ซอกแซกเซี่ยงไฮ้ : เผย!! เกร็ดน่ารู้.. เพื่อก้าวสู่งานแฟร์ในจีนอย่างมีประสิทธิภาพ (ตอนจบ : ทุกนาทีมีค่า.. อย่าพลาดโอกาสทอง)
21 May 2013"ทุกนาทีมีค่า.. เวลาเป็นเงินเป็นทอง” เป็นประโยคที่มีพูดกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กำลังทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในเวลาที่มีอยู่จำกัด
การเข้าร่วมงานแฟร์ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ต้องใช้เงินลงทุนและเตรียมการล่วงหน้าหลากหลายด้าน ดังนั้น ระหว่างเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าในงานแฟร์จึงควรใช้ทุกนาทีให้คุ้มค่า เพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลและประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งปกติมักจะมีเวลาจำกัดเพียง 3 – 5 วัน และวันละ 6 – 8 ชั่วโมงเท่านั้น
เพื่อไม่ให้โอกาสทองระหว่างที่ผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานแฟร์ในจีนเสียไปโดยไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน หรือได้รับประโยชน์ไม่คุ้มกับเงินและเวลาที่เสียไป ศูนย์ BIC ขอนำเสนอบทความสืบเนื่องจากบทความเดิมในตอนแรก ซึ่งจะถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้ที่เคยเข้าร่วมงานแฟร์ต่างๆ ทั้งในจีนและประเทศอื่นๆ โดยมีเทคนิคดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมงานแฟร์ ตลอดจนใช้ทุกนาทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สุดยอดเทคนิคสนทนา.. ส่ง-รับข้อมูลมีค่าในเวลาจำกัด!!
โดยปกติแล้ว ไม่เพียงแต่ผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าเท่านั้นที่จะสนใจเกี่ยวเก็บข้อมูลต่างๆ ผู้เข้าร่วมชมงาน
ก็ต้องการข้อมูลไม่น้อยเช่นกัน แต่เนื่องจากงานแฟร์หนึ่งๆ มักจะมีบูธเข้าจัดแสดงมากมาย เวลาเข้าชมก็มีจำกัดเพียงบูธละไม่กี่นาที ดังนั้น เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าและให้ข้อมูลที่มีค่าในเวลาจำกัด จึงจำเป็นต้องกำหนดรูปแบบการนำเสนอข้อมูลและการตั้งคำถามระหว่างช่วงสนทนาให้ตรงประเด็นที่สุด ซึ่งมีเทคนิคง่ายๆ ที่ไม่ควรพลาด ดังนี้
1. “Elevator pitch” เทคนิคนำเสนอแบบสั้นๆ ง่ายๆ ในเวลาไม่มาก
ด้วยเวลาอันจำกัดของผู้เข้าชมบูธ การนำเสนอขายสินค้าด้วยประโยคสั้นๆ แต่ได้ใจความ จึงเป็นเทคนิคสำคัญในการดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชม โดยเตรียมคำพูดเกี่ยวกับตัวสินค้าที่กระชับ เข้าใจง่าย และเป็นที่น่าสนใจ เช่น ขายสินค้าอะไร มีความพิเศษอย่างไร มีประโยชน์อย่างไรต่อผู้ใช้งาน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้เข้าชมไม่รู้สึกเบื่อจากการที่ต้องฟังการอธิบายยาวๆ แล้ว ยังสามารถช่วยดึงดูดให้ผู้เดินชมงานแฟร์ทั่วไปที่อาจจะไม่ได้ให้ความสนใจกับบูธของเรามากนักในตอนแรก เกิดความสนใจในสินค้าของเราขึ้นมา ซึ่งอาจนำไปสู่การให้ข้อมูลเพิ่มเติมและเจรจาตกลงซื้อ-ขายในที่สุดด้วย
2. “What are you looking for?” กำลังมองหาอะไร.. ใช่สิ่งนี้หรือเปล่า?
การตั้งคำถามกับผู้เข้าชมบูธถึงความต้องการว่ากำลังมองหาอะไรอยู่นั้น เป็นคำถามหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง หากผู้ขายทราบข้อมูลและความต้องการของผู้เข้าชมบูธได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถนำเสนอได้ตรงจุด ขณะเดียวกัน ก็สามารถคิดวิธีการตัดบทสนทนาได้โดยง่าย หากเมื่อถามแล้วทราบว่าผู้เข้าชมไม่มีความสนใจจริงในสินค้าของเราโดยสามารถนำเวลาที่มีอยู่จำกัดไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้เข้าชมที่ให้ความสนใจสินค้าจริงๆ
3. “Why not buy?” ไม่ซื้อไม่เป็นไร.. เก็บข้อมูลไว้ปรับปรุง
แน่นอนว่า คงไม่ใช่ผู้เข้าชมบูธทุกรายจะต้องสั่งซื้อหรือสั่งจองสินค้าของเราเสมอไป ดังนั้น หากได้รับคำปฏิเสธก็อย่าเพิ่งท้อใจ และถ้ามีโอกาสก็ควรจะเก็บข้อมูลว่าทำไมการนำเสนอขายจึงไม่สำเร็จ โดยอาจตั้งคำถามอ้อมๆ เช่น สินค้าหรือบริการของบริษัทควรปรับปรุงตรงไหนอย่างไรบ้าง และนำข้อคิดเห็นหรือคำติชมที่ได้รับกลับมาทบทวนเพื่อปรับปรุงแผนการดำเนินงานใหม่ เป็นต้น
ซอกแซกเก็บเกี่ยวข่าว.. ไม่สูญเปล่าเวลาว่าง!!
บางช่วงเวลาที่ผู้เข้าชมงานแฟร์ไม่หนาตามากนัก ควรใช้เวลาว่างระหว่างการออกบูธไปกับกิจกรรมที่จะให้ประโยชน์กับเราสูงสุด โดยสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เฝ่าบูธไปเดินซอกแซกเก็บเกี่ยวข้อมูลที่เกี่ยวข้องในงานแฟร์ทั้งหมด อาทิ
1. รู้เขารู้เรา.. รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง
ในกรณีที่มีเวลา การทำความรู้จักบูธใกล้เคียงและการเดินสำรวจทั่วทั้งงานแฟร์มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อเก็บข้อมูลว่าผู้ผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเดียวกับเรามีรูปแบบสินค้า ราคา และการทำตลาดอย่างไร จากนั้นสามารถเปรียบเทียบและทำการปรับปรุงสินค้าหรือกลยุทธ์การขายของเรา อย่างไรก็ดี ไม่ควรมองว่าผู้ร่วมออกบูธรายอื่นๆ เป็นคู่แข่งทางการค้าอย่างเดียว เพราะไม่แน่ว่าอาจจะพบคู่ค้าที่มีสินค้าเสริมรับซึ่งกันและกัน หรือในอนาคตอาจจะสามารถร่วมมือกันวิจัยพัฒนาสินค้าได้
2. หาช่องทาง – สร้างโอกาส.. ไม่ควรพลาดกิจกรรมของงานแฟร์
ในงานแฟร์หนึ่งๆ นอกจากจะมีการจัดแสดงสินค้าของผู้ออกบูธเป็นหลักแล้ว ก็มักจะมีกิจกรรมเสริมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) งานสัมมนาความรู้ หรืองานเลี้ยงอาหารค่ำ เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมงานแฟร์ไม่ควรพลาด โดยสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานล่วงหน้ากับผู้จัดงานหลักได้ ทั้งนี้ การเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้มีโอกาสได้รู้จักกลุ่มคนจากหลากหลายวงการ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่อาจทำให้พบคู่ค้าหรือทราบข้อมูลสถานการณ์ตลาดในปัจจุบันได้
งานแฟร์จบไป.. ธุรกิจยังไม่จบ!! (โอกาสทองยังมีเหลือ)
หลังจากที่งานแฟร์สิ้นสุดลงแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องรีบกลับในทันที ควรจัดสรรเวลาไว้สัก 2 – 3 วันสำหรับสานต่อธุรกิจ หรือหาอะไรติดไม้ติดมือกลับไทยไปบ้าง (ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในอนาคต) อาทิ
1. นัดพบผู้สนใจ.. เข้าเยี่ยมลูกค้าใหม่ – เก่า (เท่าที่ทำได้)
ในช่วงระหว่างจัดงานแฟร์อาจมีผู้สนใจสินค้าของบริษัท แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัดจึงไม่สามารถรับฟังข้อมูลรายอะไรได้ทั้งหมด ดังนั้นผู้ออกบูธจึงควรเร่งนัดหมายเพื่อให้มีโอกาสเข้าไปนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมหลังจบงานแฟร์อย่างเร็วที่สุด โดยอาจศึกษาความต้องการของผู้ที่สนใจสินค้าของบริษัทเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ออกบูธหลายท่านจะยังไม่มีเวลาหรือไม่ให้ความสำคัญกับการพบผู้สนใจสินค้าหลังจบงานมากนัก แต่เรื่องดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้า จนอาจได้รับคำสั่งซื้อในทันทีก็เป็นได้
นอกจากนี้ อาจหาโอกาสเข้าเยี่ยมลูกค้าเก่าด้วย (หากมี) เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดี โดยอาจมีของฝากหรือสินค้าใหม่ติดมือไปให้ขณะเข้าเยี่ยม พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์คืบหน้าหรือความต้องการอื่นๆ ของลูกค้ากลับมาพัฒนาปรับปรุงให้สินค้าปและบริการของบริษัทดีขึ้นได้
2. ของเหลืออย่าทิ้งไป.. กระจายให้ได้มากที่สุด
สำหรับเอกสาร ตัวอย่างสินค้า หรือนามบัตรที่อาจมีเหลือจากการแจกประชาสัมพันธ์ในงานแฟร์นั้น อาจไม่จำเป็นจะต้องนำกลับไทยหรือทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ผู้เข้าร่วมออกบูธสามารถนำสิ่งที่เหลือเหล่านี้ส่งทางไปรษณีย์ไปให้กับผู้ที่ทิ้งที่อยู่ติดต่อให้ในระหว่างเข้าชมบูธ หรืออาจส่งไปยังห้องสมุดการค้าหรือสมาคมการค้าของสินค้าที่เกี่ยวข้องพร้อมแนบหนังสือแนะนำเอกสารไปด้วย หรืออาจส่งให้กับบริษัทที่คาดว่าน่าจะสนใจสินค้าหรือบริษัทที่นำเข้าสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
3. สำรวจพื้นที่.. หาสิ่งดีๆ ติดมือกลับบ้าน
หลังจากจบงานแฟร์แล้ว อาจเที่ยวสำรวจสภาพเมือง สังคม และวัฒนธรรมท้องที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำรวจตลาดค้าส่งหรือตลาดค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสาขาธุรกิจของบริษัท เพื่อเรียนรู้ลักษณะสินค้าและสภาพตลาดในปัจจุบัน รวมถึงการสำรวจห้างสรรพสินค้าเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่น หรือเสาะหารายชื่อผู้ผลิต-ผู้นำเข้าจากบรรจุภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่
นอกจากนี้ หากมีเวลาอาจแวะร้านหนังสือหาซื้อนิตยสารที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและหมวดอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อศึกษาถึงรูปแบบสินค้าที่น่าสนใจ หรือหนังสือรายชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้น (Business Directory) ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการส่งจดหมายเชิญรายชื่อผู้ที่คาดว่าเป็นลูกค้าให้เข้าเยี่ยมชมบูธของเราสำหรับการออกงานแฟร์ในอนาคต หรือหนังสือรวมรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมออกงานแสดงสินค้า (Fair Catalogue หรือ Fair Directory) ซึ่งจะมีข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทพร้อมข้อมูลติดต่อ ทั้งนี้ Fair Directory ของงานแฟร์บางแห่งจะระบุถึงวัตถุประสงค์การเข้าร่วมงานแฟร์ของบริษัทนั้นๆ ด้วย เช่น ต้องการหาผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า ตัวแทนการค้าสินค้าต่างๆ เป็นต้น
4. เข้าพบหน่วยงานไทย.. รู้จักไว้ไม่เสียหลาย
หลังจากที่เสร็จสิ้นภาระกิจในงานแฟร์แล้ว หากมีเวลาเหลือจากการติดต่อธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการไทยสามารถติดต่อกับหน่วยงานไทยในจีนที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ เช่น ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนทั้ง 9 แห่ง สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในจีน สำนักงานส่งเสริมการลงทุน สมาคมการค้า หรือหอการค้าไทยในจีน เป็นต้น เพื่อทำความรู้จักและเข้าใจบทบาทหน้าที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนของหน่วยงานรัฐเหล่านี้ ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะมอบข้อมูลทางการค้าที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจไทย
5. สานสัมพันธ์ลูกค้า.. ประเมินค่าผลลัพธ์หลังกลับถึงไทย
หลังจากกลับถึงไทยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรทำ คือ การส่งอีเมล์เพื่อขอบคุณลูกค้าที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมบูธตามที่ได้มีโอกาสแลกนามบัตรกันไว้เพื่อสร้างความประทับใจ พร้อมทั้งแนบข้อมูลบริษัทและสินค้าในอีเมล์เพื่อให้ลูกค้าทำความเข้าใจเพิ่มเติมด้วย รวมถึงควรจัดทำสรุปข้อมูลของลูกค้าทั้งหมดไว้โดยจัดแบ่งกลุ่มอย่างชัดเจน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสำหรับการออกงานแฟร์ปีถัดๆ ไปด้วย
นอกจากนี้ หลังการเข้าร่วมงานแฟร์ในแต่ละครั้งควรมีการประเมินผลลัพธ์ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ โดยควรประมวลปัญหาหรืออุปสรรคที่ได้พบเจอในทุกขั้นตอนของการเข้าร่วมงานแฟร์ เพื่อใช้เป็นประสบการณ์สำหรับเตรียมตัวและการตัดสินใจเข้าร่วมงานแฟร์อื่นๆ ในครั้งต่อๆ ไป
ข้อมูลเบ็ดเตล็ด.. เกร็ดเล็กๆ แต่มีประโยชน์
1. สองมือยื่นนามบัตร.. จัดแบ่งเกรดลูกค้า
การแลกนามบัตรเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในระหว่างช่วงเข้าร่วมจัดงานแฟร์ ซึ่งต้องใช้ความพิถีพิถันเช่นกัน โดยส่วนใหญ่แล้วธรรมเนียมจีนมักจะใช้สองมือจับนามบัตรที่หันด้านชื่อส่งให้กับผู้รับ ซึ่งแสดงถึงความเคารพต่อฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ หากได้รับนามบัตรและพบว่าขาดข้อมูลบางส่วน เช่น อีเมล์ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ก็ควรจะรีบถามในทันที ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเสียมารยาท ทั้งนี้ ควรมีการจัดแบ่งเกรดของนามบัตรที่ได้รับด้วย โดยอาจแบ่งเป็นกลุ่มผู้สนใจมาก (เกรด A) กลุ่มผู้สนใจน้อย (เกรด B) หรือบุคคลทั่วไปที่ไม่สนใจโดยแลกนามบัตรเพื่อต้องการของแจก (เกรด C) เป็นต้น เพื่อที่จะง่ายต่อการติดตามประเมินผลหรือการส่งอีเมล์ขอบคุณหลังจากเสร็จสิ้นงานแฟร์ด้วย
นอกจากนี้ ตามที่ได้เคยกล่าวแล้วในบทความตอนแรกว่า นามบัตรที่จะเตรียมมอบให้กับฝ่ายจีน หากเป็นไปได้ควรจะมีภาษาจีนประกอบด้วย เนื่องจากยังชาวจีนจำนวนมากที่ไม่เชียวชาญภาษาอังกฤษ
2. ถ่ายรูปเตือนความจำ
ในกรณีที่สนทนากับผู้เข้าชมบูธแล้วพบว่า บุคคลนั้นมีความสนใจในสินค้าของบริษัท ผู้ประกอบการไทยอาจเชิญให้ถ่ายรูปร่วมกันที่บูธได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเสียมารยาท โดยประโยชน์จากการถ่ายรูปร่วมกัน คือ ช่วยเตือนความจำให้กับทั้ง 2 ฝ่ายได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งอีเมล์ขอบคุณผู้เข้าชมบูธ พร้อมแนบรูปที่ถ่ายร่วมกันไว้ ตามที่ได้กล่าวแล้วในข้างต้น เผื่อว่าอนาคตจะมีโอกาสร่วมมือทางการค้ากัน คู่ค้าจีนก็ยังยังสามารถจำได้ว่าเคยพบเจอกับเราในงานแฟร์ใดและเมื่อไร
3. อย่ามองคนเพียงภายนอก (ผ้าขี้ริ้วห่อทองในจีนยังมี)
เนื่องจากงานแฟร์ในจีนจะไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องการแต่งกายของผู้เข้าชม ดังนั้น จึงอาจพบเห็นชาวจีนสวม กางเกงขาสั้นและรองเท้าแตะมาเดินชมงานแฟร์ แต่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองคนเข้าชมคูหาแค่ภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น เนื่องจากยังมีคนจีนจำนวนมากที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่งกายธรรมดาสามัญเข้าร่วมงานแฟร์ แต่แท้จริงแล้วเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ที่ธุรกิจมีศักยภาพและปริมาณนำเข้าสินค้าสูง
4. ระวังธนบัตรปลอม!!
กรณีที่เป็นงานแฟร์แบบค้าปลีก (ไม่ใช่งานแฟร์ที่เน้นการหาคู่ค้าธุรกิจในระยะยาว) ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของผู้เข้าชมชาวจีน คือ การซื้อสินค้าเป็นไปบริโภคเอง หรือกรณีวันสุดท้ายของงานแฟร์ที่อนุญาตให้ผู้เข้าชมรายย่อยสามารถเข้างานได้ ซึ่งเป็นส่วนดีที่ผู้เข้าออกบูธจะสามารถเคลียร์สินค้าหน้างานและไม่ต้องเสียค่าขนส่งนำกลับไทย โดยทั้งสองกรณีข้างต้นมักจะมีผู้ไม่หวังดีใช้ธนบัตรปลอมเข้าซื้อสินค้า โดยอาศัยว่าผู้ขายอาจไม่มีเวลาตรวจสอบอย่างดี เนื่องจากมีผู้คนรุมเข้ามาซื้อกันจำนวนมาก ในบางครั้งอาจใช้เทคนิคการเปลี่ยนธนบัตรปลอมให้กับผู้ขายโดยไม่ทันได้ระวังตัว ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะตรวจสอบธนบัตรที่ได้รับอย่างรอบคอบ โดยอาจใช้จำวิธีการจดตัวเลขท้ายธนบัตร หรือใช้อุปกรณ์ช่วยตรวจสอบ เช่น ปากกาทดสอบ(验钞笔 : เยี่ยนเชาปี่)หรือไฟฉายทดสอบ(验钞灯 : เยี่ยนเชาเติง)เป็นต้น
บทสรุป
จีนเป็นตลาดใหญ่ที่มีการแข่งขันสูงจากทั้งผู้ค้าในประเทศและจากหลากหลายประเทศที่เข้ามาแสวงหาโอกาส การเข้าร่วมงานแฟร์ในจีนถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่นักธุรกิจไทยสามารถนำเสนอสินค้าตรงสู่ผู้ที่สนใจในตลาดจีน เนื่องจากงานแฟร์เป็นที่รวบรวมทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมากมายไว้ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งผู้ซื้อจะมีตัวเลือกที่หลายหลาย ประกอบกับวัฒนธรรมการค้าในจีนยังมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ดังนั้น นักธุรกิจไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวเข้าร่วมงานแฟร์ตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งจบงานอย่างดีพร้อม โดยปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จไม่ได้กำหนดไว้เพียงแค่ในช่วงเวลาระหว่างที่ออกงานแสดงแฟร์เท่านั้น แต่มาจากการเตรียมตัวทำการบ้านล่วงหน้าและติดตามผลลัพทธ์หลังจากเสร็จสิ้นงานอีกด้วย
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความทั้ง 2 ตอนที่ศูนย์ BIC เซี่ยงไฮ้ได้นำเสนอมา จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย อย่าลืมว่า“โอกาสทองจะเป็นของผู้ที่พร้อมเสมอ” !!
ลิงค์บทความที่เกี่ยวข้อง
______________________
จัดทำโดย น.ส. เทพรัตน์ ตันติกัลยาภรณ์ เรียบเรียงโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้
แหล่งข้อมูล : การสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ส่งออกไทยที่เคยมีประสบการณ์เข้าร่วมงานแฟร์ในจีนและประเทศอื่นๆ