ซอกแซกฮ่องกง – งาน Hong Kong International Tea Fair เรื่องชาๆ ที่ไม่ควรรอช้า

11 Sep 2013
สำหรับชาวจีนแล้วชามิได้เป็นเพียงเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาช้านานนับพันปีอีกด้วย เช่นเดียวกันกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ คนฮ่องกงก็นิยมดื่มชาและมีพิธีการที่พิถีพิถันในการชงชา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมานาน จึงผสมผสานเอาวัฒนธรรมในการชงชาและดื่มชาแบบอังกฤษมาดัดแปลงเป็นรูปแบบเฉพาะของชาฮ่องกงด้วย บีไอซี

จึงขอนำเรื่องงาน Hong Kong International Tea Fair ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 สิงหาคม 2556 ณ Hong Kong Convention and Exhibition Centre โดย Hong Kong Trade Industry Department ที่บีไอซีไปสำรวจมาเล่าสู่กันฟัง


มารู้จักกับงานชาระดับนานาชาติ
งาน Hong Kong International Tea Fair เป็นงานมหกรรมชาระดับโลกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 2552 โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่าสองหมื่นคน จากการเดินสำรวจงานของบีไอซีพบว่า การจัดงานชาของฮ่องกงเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยมีการจัดแสดงบูธแบ่งเป็นส่วน ๆ ตามประเภทสินค้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ชา บรรจุภัณฑ์สำหรับชา อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับแปรรูปชา เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการผลิตชา งานฝีมือที่ทำจากชา ขนมและอาหารที่มีส่วนผสมของชา (เช่น บิสกิตและขนมหวานต่าง ๆ) ชาแปรรูป ใบชา อุปกรณ์การชงชา เป็นต้น เพื่อให้ผู้ซื้อจากทั่วทุกมุมโลกได้สัมผัสและทดลองชิม โดยมีผู้ประกอบการร่วมออกบูธจำนวนกว่า 300 ราย

จากทั้งหมด 12 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้ประกอบการจากแหล่งผลิตชารายใหญ่ของโลก เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่นและศรีลังกา ที่ต่างแข่งขันกันนำสินค้าของตนมานำเสนอผู้ซื้อ


การประกวดสุดยอดชาแห่งปีประจำงานแฟร์
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานออกบูธแสดงสินค้ายังได้ส่งสินค้าของตัวเองเข้าประกวดเพื่อรับรางวัลสุดยอดชาแห่งปี (Outstanding Tea Award) โดยแบ่งประเภทการประกวดชาออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่


1. Aged Tea เป็นชาที่ผ่านกรรมวิธีหมักมานานนับปี แล้วปั้นเป็นก้อนขนาดต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ขนาดเท่าหัวแม่มือไปจนถึงขนาดเท่าโต๊ะกลม ๆ
2. Black Tea (C.T.C) เป็นชาที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตโดยใช้เครื่องจักรใน

กระบวนการแปรรูปชา โดยทั่วไปชาประเภทนี้จะใช้เครื่องจักรในการหั่นใบชาให้มี

ขนาดเล็กลง ใบชาที่ใช้จะมีคุณภาพด้อยกว่าใบชาสำหรับ Black Tea (Orthodox)
3. Black Tea (Orthodox) เป็นชาที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตโดยใช้แรงงานมนุษย์ในการนวดใบชาแทนการใช้เครื่องจักรในขั้นตอนของกระบวนการแปรรูป รวมถึงใบชาที่ใช้ในกระบวนการผลิตทั้งหมดนั้นก็ทำด้วยวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม
4. Green Tea (ชาเขียว) เป็นชาที่เก็บเกี่ยวจากพืชในชนิด Camellia sinensis

 (เช่นเดียวกับ ชาขาว ชาดำ และชาอู่หลง) ชาเขียวเป็นชาที่ไม่ผ่านการหมัก ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีคุณสมบัติในการต้านทานโรคได้นานาชนิดจึงเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่ น้ำชาจะมีสีเขียวหรือสีเหลืองอมเขียว ไม่มีกลิ่น แต่จะมีการแต่งกลิ่นเพื่อให้

เกิดความน่ารับประทานมากขึ้น
5. Oolong Tea (ชาอู่หลง) เป็นชากึ่งหมัก ผ่านกระบวนการนวดเล็กน้อย ใช้เวลา

ไม่มากนัก มีกลิ่นหอม รสชาติชุ่มคอ ถ้าเป็นชาร้อน จะเห็นสีเขียวของใบชาอยู่ รสชาติจะจืดกว่าชาเขียว
6. Pu-er Tea (ชาผู่เอ๋อ) เป็นชาที่ปลูกทางภาคใต้ของมณฑลยูนนาน ที่เมืองผู่เอ๋อ โดยชนชาติหยีซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งใน มณฑลยูนนาน ชาผู่เอ๋อนับว่าเป็นชาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เปรียบกันว่ามีราคาเท่ากับทองคำเลยทีเดียว ชาผู่เอ๋อ เป็นชาหมัก น้ำชามีสีดำ ผลิตมาจากชาพันธุ์ใบใหญ่ยูนนาน ชาชนิดนี้ถ้าได้ดื่มเป็นครั้งแรกจะรู้สึกว่ามีกลิ่นแรงและรสชาติเข้มข้นมาก แต่เมื่อดื่มครั้งต่อ ๆ ไปจะรู้สึกติดใจจนลืมไม่ลง ชาผู่เอ๋อมีกรรมวิธีการผลิตแบบโบราณโดยการหมักไว้ในเข่งตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่และ

รองด้วยใบตองหมักแล้วอัดเป็นก้อนตั้งแต่ขนาดเท่าหัวแม่มือไปจนถึงขนาดเท่าโต๊ะกลม ๆ แล้วเก็บไว้ตั้งแต่ 1 ปี 5 ปี 10 ปี ไปจนถึง 20 ปีถึงนำออกขาย


ผลการประกวดปรากฏว่า ชาจากบริษัท Hunan Yiyang Tea Processing Factory Co.Ltd ได้แชมป์ประเภท Aged Tea บริษัท An Hui Yi Xiao Tang Tea Industry Co. Ltd ได้แชมป์ประเภท Green Tea บริษัท Chaoan Country Jiyunxiang Tea Co.Ltd

ได้แชมป์ประเภท Oolong Tea บริษัท Huan Shan Cultural Creative Co.Ltd ได้แชมป์ประเภท Black Tea และบริษัท Ming Cha Limited ได้แชมป์ประเภท Pu’er Tea ตามลำดับ


การสาธิตการชงชาที่ไม่เหมือนใคร
ภายในงานยังมีการสาธิตวิธีการชงชานมฮ่องกงให้แก่ผู้ที่เข้าชมงาน ซึ่งได้รับ

การสนับสนุนโดยสมาคมชาและกาแฟฮ่องกง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคงเอกลักษณ์การชงและดื่มชานมประเภทนี้ไว้ และเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้ชมด้วย การชงชาที่เป็นเอกลักษณ์ของฮ่องกงจะมีการเติมนมเพื่อเพิ่มความกลมกล่อมของรสชาติ

การดื่มชานมร่วมกับอาหารเช้าจึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนฮ่องกงท้องถิ่นเลยทีเดียว บีไอซียังได้มีโอกาสลองดื่มชาด้วยและเห็นว่า ชานมฮ่องกงมีรสชาติเข้มข้นหอมมัน แตกต่างจากชาไทยตรงที่ชานมฮ่องกงไม่ใส่นมข้นหวาน จึงทำให้ยังคงรสชาติของชาแท้ที่ไม่หวานจัด นอกจากนี้ บีไอซียังได้ขอให้ผู้ประกอบการ

รายหนึ่ง สาธิตการชงชานมผสมกาแฟให้เป็นพิเศษ เราเลยได้เห็นการชงชาที่คล้ายการชงชาชักบ้านเรา ซึ่งมีการเทชาจากที่สูงเพื่อให้ผสมชาและกาแฟได้เป็นเนื้อเดียวกัน น่าสนใจและน่าลองดื่มมาก


ชาไทย……สู่ชาโลก
จากการได้ลองชิมและสัมผัสกรรมวิธีการชงชาฮ่องกง บีไอซีเห็นว่า การแนะนำชานมไทยให้ผู้บริโภคและผู้ซื้อชาวฮ่องกงได้รู้จัก

ไม่น่าที่จะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากรสชาติชานมเย็นของไทย ก็มีความคล้ายคลึงกับชานมของฮ่องกงที่เป็นที่นิยมดื่มกันในหมู่คนฮ่องกง

ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจของเว็บไซด์ CNN Travel (http://www.travel.cnn.com/explorations/drink/worlds-50-most-delicious-drinks-883542) ในปี 2555 โดยทำการสำรวจจากนักท่องเที่ยวพบว่า ชาไทยใส่นม หรือชานมเย็น หรือชาเย็นของไทย

ได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 27 จาก 50 สุดยอดเครื่องดื่มจากทั่วโลก บริษัทชาของไทยจึงน่าจะ นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการโปรโมทอุตสาหกรรมชาไทยในตลาดโลก โดยอาจใช้มหกรรมชานานาชาติ ที่ฮ่องกงเป็นใบเบิกทางการเข้าสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ ฮ่องกงเป็นตลาดที่

ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และให้ความสนใจกับสินค้าตัวใหม่ ๆ ที่เข้าสู่ตลาด โดยบีไอซียังได้รับคำยืนยันสนับสนุนอีกเสียงหนึ่งจาก

คุณ Loretta Wan, Director of Exhibitions Market Development ของ Hong Kong Trade Development Council (HKTDC)

ซึ่งเคยปฏิบัติงานที่สำนักงาน HKTDC ในประเทศไทยว่า ชานมเย็นไทยมีรสชาติอร่อยไม่แพ้ชานมฮ่องกง จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่บริษัทชาของไทยไม่ได้มาร่วมงานมหกรรมชานานาชาติที่ฮ่องกงในครั้งนี้ เพราะประเทศไทยก็มีแหล่งผลิตชาที่สำคัญในทางภาคเหนือของประเทศ และยอดชาที่เก็บได้จากประเทศไทยนั้นก็ให้รสชาติอร่อยไม่แพ้ชาจากที่ใดในโลก ซึ่งทางบีไอซีก็เห็นด้วยกับคำพูดของคุณ Loretta Wan อย่างยิ่ง และก็หวังว่าจะได้เห็นบริษัทชาของไทยเข้าร่วมงานมหกรรมชานานาชาติที่ฮ่องกงในคราวต่อไป


บีไอซีอยากสื่อไปถึงผู้ประกอบการไทยว่า นอกเหนือจากผู้บริโภคชาวฮ่องกงแล้ว ด้วยความที่เมืองฮ่องกงมีความเป็นนานาชาติสูง การนำเอาชานมเย็นของไทยมาสร้าง "brand awareness" ในฮ่องกงจึงน่าจะส่งผลกว้างไม่เฉพาะกับคนท้องถิ่นในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฮ่องกงด้วย ซึ่งจะช่วยให้สามารถต่อยอดการขยายผลิตภัณฑ์สู่ตลาดในประเทศอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น แม้ว่าฮ่องกงจะเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็ก หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่กลับเป็นตลาดที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันสินค้าสู่ตลาดโลก ผู้ประกอบการและผู้ผลิตชาของไทยจึงน่าจะลองนำชาดี ๆ มานำเสนอในงาน Hong Kong International Tea Fair ในปีหน้า ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 14-16 สิงหาคม 2557 ณ Hong Kong Convention and Exhibition Centre โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.hktdc.com/fair/hkteafair-en/

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน