ซอกแซกเซี่ยเหมิน : งานแสดงสินค้า CFET สะพานเศรษฐกิจเชื่อมจีน – ไต้หวัน
28 May 2013มณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน เป็นมณฑลชายฝั่งทะเลที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อาณาเขตทางภาคเหนือติดกับมณฑลเจ้อเจียง ภาคใต้ติดกับมณฑลกวางตุ้ง และภาคตะวันออกติดกับช่องแคบไต้หวัน ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลจีนจึงวางเป้าหมายให้มณฑลฝูเจี้ยนเป็นเสมือน “สะพาน” เชื่อมความสัมพันธ์กับไต้หวัน โดยอาศัยเศรษฐกิจของมณฑลฝูเจี้ยนเป็นกลไกผลักดันสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่มีการอนุมัติโครงการเขตเศรษฐกิจชายฝั่งตะวันตกของช่องแคบไต้หวันหรือห่ายซี มณฑลฝูเจี้ยนได้ใช้นโยบายพิเศษในด้านต่างๆ อาทิ การค้า การลงทุน การขนส่งเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความร่วมมือของฝูเจี้ยนและไต้หวันให้มากขึ้น ที่สำคัญได้แก่ การจัดตั้งเขตการลงทุนของชาวไต้หวัน (Taiwanese Investment Zones) ในฝูโจว เซี่ยเหมิน เฉวียนโจว การงดเว้นการจัดเก็บภาษีรายได้ธุรกิจให้กับธุรกิจเรือที่ให้บริการขนส่งระหว่างชายฝั่งฝูเจี้ยนกับเกาะจินเหมิน มาจู และเผิงหู (3 เกาะของไต้หวันที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งฝูเจี้ยนมากกว่าชายฝั่งไต้หวัน)

ในปี 2555 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในด้านการค้ามีมูลค่ารวม 11,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 แบ่งเป็นฝูเจี้ยนนำเข้าจากไต้หวัน 8,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ฝูเจี้ยนส่งออกไปไต้หวัน 3,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ในส่วนของการลงทุนฝูเจี้ยนสามารถดึงดูดโครงการการลงทุนของไต้หวันได้เป็นมูลค่า 2,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการลงทุนของบริษัทฝูเจี้ยนเข้าไปลงทุนยังไต้หวันรวม 830,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันถึง 25 เท่า

ดังนั้น หากพูดถึงงานนิทรรศการการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของฝูเจี้ยนที่สามารถกระตุ้นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้แก่เศรษฐกิจของทั้งสอง คงหนีไม่พ้น “งานนิทรรศการการค้าระหว่างช่องแคบไต้หวัน” (Cross Straits Fair for Economy and Trade – CFET) หรือ “ไห่เจียวหุ้ย” ที่จัดขึ้นเพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างจีนและไต้หวันในด้านการค้า โดยจะจัดเป็นประจำระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤษภาคมของทุกปี ณ นครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน งานนิทรรศการการค้าดังกล่าวเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2542 จากการริเริ่มของ ปธน. สี จิ้น ผิง สมัยที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และผู้ว่าการประจำมณฑลฝูเจี้ยน โดยเนื้อหาของงานจะครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องความร่วมมือระหว่างช่องแคบไต้หวัน การเจรจาธุรกิจ การโปรโมตโครงการ การจัดประชุมสัมมนา และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
งาน CFET ดังกล่าวมีวิวัฒนาการด้านความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
ปี 2542 งาน CFET ได้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก สามารถดึงดูดบริษัทกว่า 900 รายทั่วโลกเพื่อเข้าร่วมงาน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นบริษัทไต้หวัน 260 ราย อีกทั้ง ยังเป็นงานที่บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ สัญชาติเยอรมัน “เมโทร” ได้ตัดสินใจลงทุนในนครฝูโจวด้วยเงินลงทุนกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2543 งานในครั้งนี้สามารถดึงดูดบริษัทอุตสาหกรรมชั้นสูงจากทั่วโลกได้กว่า 700 ราย และเป็นครั้งแรกที่นครฝูโจวได้ใช้วิธีการดึงดูดการลงทุนแบบออนไลน์
ปี 2544 เขตหมาเหว่ยของนครฝูโจวและ เขตมาจู่ของไต้หวันได้ลงนามในความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ (เขตมาจู่ของไต้หวันตั้งอยู่ไม่ไกลจากเขตน่านน้ำทะเลของนครฝูโจว)
ปี 2545 มีการลงนามในสัญญาการจัดส่งลำเลียงน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภคจากฝูเจี้ยนไปยัง เกาะมาจู่ของไต้หวัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการ ลำเลียงทรัพยากรน้ำไปยังเขตที่อยู่ภายใต้การปกครองของไต้หวัน
ปี 2546 มีการเซ็นลงนามโครงการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรวม 25 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 35.6 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ สร้างสถิติมูลค่าการลงทุนสูงสุดแก่งาน CFET อีกทั้งการจัดงานแสดงสินค้า ภายใต้วิกฤตไข้หวัดซาส์ในขณะนั้นส่งผลให้การร่วมมือระหว่างช่องแคบไต้หวันมีความแน่น แฟ้นมากขึ้น
ปี 2547 มีการจัดงานแสดงสินค้าอุปโภคบริโภคร่วมกับงาน CFET เป็นครั้งแรก อีกทั้งเขตเผิงหูของไต้หวันได้จัดคณะมาร่วมงานเป็นครั้งแรก ทำให้เขตปกครองระดับอำเภอ (เมือง) ซึ่งเป็นเกาะย่อยที่นอกเหนือจากเกาะไต้หวัน (รวมถึงจินเหมินและมาจู่) ต่างเข้าร่วมงานกันอย่าง ครบถ้วน
ปี 2548 การเจรจาเพื่อนำเข้าผลไม้ไต้หวัน (สับปะรด น้อยหน่า และมะม่วง) โดยตรงด้วยภาษีร้อยละศูนย์สำเร็จลุล่วงโดยดี ถือเป็นก้าวสำคัญในการค้าระหว่างทั้งสอง
ปี 2549 จีนได้เริ่มกำหนดกรอบการนำเข้าสินค้าเกษตรไต้หวันผ่านมาตรการการจัดเก็บภาษีร้อยละศูนย์ อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่มีการลงนามด้านการจัดการเกี่ยวกับแรงงานประมงระหว่างจีน แผ่นดินใหญ่และไต้หวัน และที่สำคัญคือการประกาศนโยบายเปิดให้ชาวไต้หวันเข้ามาตั้ง กิจการพาณิชย์ส่วนบุคคลในจีนได้
ปี 2550 มีการเปิดตลาดซื้อขายส่งสินค้าเกษตรจีน – ไต้หวัน เป็นแห่งแรก และมีการลงนามความตกลง ด้านการคมนาคมขนส่งสินค้าทางน้ำโดยตรงระหว่างนครฝูโจว และเกาะเผิงหูของไต้หวัน
ปี 2551 เป็นครั้งแรกที่งาน CFET ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานศุลกากร สำนักกิจการไต้หวันและสำนักงานควบคุม ตรวจสอบและ กักกันโรคเพื่อเพิ่มศักยภาพของงานให้มากยิ่งขึ้น
ปี 2552 ในระหว่างการจัดแสดงงาน CFET ได้มีงานแถลงข่าวสื่อมวลชนที่ไต้หวัน โดยมุ่งประชาสัมพันธ์การลงทุนให้แก่มณฑลฝูเจี้ยนและนครฝูโจว
ปี 2553 ข้าวจากไต้หวันสามารถเข้ามาขายในจีนได้เป็นครั้งแรก นับเป็นพัฒนาการทางการค้าอีกขั้น หลังจากที่เคยบรรลุเรื่องการค้าผลไม้ไปก่อนหน้านี้
ปี 2554 มีการจัดแสดงผลงานความตกลงต่าง ๆ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ปี 2555 มีจัดพาวิลเลี่ยนท่องเที่ยวไต้หวันสำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากที่ชาวฝูโจวได้รับอนุญาตให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยังไต้หวันแบบส่วนตัวได้

ในปีนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่บีไอซี เซี่ยเหมินได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน จึงขอแบ่งปันบรรยากาศและข้อมูลสำคัญภายในงานแก่ทุกท่าน โดยงานนิทรรศการการค้าระหว่างช่องแคบไต้หวัน หรือ CFET ในปีนี้ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 15 ณ ศูนย์นิทรรศการสินค้านานาชาติช่องแคบไต้หวัน นครฝูโจว งานดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่รวม 87,500 ตร.ม. มีจำนวนบูธแสดงสินค้าทั้งสิ้น 3,960 คูหา รวมมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 1,678 ราย โดยภายในงานแบ่งเป็น 11 พื้นที่ดังนี้
- โซนย้อนรำลึกเดือนแห่งการดึงดูดผู้ประกอบการชาวต่างชาติของนครฝูโจว
- โซนจัดแสดงผลงานการประกวดผลงานสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักศึกษา
- โซนจัดแสดงธุรกิจ Outsourcing มีพื้นที่จัดแสดง 1,000 ตร.ม. เน้นแสดงพัฒนาการและการส่งเสริมความร่วมมือของหลายโครงการเพื่อผลักดันให้นครฝูโจวเป็นเมืองต้นแบบของธุรกิจ outsourcing
- โซนจัดแสดงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างมณฑลฝูเจี้ยน เจ้อเจียง เจียงซีและอันฮุยครอบคลุมพื้นที่จัดแสดงรวม 2,000 ตร.ม. แบ่งเป็นการแนะนำจุดแข็งของอุตสาหกรรมในแต่ละมณฑล สินค้าท้องถิ่นชึ้นชื่อ และการท่องเที่ยว
- โซนการแลกเปลี่ยนนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไต้หวัน มีพื้นที่รวม 2,000 ตร.ม. มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 38 ราย เน้นส่งเสริมผลงานเขียน หนังสือ และผลงานทางสุนทรียศาสตร์
- โซนจัดแสดงเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมพื้นที่จัดแสดง 21,000 ตร.ม. มีบูธจากผู้ประกอบการถึง 1,055 ราย ในจำนวนดังกล่าวมีบริษัทชั้นนำจากมณฑลฝูเจี้ยนและไต้หวัน เช่น บริษัทรถยนต์ตงหนาน บริษัทหัวอิ้ง Photoelectric เข้าร่วม โดยในโซนนี้จะจัดแสดงสินค้าหลากหลายประเภท เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน อุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ ฯลฯ
- โซนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างจีน – ไต้หวัน มีพื้นที่งาน 9,000 ตร.ม. มีผู้จัดแสดงรวม 200 ราย เน้นแสดงเอกลักษณ์ของการท่องเที่ยวในแต่ละเมือง แต่ละท้องถิ่นของมณฑลฝูเจี้ยนและไต้หวัน ทั้งนี้ยังมีพื้นที่ไว้สำหรับเจรจาจับคู่ธุรกิจโดยเฉพาะด้วย
- โซนจัดแสดงสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของไต้หวัน ฮ่องกงและมาเก๊า มีพื้นที่แสดงสินค้ารวม 9,000 ตร.ม. เน้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าพื้นเมือง และอัญมณีเครื่องประดับ ที่เป็นพิเศษ คือ มีการจัดแสดงผลงาานการแกะสลักไม้จากศิลปินชาวไต้หวัน เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบเซรามิกในโซนนี้ด้วย
- โซนจัดแสดงอาหารขึ้นชื่อของไต้หวัน มีพื้นที่รวม 11,000 ตร.ม. จัดแสดงอาหาร ของว่างจากทั่วทุกภาคของไต้หวัน
- โซนจัดแสดงอาหารนานาชาติ มีพื้นที่รวม 20,000 ตร.ม. มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงกว่า 480 ราย สินค้าที่จัดแสดงประกอบด้วย สุรา ชา ผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารหลากหลายชนิดจากทั่วโลก อาทิ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นต้น
- โซนจัดแสดงผลงานศิลปะการแกะสลักของจีน – ไต้หวัน เป็นเพียงโซนจัดแสดงเดียวที่ถูกจัดอยู่กลางแจ้งนอกอาคารประชุม มีพื้นที่รวม 10,000 ตร.ม. โดยมีศิลปินชั้นนำจากฝูโจว เซี่ยเหมิน หุ่ยอันร่วมแสดงสินค้าแกะสลักทุกประเภท ทั้งการแกะสลักหิน ไม้ และเซรามิก


สินค้าไทยใน CFET
ภายในงานแสดงสินค้า มีโซนขายสินค้าจากไทยโดยเฉพาะ ประมาณ 10 คูหาจัดแสดง ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทผู้นำเข้าจีน จำพวกอาหาร ผลไม้แห้ง เครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยวจากไทย ซึ่งเท่าที่สังเกตก็ได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมงานไม่น้อย ในการนี้ บีไอซีได้สัมภาษณ์คนไทยรายเดียวที่ได้เข้ามาจัดแสดงสินค้า คือ คุณอุตสาหะ ผาสุกดี นักออกแบบผลิตภัณฑ์จากบริษัท Northern – Thai Product Center โดยคุณอุตสาหะ กล่าวว่าการมาร่วมงานครั้งนี้ได้นำกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม “เขาช่อง” เข้าร่วมจำหน่าย ซึ่งผลตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี แต่เท่าที่สังเกตภายในงานดังกล่าว สินค้าทั้งขนมและอาหารจากไต้หวันจะได้รับความสนใจมากที่สุด สำหรับสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ คือ ข้าวกล้องหอมมะลิ ข้างกล้องไรซ์เบอรี่อินทรีย์ ข้าวเหนียวกล้องสีสันสวยงามแปลกตา เป็นต้น
ข้อสังเกตจากงาน CFET 2556
- งานนิทรรศการการค้าระหว่างช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 15 เป็นงานที่ทางรัฐบาลมณฑลให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากในวันเปิดงานมีคณะผู้นำของมณฑลไม่ว่าจะเป็นนายโยว เฉวียน (เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลฝูเจี้ยน) นายซู ซู่ หลิน (ผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยน) รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของมณฑลต่างตบเท้าเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
- สำหรับในงาน CFET ในปีนี้ ธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คือ ธุรกิจ “Outsourcing” เนื่องจากหนึ่งในกิจกรรมภายในงานได้มีการสัมมนาระบุว่า ประเทศจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีการให้บริการธุรกิจ Outsourcing มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก โดยตั้งแต่ปี 2551 – 2555 ธุรกิจดังกล่าวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก 4,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อยละ 60 สามารถสร้างงานให้คนกว่า 4.46 ล้านคน
- นครฝูโจวเมืองเอกของมณฑลฝูเจี้ยนถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของเขตเศรษฐกิจชายฝั่งตะวันตกของช่องแคบไต้หวัน (ห่ายซี) โดยถือเป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงไทเปของไต้หวันมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับไต้หวันอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่นครฝูโจวจะถูกเลือกเป็นสถานที่จัดประชุม อีกทั้งนโยบายดึงดูดการค้าการลงทุนต่าง ๆ ของมณฑลฝูเจี้ยนต่างเอื้อต่อธุรกิจไต้หวัน งาน CFET นี้จะสามารถสร้างยอดการค้าการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งมณฑลฝูเจี้ยนและไต้หวันได้ไม่น้อย ทั้งนี้ ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลมณฑล มณฑลฝูเจี้ยนจะเป็นเวทีหลักในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างจีน – ไต้หวัน โดยจะมุ่งให้ความสำคัญแก่แผนการพัฒนา 5 ประการอันประกอบด้วย แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจบริเวณช่องแคบไต้หวัน แผนพัฒนาเกาะผิงถาน แผนการปฏิรูปเพื่อเพิ่มความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างช่องแคบไต้หวันของเมืองเซี่ยเหมิน แผนพัฒนาอุตสาหกรรมทางทะเล และแผนการปฏิรูปเมืองเฉวียนโจวให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน
- นับตั้งแต่พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลไต้หวัน ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเปิดรับจีนเมื่อปี 2551 ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองก็เริ่มเบ่งบาน มีแนวโน้มที่สดใส อีกทั้ง ผู้นำจีนคนปัจจุบันก็เคยดำรงตำแหน่งสำคัญและปฏิบัติงานในมณฑลฝูเจี้ยนเป็นเวลา 16 ปี และเป็นผู้ริเริ่มนโยบายสร้างสัมพันธ์อันดีกับไต้หวัน จึงยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบัน จีนและไต้หวันมีความร่วมมือกันหลายด้าน เช่น ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่องแคบไต้หวัน (Economic Cooperation Framework Agreement – ECFA) การนำเข้าผลไม้สดจากไต้หวันผ่านท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน และการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในไต้หวันโดยอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านบริษัททัวร์ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าในอนาคตอันใกล้จะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจใด ๆ ออกมาอีก รวมทั้งท่าทีของผู้นำระหว่างทั้งสองฝ่ายจะมีทิศทางเช่นไร
สำหรับนักธุรกิจไทย งานนี้อาจจะยังไม่สามารถตอบโจทย์ด้านการค้าการลงทุนได้โดยตรง แต่กระนั้น งาน CFET ถือเป็นหน้าต่างบานใหญ่ที่จะทำให้มองเห็น “โอกาส” แลได้รู้จักกับตัวแทนจากบริษัทชั้นนำโดยตรง เป็นการสร้างและขยายเครือข่ายทางธุรกิจ ถือเป็นช่องทางในการพบปะลูกค้าที่มีศักยภาพมากมาย อีกทั้งยังได้เห็นรูปแบบของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงสินค้าของตนเองหากต้องการเข้ามาตีตลาดจีน สรุปว่ามาร่วมงานนี้คุ้มไม่น้อย เพราะมางานนี้งานเดียวสามารถชมสินค้าได้ทั้งจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันภายในหนึ่งวัน