ซอกแซกประชุมสภาฯ กว่างซี รู้จักทิศทางการพัฒนาของเขตฯ กว่างซีจ้วง ในปี 2556
29 Mar 2013เมื่อวันที่ 22-29 ม.ค. 2556 ทางการเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (มณฑลกว่างซี) ได้จัดการประชุมสภาผู้แทนประชาชนกว่างซี สมัยที่ 12 ครั้งที่ 1 ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจอาจศึกษา เพื่อประกอบการวางแผนการค้าและการลงทุนในเขตฯ กว่างซีจ้วง ดังนี้
1. การประชุมฯ เป็นเวทีการหารือประจำปีของสภาผู้แทนประชาชน
โดยวาระที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ
- การพิจารณาผลการปฏิบัติงานระหว่าง 2551-2555 ของรัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วง และ
- การรับรองเป้าหมายการดำเนินงาน รวมถึงแผนการปฏิบัติงานในปี 2556 ของรัฐบาลเขตฯ
2. ผลการปฏิบัติงานของรัฐบาลเขตฯ ระหว่าง 2551-2555
2.1 ในภาพรวม สรุปได้ว่า ในช่วง 2551-2555 รัฐบาลกว่างซี ได้ประสบความสำเร็จในระดับที่มีนัยสำคัญในการ
- ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้มีความทันสมัย
- พัฒนาด้านการเกษตร โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร
- พัฒนาเส้นทางคมนาคมและระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการโครงการเพื่อสาธารณะและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (อาทิ การเร่งการวางระบบโครงสร้างในพื้นที่อ่าวเป่ยปู้กว่างซีและระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์ การสร้าง “กลุ่มอุตสาหกรรม” ในพื้นที่ต่างๆ
- ขยายความอุปสงค์ภายใน เพิ่มการลงทุนภาครัฐและการบริโภค รวมถึงการบุกเบิกการเปิดสู่ภายนอก โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหา/ข้อจำกัดที่ต้องแก้ไข
2.2 ในเชิงสถิติ (ระหว่าง 2551-2555) ผลการดำเนินงานที่เป็นจุดเด่น ได้แก่
- GDP ของกว่างซี เพิ่มจาก 58.2341 แสนล้านหยวน เป็น 1.3 ล้านล้านหยวนในปี 2555 (โต 2.2 เท่าใน 5 ปี) เฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี
- รายได้เฉลี่ยต่อปีต่อคน เพิ่มจาก 1,615 เป็น 4,427 ดอลลาร์สหรัฐ
- รายได้การคลัง เพิ่มจาก 70,390 เป็น 180,1007 ล้านหยวน
- การลงทุนในทรัพย์สินถาวร เพิ่มจาก 29.7 แสนล้านหยวน เป็น 1.26 ล้านล้านหยวน
- มูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มจาก 61.03 แสนล้านหยวน เป็น 1.8 ล้านล้านหยวน
- ยอดการขายปลีก เพิ่มจาก 1.9327 เป็น 4.4746 แสนล้านหยวน และ
- ยอดการค้าต่างประเทศ เพิ่มจาก 9,280 เป็น 29,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.3 อุปสรรค/ข้อจำกัดในการดำเนินงาน – เมื่อเทียบกับอีกหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกกว่างซียังมีระดับการพัฒนาที่ด้อยกว่ามาก ดังจะเห็นได้จากการมีขนาดเศรษฐกิจที่ยังไม่ใหญ่นัก รายได้เฉลี่ยต่อหัวยังต่ำ อัตราความเป็นเมืองยังน้อย อุตสาหกรรมยังมีโครงสร้างที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตรที่ยังมีพื้นฐานไม่แข็งแรง ข้อจำกัดเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค ความสามารถด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ขาดแคลนบุคลากร ขาดความเป็นสากล ใช้การพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบฉาบฉวย ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีประชาชนที่ยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การพัฒนาของกว่างซีจึงต้องใช้ระยะเวลาที่มากกว่า ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่สำคัญของการพัฒนา
3. เป้าหมายการปฏิบัติงานของรัฐบาลเขตฯ รวมถึงแผนการปฏิบัติงานในปี 2556
3.1 ในภาพรวม รัฐบาลเขตฯ จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ
- การบรรลุเป้าหมายการเป็นสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน (“เสี่ยวคัง”) โดยกำหนดให้ในปี 2563 กว่างซีมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนของกว่างซี 84,500 หยวน (มี GDP 4.2 ล้านล้านหยวน)
- การพัฒนาอุตสาหกรรมตาม “นโยบายอุตสาหกรรม 14+10” (การปรับโครงสร้างและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์/เพื่ออนาคต/รักษาสิ่งแวดล้อม)
- การทำให้ระบบระบบคมนาคมขนส่งมีความทันสมัยและสมบูรณ์ (โดยกว่างซีกำลังเข้าสู่ยุครถไฟความเร็วสูง ในปี 2556 และในอนาคตอันใกล้ จะมีการเปิดใช้เส้นทางนครหนานหนิง-นครฉางซา-กรุงปักกิ่ง เส้นทางนครหนานหนิง-เมืองอู๋โจว นครหนานหนิง-เมืองชินโจว-ฝางเฉิงก่าง-เป๋ยไห่ ระยะทางรวม 1,137 กม.)
- การพัฒนาความเป็นเมือง (urbanization) อย่างมีคุณภาพ โดยจะมีการจัดตั้งเขตเมืองใหม่ในหลายพื้นที่ อาทิ เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงที่นครหนานหนิง เขตเมืองรถยนตร์ที่เมืองหลิ่วโจว เขตเมืองท่องเที่ยวนานาชาติที่เมืองกุ้ยหลิน
- การผลักดันการบุกเบิกและเปิดสู่ภายนอกอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะกับอาเซียน และฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน และ
- การรักษาวัฒนธรรมที่ดีงาม เร่งรัดการพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคม ปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่
3.2 เพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้น ในปี 2556 รัฐบาลเขตฯ มีแผนงานที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วนใน 10 ด้าน ได้แก่
- เพิ่มรายได้ของเกษตรกร รวมถึงการเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตรในชนบท และ การปรับปรุงระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- เพิ่มรายได้ของประชาชนในเมืองและปรับปรุงคุณภาพชีวิต รวมถึงการยกระดับสวัสดิการและประกันสังคม และช่วยพัฒนาธุรกิจรายย่อย
- เร่งปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมและยกระดับประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมในภาพรวม โดยในปี 2556 จะมีการใช้เงินลงทุน 5.53 แสนล้านหยวน เพื่อการนี้ อาทิ การยกระดับศูนย์การวิจัยเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การสร้างศูนย์เทคโนโลยีจีน-อาเซียน และการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง
- เร่งการสร้างความเป็นเมือง และพัฒนาชนบท
- ดำเนินการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมการลงทุนและการบริโภค โดยจะผลักดันการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (อาทิ โครงการคมนาคมที่ช่วยการเชื่อมโยงด้านคมนาคมกับอาเซียน การเพิ่มเส้นทางรถไฟอีก 1,038 กิโลเมตร เพิ่มถนนทางด่วนอีก 5 สาย ส่งเสริมให้แม่น้ำซีเจียงรองรับการขนส่งได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านตัน เพิ่มปริมาณขนส่งสินค้าผ่านท่าเรืออ่าวเป่ยปู้อีก 15 ล้านตัน เร่งรัดการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมที่สนามบินหนานหนิง โครงการพลังงานและชลประทาน โครงการท่อก๊าซธรรมชาติจีน-พม่าในส่วนกว่างซี)
- พัฒนาโครงสร้างในพื้นที่อ่าวเป่ยปู้และระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์ให้มีความสมบูรณ์ เพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพของเศรษฐกิจในภูมิภาค
- ส่งเสริมการประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- ผลักดันการปฏิรูปและการเปิดสู่ภายนอก
- ส่งเสริมวัฒนธรรมชนชาติของกว่างซี และ
- พัฒนากิจการสังคมที่เน้นการคุ้มครองและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยในปี 2556 จะจัดสรรงบประมาณ 45,400 ล้านหยวน เพื่อการนี้