ซอกแซกเซี่ยงไฮ้ : เผย!! เกร็ดน่ารู้.. เพื่อก้าวสู่งานแฟร์ในจีนอย่างมีประสิทธิภาพ (ตอนแรก : เตรียมตัวดี.. มีชัยไปกว่าครึ่ง)

13 May 2013

เมื่อพูดถึงงานแฟร์ในจีนแล้ว ผู้ส่งออกสินค้าของไทยหลายท่านคงคิดกันในใจว่า“น่าสนใจไปร่วมงาน” เพราะจีนเป็นเวทีงานแฟร์น้อยใหญ่จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแฟร์ระดับนานาชาติในหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และอีกหลายมณฑลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยเพียงแค่ส่วนของเซี่ยงไฮ้เท่านั้น ก็มีการจัดงานแฟร์นานาชาติมากถึงกว่า 200 ครึ่งต่อปี

การเข้าร่วมงานแฟร์ในจีนเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญในการเข้าสู่ตลาดจีน โดยสามารถช่วยให้สินค้าของผู้ส่งออกเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดยักษ์ใหญ่ที่มีจำนวนผู้บริโภคหลักพันล้านคน ตลอดจนถือเป็นการลงทุนระยะยาว ที่แม้ว่าอาจจะยังไม่มีลูกค้ามาสั่งซื้อในทันที แต่ก็นับว่าเป็นการปูทางเพื่อส่งออกสินค้าสู่จีนได้ในอนาคต

ในอดีตที่ผ่านมามีผู้ส่งออกไทยจำนวนไม่น้อยที่สนใจเจาะตลาดจีนด้วยการเข้าร่วมงานแฟร์ ซึ่งมีทั้งที่สำเร็จด้วยดีและที่จะต้องกลับไปทบทวนแผนงานใหม่เนื่องจากเตรียมตัวยังไม่ดีพอ โดยอาจติดข้อจำกัดด้านภาษาจีน หรือขาดความเข้าใจในธรรมเนียมและวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือประสบการณ์และการบริหารจัดการยังไม่ดีพร้อม เป็นต้น

เพื่อช่วยให้ผู้ที่สนใจร่วมงานแฟร์ในจีนได้รับผลลัพธ์ที่น่าพอใจ และไม่ได้กลับไทยไปแบบมือเปล่า ศูนย์ BIC เซี่ยงไฮ้ขออนุญาตบอกเล่าเทคนิคการเข้าร่วมงานแฟร์ในจีนทุกช่วงขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดงานแฟร์ผ่านบทความที่มีชื่อว่า“เผย!! เกร็ดน่ารู้.. เพื่อก้าวสู่งานแฟร์ในจีนอย่างมีประสิทธิภาพ” โดยบทความในตอนแรกนี้จะแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวเบื้องต้นก่อนเข้าร่วมงานแฟร์ว่า ควรศึกษาข้อมูลอะไรบ้าง เตรียมเอกสารอะไร และวางแผนล่วงหน้าในในที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ก่อนจะเริ่มเดินหน้าเข้าสู่งานแฟร์ใดๆ ก็ตาม การเตรียมทำการบ้านล่วงหน้ามีความจำเป็นอย่างขาดไม่ได้ ซึ่งการเตรียมความพร้อมที่ดีย่อมทำให้มีชัยชนะไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว

“เป้าหมาย” คืออะไร? ใครคือ “กลุ่มลูกค้า”?

โดยปกติแล้ว ก่อนดำเนินการเรื่องใดๆ ก็ควรจะต้องมีการกำหนด“เป้าหมาย” ไว้ล่วงหน้า โดยในส่วนของการเข้าร่วมงานแฟร์ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งการเข้าร่วมงานแฟร์อาจไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีวัตถุประสงค์อื่นร่วมด้วย เช่น ประชาสัมพันธ์สินค้าที่ออกใหม่ การทดลองสินค้าในตลาด การสร้างตัวแทนจำหน่ายหรือการหาผู้ซื้อช่วงสิทธิ์ไปพัฒนาสินค้าต่อ (Licensee) การสำรวจตลาด – คู่แข่ง การแสดงศักยภาพขององค์กร ฯลฯ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เราต้องการได้รับอะไรจากการเข้าร่วมงานแฟร์ในครั้งนั้นๆ เพื่อที่จะได้วางแผนการทำงานในขั้นต่อๆ ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ หลังจากที่มีเป้าหมายของการเข้าร่วมงานที่ชัดเจนแล้ว ลำดับถัดมาที่ต้องคำนึงถึง คือ“กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย” ซึ่งควรกำหนดให้ชัดเจน เช่น ผู้นำเข้าสินค้า ผู้ค้าส่ง ผู้กระจายสินค้า ผู้ค้าปลีก ผู้บริโภคทั่วไป เป็นต้น เพื่อจะสามารถจัดเตรียมเอกสารหรือตัวอย่างสินค้าสำหรับแจกได้อย่างเพียงพอ

ศึกษาข้อมูลเอาไว้.. ย่อมคว้าชัยไปกว่าครึ่ง!!

หลังจากที่วางเป้าหมายและกลุ่มลูกค้าไว้ชัดเจนแล้ว ลำดับต่อไป คือ การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าไปจีน ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับงานแฟร์นั้นๆ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมงานโดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ศึกษารายละเอียดและประเภทของงานแฟร์

ก่อนการเข้าร่วมงานแฟร์จำเป็นต้องข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อคัดเลือกงานที่ตรงตามประเภทของสินค้า ตรงกลุ่มลูกค้า ตรงตามเป้าหมายทางการตลาดที่กำหนดไว้ ซึ่งโดยปกติแล้วสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์หรือสื่อประชาสัมพันธ์ของงานแฟร์นั้นๆ

โดยปกติแล้วควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญ ได้แก่ 1) ขนาดและลักษณะของงานแฟร์ (ค้าส่งหรือค้าปลีก) 2) ประเภท สัดส่วน และจำนวนตัวเลขรวมของผู้เข้าชมงานแฟร์ในครั้งก่อน (ผู้นำเข้า ผู้ซื้อ ผู้กระจายสินค้า ผู้บริโภคทั่วไป ฯลฯ) 3) ชื่อเสียงและความสำเร็จในปีที่ผ่านมาของงานแฟร์ และ 4) ข้อมูลอื่นๆ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก หรือค่าใช้จ่ายในการออกบูธ เป็นต้น

2. ศึกษาคู่มือการเข้าร่วมงานแฟร์ (Exhibitor Kit, Exhibitor Manual)

เมื่อคัดเลือกงานแฟร์ที่สนใจและสมัครเข้าร่วมงานเรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไป คือ การศึกษาคู่มือสำหรับผู้เข้าร่วมออกบูธในงานแฟร์นั้นๆ ซึ่งสามารถขอรับได้จากออร์กาไนเซอร์ ผู้ติดต่อประสานงาน หรือดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของงานแฟร์ โดยคู่มือเป็นเอกสารสำคัญที่จะบอกรายละเอียดต่างๆ เช่น สัญญาเช่าบูท การเตรียมตัวเพื่อนำสินค้ามาจัดแสดงในงาน การรับฝากสินค้าและพื้นที่สำหรับเก็บสินค้า สิ่งอำนวยความสะดวกในงาน แผนผังพื้นที่การเข้าออกงาน ข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติระหว่างจัดแสดงสินค้าในงานแฟร์นั้นๆ เป็นต้น

3. ศึกษาข้อมูลกฎระเบียบการค้าในจีนเบื้องต้น

การศึกษาคู่มืองานแฟร์อาจยังไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลกฎระเบียบการค้าของจีนในเบื้องต้นด้วย เช่น ระเบียบศุลกากร ขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกสินค้า มาตรการทางการค้า ภาษีนำเข้าส่งออก ข้อมูลศุลกากร ขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าสินค้า สารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหารที่ห้ามนำเข้า ข้อมูลพืชและสัตว์ที่ห้ามนำเข้าส่งออก ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสินค้าถูกกักกัน ณ ด่านจีน ดังเช่นกรณีที่ผู้เข้าร่วมงานแฟร์ในจีนบางรายไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่นำมาจัดแสดงต้องมีฉลากภาษาจีนระบุส่วนประกอบ ปริมาณ ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุ ฯลฯ หรือไม่ทราบว่าแตงโมและแก้วมังกรไม่ได้อยู่ในรายการผลไม้ 23 ชนิดที่จีนอนุญาตให้นำเข้า เป็นต้น จึงทำให้ไม่สามารถส่งไปยังจีนได้

ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้เริ่มจำหน่ายสินค้าในจีนอย่างเป็นทางการ แต่การนำสินค้ามาจัดแสดงในงานแฟร์ของจีนก็จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนขออนุญาตนำเข้าสินค้าและเสียภาษีขาเข้าให้ถูกต้อง โดยในหลายๆ ขั้นตอนผู้ประกอบการไทยสามารถใช้บริการจากบริษัทตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง แต่ก็ควรจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย

สำหรับข้อมูลด้านกฎระเบียบดังกล่าวสามารถศึกษาเบื้องต้นได้จากเว็บไซต์หลายแห่งทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com) สำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ (www.dft.go.th/exportcontrol หรือ www.thaiexporthelp.com) สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ (www.dft.go.th) หรือสำนักส่งเสริมธุรกิจ SMEs เพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก (www.depthai.go.th) เป็นต้น

4. ศึกษาวิธีการขนส่งสินค้ามายังงานแฟร์

การขนส่งสินค้าจากไทยสู่เข้าสู่งานแฟร์นั้นจีนเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งควรศึกษาในเบื้องต้นว่าวิธีการใดจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งโดยปกติสามารถสอบถามข้อมูลได้จากบริษัทขนส่งระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญการขนส่งระหว่างไทย – จีน ทั้งนี้ ควรศึกษาเพิ่มเติมว่าบริษัทขนส่งใดมีบริการครบวงจรทั้งการขออนุญาตนำเข้าสินค้าสู่จีน หรือพื้นที่จัดเก็บคลังสินค้าเมื่อสินค้ามาถึงล่วงหน้าก่อนวันงาน เป็นต้น เพื่ออาจพิจารณาให้บริษัทขนส่งช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและความยุ่งยากในขั้นตอนต่างๆ

5. ศึกษาข้อมูลเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

นอกเหนือจากรายละเอียดของงานแฟร์และขั้นตอนการนำสินค้าเข้าจัดแสดงงานแฟร์แล้ว ผู้เข้าร่วมงานแฟร์ควรศึกษาข้อมูลภายในพื้นที่งานแฟร์นั้นๆ ด้วย เช่น ความเจริญก้าวหน้าของเมือง สภาพอากาศ การสำรองที่พักแรม การเดินทางภายในพื้นที่ การติดต่อสื่อสาร (โทรศัพท์/อินเทอร์เน็ต) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเข้าร่วมงานแฟร์ (ค่าจัดทำสิ่งตีพิมพ์ภาษาจีน ค่าจ้างล่าม ฯลฯ)

เอกสารประชาสัมพันธ์.. สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืม!!

หลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับงานแฟร์ที่สนใจจะเข้าร่วมเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมงานนอกจากจะต้องจัดเตรียมสินค้าตัวอย่างแล้ว ยังจำเป็นต้องเตรียมเอกสารที่จะใช้ประชาสัมพันธ์ด้วย โดยหากเป็นไปได้เอกสารทั้งหมดควรเป็นภาษาจีน เนื่องจากชาวจีนจำนวนมากยังไม่ถนัดภาษาอังกฤษมากนัก และควรมีจำนวนมากเพียงพอ

1. นามบัตร ควรระบุชื่อบริษัท คำอธิบายถึงประเภทธุรกิจของบริษัท ชื่อผู้ติดต่อ และหมายเลขติดต่อไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ควรระบุรหัสพื้นที่ประเทศไทย (662) นำหน้าหมายเลขโทรศัพท์หรือโทรสารด้วย เพื่อให้คู่ค้าติดต่อกลับได้อย่างถูกต้อง

2. เอกสารแนะนำสินค้า เช่นโบร์ชัวร์แนะนำสินค้า แผ่นพับ ใบปลิว DVD Product Catalogue (ในกรณีที่มีสินค้าหลายรายการ) ใบรับรองคุณภาพและมาตรฐานสินค้า เป็นต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบควบคู่กับการอธิบายสินค้า

3. เอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขาย (เตรียมไว้เผื่อว่ามีลูกค้าสนใจสั่งซื้อสินค้า) เช่น เอกสารเงื่อนไขทางการค้า แบบฟอร์มสัญญาซื้อขาย แบบฟอร์มใบเสนอราคา แบบฟอร์มใบสั่งซื้อ และเอกสารประมาณการค่าขนส่งจากไทยไปจีน เพื่อให้ลูกค้าประเมินต้นทุนในเบื้องต้น เป็นต้น โดยลูกค้าอาจนำเอกสารเหล่านี้ใช้ประกอบกับการตัดสินใจสั่งซื้อหรือสั่งจองสินค้าได้

4. ข้อมูลประชาสัมพันธ์สินค้าในแฟร์แคตตาล็อก เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจัดทำอย่างละเอียดทั้งข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท วิธีการติดต่อ รายละเอียดสินค้า รูปภาพประกอบ โดยผู้จัดงานจะจัดรวมเล่มสำหรับแจกหรือจำหน่ายให้กับผู้เข้าร่วมชมงานแฟร์ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานแฟร์สามารถติดต่อเพื่อลงโฆษณาในแฟร์แคตตาล็อกนี้ได้ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้รู้จักบริษัทและสินค้า

ข้อมูลเบ็ดเตล็ด.. เกร็ดเล็กๆ แต่มีประโยชน์

หลังจากที่ได้แนะนำการเตรียมตัวศึกษาข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในระหว่างเข้าร่วมงานแฟร์แล้ว ศูนย์ BIC เซี่ยงไฮ้ขอนำเสนอเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมงานแฟร์ในจีน ดังนี้

1. การติดต่อสมัครเข้าร่วมงานแสดงสินค้า

ปัจจุบัน เนื่องจากมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีได้จัดทำเว็บไซต์ปลอมของงานแฟร์ต่างๆ และประกาศรับสมัครเข้าร่วมงานผ่านทางเว็บไซต์โดยแอบอ้างชื่อจากงานแฟร์จริง ดังนั้น การติดต่อสมัครเข้าร่วมงานแฟร์จึงควรติดต่อจากหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบงานที่ถูกต้องโดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือโดยตรง ไม่ควรหลงเชื่ออีเมล์โฆษณาที่ส่งมาเชิญชวนเข้าร่วมงานแฟร์และไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจนของอีเมล์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าร่วมงานแฟร์ในจีนสามารถตรวจสอบรายชื่องานแฟร์ที่จัดขึ้นในแต่ละปีได้จากเว็บไซต์ http://tradeshow.alibaba.com หรือที่เว็บไซต์ http://www.biztradeshows.com/china โดยสำหรับงานแฟร์เฉพาะในนครเซี่ยงไฮ้สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.biztradeshows.com/china/shanghai ซึ่งจะมีข้อมูลติดต่อไปยังผู้จัดงานตัวจริงโดยตรง หรือค้นหาผ่านเว็บไซต์ของสถานที่จัดงานซึ่งจะมีหัวข้อ Event Calendar (รายชื่อเว็บไซต์งานแฟร์ในเซี่ยงไฮ้จากข้อมูลในเว็บไซต์สถานที่จัดงานรายละเอียดเพิ่มเติมดูในข้อมูลประกอบ) ดังนั้น ก่อนเข้าร่วมงานแสดงสินค้าจึงควรตรวจสอบแหล่งข้อมูลให้ชัดเจน

2. การยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าที่จะเข้าร่วมงานแฟร์

สินค้าที่ส่งไปแสดงยังประเทศจีนและนำกลับไปไทย สามารถได้รับยกเว้นภาษีขาออกจากไทย ภาษีขาเข้าจีน และภาษีขาเข้าไทยสำหรับสินค้าที่จะกลับไทยได้ โดยสามารถใช้สิทธิภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการนำของเข้าเป็นการชั่วคราว หรือ A.T.A. Carnet เพื่อส่งออกสินค้าเป็นการชั่วคราวและนำกลับคืนออกมา ซึ่งจะได้รับการยกเว้นการวางประกันค่าภาษีอากรและการทำเอกสารด้านพิธีการศุลกากร

ระบบ A.T.A. Carnet คือ เอกสารที่ใช้ประกอบในการอนุญาตให้นำสินค้าที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว โดยให้ถือว่าเอกสาร A.T.A. Carnet เป็นเอกสารการนำเข้าของศุลกากรของประเทศนั้นๆ เพื่อนำเข้าชั่วคราวและส่งกลับคืนออกไปภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะได้รับยกเว้นการชำระภาษีขาเข้า หรือการค้ำประกันค่าอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้าภายใต้เอกสารนั้นๆ (ถือว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือค้ำประกันสำหรับค่าภาษีอากรทั้งหลาย) ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่มีการนำกลับออกไป หอการค้าของประเทศผู้นำเข้าจะเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้เงินค่าภาษีขาเข้าให้แก่ศุลกากร และจะไปติดตามไล่เบี้ยเอาจากหอการค้าของประเทศผู้ส่งออกซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือรับรองดังกล่าวอีกต่อหนึ่ง

ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกในอนุสัญญาทั้งหมด 71 ประเทศ โดยประเทศไทยและจีน (รวมถึงฮ่องกงและไต้หวัน) ก็ได้เข้าร่วมระบบอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย ทั้งนี้ การขอใช้สิทธิตามอนุสัญญาในประเทศไทยสามารถติดต่อและยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากร (http://www2.customs.go.th/Formality/AtaCarnet.jsp) หรือหอการค้าแห่งประเทศไทย (http://www.thaichamber.org)

3. การวางแผนอธิบายการขายและตอบคำถามล่วงหน้า

เนื่องจากกลุ่มผู้เข้าชมงานมีหลากหลายประเภททั้งคู่แข่งหรือลูกค้าที่เป็นผู้นำเข้า ผู้ซื้อ ผู้กระจายสินค้า ผู้บริโภคทั่วไป ฯลฯ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีความสนใจและจุดม่งหมายในการเข้าชมงานแฟร์ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงควรมีการคิดวางแผนล่วงหน้าถึงรูปแบบการอธิบายสินค้า เพื่อชี้แจ้งได้ตรงจุดสนใจของกลุ่มลูกค้า หรือคิดปัญหาที่อาจได้รับการถามล่วงหน้า เพื่อที่จะเตรียมตอบคำถามได้อย่างตรงประเด็น เป็นต้น

4. การจ้างล่ามภาษาจีน

เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ารแนะนำหรืออธิบายสินค้าที่ให้ประโยชน์สูงสุดจึงควรใช้ภาษาจีนเป็นสำคัญ ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถใช้ภาษาจีนสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว ก็ควรพิจารณาจัดจ้างล่ามเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ โดยการติดต่อหาล่ามนั้นสามารถสอบถามล่วงหน้าผ่านผู้จัดงานฝ่ายจีนหรือหน่วยงานไทยที่นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน ในกรณีที่ติดต่อหาไม่ได้ อาจติดต่อหน่วยงานไทยในพื้นที่ เช่น ศูนย์บริการข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน หรือสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในจีน หรือสมาคมนักศึกษาไทยในจีน เป็นต้น ทั้งนี้ ควรมีการเตรียมความพร้อมให้ล่ามด้วยการอธิบายให้ทราบถึงข้อมูลบริษัทและข้อมูลสินค้าล่วงหน้า เพื่อที่จะอธิบายให้กับลูกค้าได้อย่างถูกต้องชัดเจน

5. การติดต่อบริการ Packing Credit จากธนาคาร

ก่อนการเข้าร่วมงานแฟร์ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาหรือวางแผนล่วงหน้าในกรณีที่อาจได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมากในทันทีระหว่างที่เข้าร่วมงาน ซึ่งอาจจำเป็นจะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการผลิต ดังนั้นจึงควรศึกษาเรื่อง Packing Credit จากธนาคารที่มีบริการดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถคำนวณต้นทุนของเงินทุนที่จะนำมาใช้หมุนเวียนได้ล่วงหน้า และสามารถมีความมั่นใจในการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าจีนได้แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอ

ปัจจุบัน ธนาคารทั้งของไทยและต่างประเทศล้วนมีบริการ Packing Credit โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารเพื่อการส่งออกหรือ Exim Bank ซึ่งให้บริการธุรกรรมการเงินเพื่อการส่งออกและนำเข้าโดยตรง

บทความในตอนแรกนี้ น่าจะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ทราบเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวเบื้องต้นก่อนเข้าร่วมงานแฟร์ในจีนบ้างแล้ว โปรดติดตามบทความตอนต่อไปที่จะนำเสนอเทคนิคระหว่างเข้าร่วมงานแฟร์ในจีนและหลังงานแฟร์สิ้นสุดลง เร็วๆ นี้ ….

______________________



จัดทำโดย น.ส. เทพรัตน์ ตันติกัลยาภรณ์ เรียบเรียงโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้

แหล่งข้อมูล : รวบรวมจากประสบการณ์ของผู้ส่งออกไทยที่เคยเข้าร่วมงานแฟร์ในต่างประเทศ
 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน