ซอกแซกฮ่องกง – นักอ่านชาวฮ่องกงจำนวนมากแห่ร่วมงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 24
25 Jul 2013
![]() ในระหว่างวันที่ 17 ถึง 23 กรกฎาคม 2556 Hong Kong Trade Development Council ได้จัดงานมหกรรมหนังสือประจำปี 2556 (Hong Kong Book Fair 2013) ขึ้นเป็นครั้งที่ 24 ณ Hong Kong Convention and Exhibition Centre งานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2533 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ชาวฮ่องกงมีนิสัยรักการอ่านซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการเรียนรู้และนับว่าเป็นงานใหญ่ประจำปีของฮ่องกง เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยปีที่แล้วมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 9 แสนคน สำหรับประเภทของหนังสือและสินค้าที่นำมาวางขายในงานปีนี้แบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ หนังสือทั่วไปและนิตยสาร หนังสือสำหรับเด็ก หนังสือเกี่ยวกับศาสนา หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ multimedia product และเครื่องเขียน ซึ่งสำนักพิมพ์ของฮ่องกงและสำนักพิมพ์จากต่างประเทศจำนวนมากนำมาเสนอขายพร้อมกับโปรโมชั่นต่างๆ ที่น่าสนใจ
![]() ![]() ![]() ![]() ในปีนี้ งาน Hong Kong Book Fair ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชนที่แห่กันมารอเข้าแถวซื้อบัตรเข้าชมงานเป็นแถวยาวเหยียดทุกวัน จนทำให้เกิดปรากฏการณ์รถติดขัดบริเวณสถานที่จัดงาน ซึ่งงานนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนที่เสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นเสมือนเทศกาลประจำปีที่นักอ่านทุกคนไม่พลาด เนื่องจากมีเพียงปีละครั้งที่จะได้ซื้อหนังสือในราคาถูกจากทั่วโลกทั้งที่เป็นภาษาจีน อังกฤษ และภาษาอื่นๆ
จากการสำรวจงานของบีไอซีพบว่า จำนวนคนที่มาร่วมงานและความหลากหลายของประเภทหนังสือที่วางขายบ่งชี้ว่า รัฐบาลฮ่องกงประสบความสำเร็จอย่างมากในการปลูกฝังให้ประชาชนเป็นคนรักหนังสือและรักการอ่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในคำตอบว่า ทำไมคนฮ่องกงส่วนใหญ่จึงเป็นคนมีความรู้ และมักมีงานดีๆ ทำ นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าฮ่องกงจะเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีที่ทุกคนมีทั้งโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุด ไอแพด และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ให้บริการการอ่านผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงหรือ e-books แต่หนังสือที่สามารถจับต้องและเปิดอ่านได้ก็ยังคงอยู่ในใจนักอ่านนับล้าน
บีไอซียังพบหนังสือหลากหลายประเภทในราคาเป็นมิตรที่น่าสนใจสำหรับนักอ่านไทย รวมทั้งหนังสือที่กำลังเป็นที่นิยมในบ้านเรา อาทิ “ธรรมชาติช่วยชีวิต” หนังสือเกี่ยวกับสุขภาพที่เขียนโดยชาวจีน “ดร.ทอม อู๋” ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนไทยรักสุขภาพก็ถูกนำมาวางขายในงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีหนังสือประเภทต่างๆ เกี่ยวกับเมืองไทย โดยส่วนมากจะเป็นด้านอาหาร ศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เช่น หนังสือสอนทำอาหารไทย หรือ หนังสือท่องเที่ยวไทย ที่ชาวฮ่องกงและชาวต่างชาติต่างก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน แสดงให้เห็นศักยภาพของหนังสือไทยประเภทดังกล่าวที่สามารถนำมาตีตลาดในระดับสากลได้ โดยหากได้รับการแปลเป็นภาษาจีนหรืออังกฤษก็น่าจะขายดีในงานนี้เช่นกัน
![]() ![]() นอกจากการขายหนังสือและสินค้าอื่นๆ แล้ว ภายในงานมหกรรมหนังสือปีนี้ยังมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ การสัมมนา การแสดง และกิจกรรมพบปะนักเขียน เป็นต้น บีไอซียังได้พบว่า คุณ “อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง” นักแปลหนังสือชาวไทยที่กำลังมาแรงที่สุดคนหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้บรรยายในงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “International Publishing Forum” ด้วยเช่นกัน หนังสือที่คุณอธิชาแปลมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่หนังสือนิยาย เรื่องสั้น รวมไปถึงการ์ตูน ตัวอย่างผลงานการแปลที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย อาทิ “ปาฏิหาริย์รักต่างภพ” “เจ็ดวันเพื่อหนึ่งนิรันดร” และ “ไตรภาคนิโกโปล”
อย่างไรก็ดี หนังสือที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักอ่านฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน คือ หนังสือที่นำเสนอแนวคิดทางการเมือง โดยข่าวจากหนังสือพิมพ์ South China Morning Post กล่าวว่า การเมืองเป็นประเด็นร้อนที่ชาวฮ่องกงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนฮ่องกงมองว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะฮ่องกงเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษเป็นเวลานาน คนฮ่องกงจึงได้รับแนวคิดแบบประชาธิปไตย มาไม่มากก็น้อย แม้ในปัจจุบันฮ่องกงจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่ง แต่หลายครั้งรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลกลางก็มีความคิดแตกต่างกัน ดังนั้นประเด็นทางการเมืองจึงเป็นประเด็นที่หลายคนกำลังจับตามอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้ เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยที่การเมืองยังเป็นประเด็นสำคัญและได้รับความสนใจอยู่เสมอ หากแต่เยาวชนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องการเมืองมากเท่าที่ควร งานมหกรรมหนังสือครั้งนี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า หนังสือยังคงเป็นสื่อสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาความคิดของประชาชน คนไทยทุกคนจึงน่าจะหันมาให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน บีไอซีก็อยากเห็นสำนักพิมพ์ต่างๆ ของไทย คัดสรรหนังสือที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน หากหนังสือเหล่านั้นประสบความสำเร็จในประเทศไทยแล้วก็คงจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะได้รับการแปลและตีพิมพ์ในภาษาอื่นๆ
![]() บีไอซีมองว่า งานมหกรรมหนังสือของฮ่องกงถือเป็นอีกงานหนึ่งที่มีคุณภาพจากการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 24 ครั้งแล้ว บูธขายหนังสือและสินค้าต่างๆ ภายในงานจึงถูกจัดขึ้นอย่างเป็นระเบียบและมีการบริการที่ดี นอกจากนี้ การที่ชาวฮ่องกงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างมีนิสัยรักการอ่านและชอบการเรียนรู้ ประกอบกับการประชาสัมพันธ์ที่ดีจากผู้จัดงาน งานมหกรรมหนังสือของฮ่องกงจึงเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีของทั้งชาวฮ่องกงและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฮ่องกง ทำให้มีมูลค่าการซื้อขายมหาศาล อย่างไรก็ดี ถ้าเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว หนังสือภาษาอังกฤษและภาษาต่างชาติอื่นๆ ยังถือว่ามีน้อยกว่าหนังสือภาษาจีนมาก แต่ในบริเวณที่ขายหนังสือภาษาอังกฤษก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กับโซนอื่นๆ เลย บีไอซีจึงหวังว่า ในปีต่อๆ ไป เราจะได้เห็นสำนักพิมพ์และหนังสือสัญชาติไทยเปิดมุมไทยในงาน Hong Kong Book Fair กันบ้าง สำหรับสำนักพิมพ์หรือนักอ่านชาวไทยที่สนใจก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในงานมหกรรมหนังสือฮ่องกงได้ในปีหน้า โดยติดตามข้อมูลข่าวสารงานมหกรรมหนังสือฮ่องกงได้ที่ http://www.hkbookfair.hktdc.com/en/index.aspx
|