจพบว่ายังมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคตเห็นได้จากจำนวนร้านอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนถึงความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่สนใจแสวงหาบริโภค อาหารที่มีระดับ ทันสมัย เน้นความพิถีพิถันและคุณภาพ ซึ่งอาหารไทยได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาหารหรูหราครองตลาดระดับบน โดยพิจารณาจากการใช้จ่ายในการบริโภคในร้านอาหารไทยในนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งโดยเฉลี่ยต่อคน/ครั้งอยู่ที่ระหว่าง 80-130 หยวน
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีความคิดที่จะขยายธุรกิจร้านอาหารไทยในมณฑลเสฉวนและฉงชิ่ง จำเป็นต้องศึกษากฎหมายการขออนุญาตประกอบกิจการร้านอาหาร กฏหมายแรงงาน (สำหรับกรณีการจ้างเชฟคนไทย) นโยบายแผนการพัฒนาเมืองในระยะยาว สัญญาต่างๆ ทำเลที่ตั้ง แหล่งตลาดวัตถุดิบอาหารไทย ลู่ทางการขนส่งสินค้า การสร้างพันธมิตรกับหน่วยงานท้องถิ่น และที่สำคัญจะต้องศึกษาพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายของผู้บริโภคให้ถ่องแท้
2. โอกาสของสปาไทย

cint spa หนึ่งในร้านสปา
ในบรรยากาศไทยในนครเฉิงตู
“สปาไทย” เริ่มเข้ามาในตลาดจีนตะวันตกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2547 และได้มีโครงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างนครเฉิงตูกับประเทศไทยในด้านนวดแผนไทยบำบัดโรค สปา และด้านศัลยกรรมความงาม รวมถึงแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวเสมือนเป็นการเปิดประตูให้ผู้บริโภคชาวเฉิงตูและฉงชิ่งเริ่มรู้จักและเข้าใจด้านสปาไทยมากขึ้น
หลังจากนั้นเป็นต้นมาสปาไทยเริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นในภูมิภาคนี้ และผู้ประกอบการสปาในนครเฉิงตู และนครฉงชิ่งมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้านการนวดแผนไทย และสปาเทอราปิสไทย เพื่อยกระดับธุรกิจของตนให้มีการบริการอย่างครบวงจร และมีความเป็นไทยอย่างแท้จริง ตลอดจนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ
สำหรับการลงทุนธุรกิจสปาระดับไฮเอ็นด์ (1000 ตร.ม.) ในจีนโดยสังเขป ผู้ประกอบการต้องมีเงินลงทุนอย่างน้อยประมาณ 3 ล้านหยวน เพื่อที่จะเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าระดับบนในภูมิภาคจีนตะวันตก ที่มีพฤติกรรมนิยมบริโภคสินค้าแบรนด์เนม รวมถึงชอบใช้บริการภายใต้สิ่งแวดล้อมที่หรูหราและฟุ่มเฟือย เพื่อบ่งบอกถึงความมีหน้ามีตา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในภูมิภาคนี้ให้ความสำคัญยิ่ง กอปรกับคนนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งมีความพิถีีพิถันในด้านความสวยความงาม ใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นสตรีที่มีรายได้สูง ดังนั้น สปาไทยที่ตั้งอยู่ในนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งล้วนจัดอยู่ในระดับไฮเอนด์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าว
ปัจจัยทั้งหมดในข้างต้น ล้วนเป็นโอกาสสำหรับการขยายธุรกิจสปาไทยในสองภูมิภาคนี้ ตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับสปาและผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม รวมถึงการตกแต่งสถานที่ในบรรยากาศของความเป็นสปาไทย สู่การนำเข้าผู้เชี่ยวชาญด้านความงามและสปาเทอราปิสไทย ตลอดจน การบริหารจัดการธุรกิจสปาไทยอย่างมีระบบ
จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการสปาในนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งล้วนแล้วแต่ดำเนินกิจการโดยคนจีน ซึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะทุ่มเม็ดเงินเข้ามาลงทุนธุรกิจสปาไทยอาจมีความเป็นไปได้ แต่จะต้องพิจารณาและเลือกสรรผู้ร่วมลงทุนธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ยุ่งยากในการยื่นเรื่องขอใบอนุญาติประกอบธุรกิจที่มีความเข้มงวดและซับซ้อน รวมถึงค่าเช่าค่าตกแต่งสถานที่มีทีราคาสูงลิ่ว และหาทำเลที่เหมาะสมได้ยากขึ้นทุกที นอกจากนี้ ยังต้องประสบกับปัญหาการตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสูง และความยากลำบากในการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญด้านสปาเทอราปิสไทยที่รัฐบาลจีนค่อนข้างเข็มงวดเป็นอย่างมาก
ความรู้เพิ่มเติม การให้บริการสปาไทยในนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งปัจจุบันมีราคาบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 800-1000 หยวนขึ้นไป
3. โอกาสของธุรกิจค้าปลีก
เศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลต่อรายได้ที่พุ่งสูงขึ้นของประชาชน การบริโภคภายในประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้คนใส่ใจและพิถีพิถันในการบริโภคสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่สมัยใหม่ได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในสังคมที่เน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก
การเข้ามารุกตลาดค้าปลีกของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งนั้น สะท้อนปัจจัยที่บ่งบอกถึงแนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาวของเมืองนั้นๆ ส่งผลให้ในทุกวันนี้ มีห้างสรรพสินค้าต่างๆ กระจายตัวผุดขึ้นอย่างมากมายทั่วโลก เพื่อยกระดับความเจริญในพื้นที่และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในชีวิตประจำวันอย่างครบวงจร
สำหรับตัวเลขการค้าปลีกตลอดปี 2555 ของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งมีมูลค่า 331,770 ล้านหยวนเพิ่มขึ้น 16.0% และ 336,093 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 16.1% ตามลำดับ จากตัวเลขค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีของทั้งสองภูมิภาคนี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศจับตามองการเติบโตและตั้งเป้าที่จะเข้ามาลงทุนขยายกิจการตั้งแต่ในรูปธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ห้างไฮเปอร์มาร์ท ซุปเปอร์มาร์เก็ต จนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กหรือคอนวีเนียนสโตร์
สำหรับภาพรวมพื้นที่ใช้สอยของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งในปี 2555 อยู่ที่ ประมาณ 5,160,000 ตารางเมตร และ 4,790,000 ตารางเมตร ตามลำดับ (ดังภาพด้านล่าง)

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
การเข้ามาดำเนินธุรกิจของห้างสรรพสินค้าชั้นนำจากทั่วโลกหรือแม้กระทั่งของจีนเอง ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
ด้าน CB RICHARD ELLIS (CBRE) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ปี 2556 วิสาหกิจตลาดค้าปลีกยักษ์ใหญ่ทั่วโลกได้เตรียมขยายพื้นที่จำหน่ายของห้างสรรพสินค้าให้ได้ 32,000,000 ตารางเมตรทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ราว 15% โดยพื้นที่จำหน่ายของห้างฯ กว่า 16,800,000 ตารางเมตรหรือประมาณ 52.5% จะถือกำเนิดในแดนมังกร ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของโลกที่ใหญ่ที่สุด
จากผลสำรวจพบว่า ในปี 2556 ธุรกิจห้างสรรพสินค้ามีแนวโน้มกระจายการลงทุนขยายพื้นที่จำหน่าย โดยมีเมืองใหญ่ของจีนเป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุนดังกล่าวถึง 7 แห่ง ซึ่ง นครเฉิงตู เมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในจีนตะวันตก มีพื้นที่พร้อมรองรับโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น 2,900,000 ตารางเมตรหรือกว่า 110 โครงการ มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศและอันดับที่ 3 ของโลก สำหรับนครฉงชิ่ง มีพื้นที่พร้อมรองรับธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่ 1,000,000 ตารางเมตร
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในส่วนของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ของไทยนั้น ก็ได้เล็งเห็นศักยภาพในตลาดค้าปลีกของทั้งสองภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน โดยห้างโลตัส (卜蜂莲花) ได้เข้ามาขยายสาขาแรกและสาขาเดียวในนครเฉิงตู รวมถึงนครฉงชิ่งอีก 3 สาขา จากนั้นห้างเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าของไทยที่ได้เข้ามาขยายตลาดในนครเฉิงตูล่าสุดเป็นรายที่สอง ซึ่งเป็นตัวแทนความภาคภูมิใจของวิสาหกิจค้าปลีกของไทยที่สามารถเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดในจีนตะวันตกแห่งนี้ได้
ดังนั้น ภาคธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ของไทยอื่นๆ ก็น่าจะมีโอกาสเติบโตได้อีกในนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง รวมไปถึงเมืองระดับรอง ซึ่งผู้บริโภคมีศักยภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้กัน นอกจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แล้ว ตลาดทั้งสองภูมิภาคนี้ ยังคงเปิดกว้างและสามารถรองรับปริมาณการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบคอนวีเนียนสโตร์ขนาดเล็กได้อีก
- ปัจจุบัน 7-11 ได้ครองตลาดประเภทร้านสะดวกซื้อในนครเฉิงตู โดยได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีร้าน 7-11 แล้วเป็นจำนวน 90 แห่ง และมีแผนจะเพิ่มจำนวนให้ครอบคลุมทั่วนครเฉิงตูจนถึง 140 สาขาภายในปี 2556
- 7-11 สาขาแรกของนครฉงชิ่งจะถือกำเนิดขึ้นภายในเดือนตุลาคมปีนี้
สามารถสอบถามข้อมูลทั่วไปกับศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนได้โดยผ่านทางอีเมล์ [email protected]