“ซอกแซกกวางตุ้ง-ไห่หนาน” เมืองจ้านเจียงของมณฑลกวางตุ้ง อีกหนึ่งฐานรองรับการลงทุนจากอาเซียน

23 May 2013

เพิ่งจะผ่านพ้นไปสำหรับงานการประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลอาเซียน-จีน (กวางตุ้ง) ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง เมื่อวันที่ 10-12 เมษายน 2556 โดยมีนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจากอาเซียนและจากประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมกว่า 350 คน เพื่อแนะนำโอกาสการลงทุนในมณฑลกวางตุ้งให้กับนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลในอาเซียนซึ่งเป็นกิจกรรมใหญ่ต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายนปีก่อนหน้านี้ที่จ้านเจียงได้จัด “กิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน- อาเซียน”

ความเป็นมาเป็นไปของงานประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลอาเซียน-จีน (กวางตุ้ง)

งานประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลอาเซียน-จีน (กวางตุ้ง) เกิดขึ้นจากแนวคิดของสำนักกิจการชาวจีนโพ้นทะเลภายใต้คณะมุขมนตรี (Overseas Chinese Affairs Office of the State Council) ที่เล็งเห็นว่า มณฑลกวางตุ้งมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในด้านเศรษฐกิจและเป็นบ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมาก ชาวจีนโพ้นทะเลรวมถึงชาวจีนในฮ่องกงและมาเก๊ามีบทบาทสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจมณฑลกวางตุ้งพัฒนาอย่างรวดเร็ว

W020130412353520777335.jpg

พิธีเปิดงานประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลอาเซียน-จีน (กวางตุ้ง)

สำนักกิจการชาวจีนโพ้นทะเลฯ ในฐานะหน่วยงานที่พัฒนาทรัพยากรและจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ จึงได้ลงนามกับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2554 เพื่อจัดงานดังกล่าวขึ้นเป็นประจำทุกสองปีที่เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความสัมพันธ์กับ “เพื่อนร่วมชาติโพ้นทะเล” (海外同胞) และทำให้ความฝันของจีน (China’s Dream) ให้เป็นจริง ตามคำกล่าวของประธานาธิบดี.สี จิ้นผิง ในการพัฒนาจีนและพัฒนาโลก

ทั้งนี้ มณฑลกวางตุ้งให้ความสำคัญกับอาเซียนในฐานะพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในการกระจายการลงทุนตามนโยบาย “ก้าวสู่โลก” (Go Global) เนื่องจากมีชาวจีนโพ้นทะเลกว่า 30 ล้านคนใน กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นพลังขับเคลื่อนนโยบายการปรับเปลี่ยนและยกระดับเศรษฐกิจ (transform and upgrade) สร้างกวางตุ้งเป็นสุข (Happy Guangdong) และสร้างสังคมอยู่ดีกินดี ภายหลังจากที่จีนและกลุ่มอาเซียนได้บรรลุการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น ความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจใหญ่ทั้งสองก็มีความแน่นแฟ้นกันมากขึ้น

ในปี 2555 การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าการค้ากับอาเซียนสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของยอดการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับอาเซียนจะช่วยสร้างมณฑลกวางตุ้งให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งจะสร้างสภาพแวดล้อมทั้งนโยบาย มาตรการ และการบริการที่เอื้อต่อการลงทุนจากอาเซียน และหวังให้งานครั้งนี้เป็นเครื่องมือในการศึกษาซึ่งกันและกันและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้นในอนาคต

เมืองจ้านเจียงซึ่งมีทำเลที่ตั้งใกล้กับอาเซียน และเป็นคู่ค้าและผู้ลงทุนที่สำคัญ อำเภอสวีว์เหวินของเมืองจ้านเจียงเป็นท่าเรือที่พัฒนาในยุคแรก ๆ ของจีนที่มีการค้าขายกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ผ่าน “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ภายหลังจากที่จีนได้เปิดประเทศ จ้านเจียงก็มีการติดต่อกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเสมอมา มีการพัฒนาทางการค้าในทุกด้านโดยเฉพาะหลังการเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การค้าระหว่างจ้านเจียงกับอาเซียนได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่โดยมีกิจกรรมสัมมนาทางการค้าระหว่างรัฐบาลและการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บทบาทของประเทศไทยในงานประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลอาเซียน-จีน (กวางตุ้ง) ครั้งที่ 1

DSC_1103.JPG

ตัวแทนผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชนหลายประเทศเข้าร่วม การประชุม

หอการค้าไทย-จีน (Thai-Chinese Chamber of Commerce) เป็นหนึ่งในองค์กรผู้ร่วมจัดงานในครั้งนี้ด้วย โดยทำหน้าที่เชิญตัวแทนนักธุรกิจทั้งไทยและจีนจากประเทศไทยเข้าร่วมงานประมาณ 10 ราย ที่มีบทบาทสำคัญ อาทิ

  • นายบุญยงค์ ยงเจริญรัฐ (นายหลี่ เจียสง) นายกสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน
  • นาย William Li (นายหลี่ เหวินไห่) รองประธาน Chia Tai Group of Companies
  • นายวิเชียรฯ (นายค้วง จิ่นหรง) นายกสมาคมนักธุรกิจกว๋องสิว (ประเทศไทย)
  • นายหวู ปิ่งหลิน ตำแหน่ง Executive Vice President ชมรมรวมใจชาวจีนทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียว (World Chinese Unity Center-WCUC)

Chia Tai (Zhanjiang) Modern Agricultural Comprehensive Development Base ฐานการผลิตด้านการเกษตรครบวงจรของเครือซีพีในเมืองจ้านเจียง ในรูปขวา คือ การเพาะเลี้ยงไก่แบบปลอดเชื้อที่ดูแลด้วยระบบคอมพิวเตอร์และสายพาน

ช่วงพิธีเปิดในวันที่ 11 เมษายน 2556 เครือเจียไต๋หรือกลุ่มซีพี จากประเทศไทยเป็นหนึ่งในบริษัทจากกลุ่มประเทศอาเซียน ลงนามโครงการลงทุน จำนวน 3 โครงการ จากจำนวน 16 โครงการที่ ประเทศอาเซียนจะลงทุนในเมืองต่าง ๆ ของมณฑลกวางตุ้ง และโครงการที่ชาวจีนโพ้นทะเลไปลงทุนในประเทศอาเซียน ได้แก่

  • โครงการ ASEAN City ที่เมืองจ้านเจียง ลงนามกับ บ.Shenzhen Ding Neng Group Co.,Ltd.
  • โครงการห่วงโซ่อุตสาหกรรมครบวงจรไก่ 25 ล้านตัว และโครงการนำร่องสุกร 100,000 ตัว สำหรับ CP (Zhanjiang) Modern Agricultural Comprehensive Development Base ที่เมืองจ้านเจียง ลงนามกับ Zhanjiang State-owned Assets Supervision
  • โครงการ Forage Production of Aquatic Products ลงนามกับรัฐบาลเขตเจียเฉิง เมืองเจียหยาง

จ้านเจียงอีกหนึ่งฐานการลงทุนของอาเซียน

งานประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลอาเซียน-จีน (กวางตุ้ง) ครั้งที่ 1 ได้ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-อาเซียน โดยมีตัวแทนธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจกับวิสาหกิจในพื้นที่พัฒนาความร่วมมือในโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็ก โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ โครงการลงทุนต่างชาติที่ได้รับการลงนามมี 16 โครงการ ยอดมูลค่าตามสัญญา 10,378 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอีกหนึ่งเวทีในการแสวงหาความร่วมมือและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจ

ในงานนี้ยังได้มีการประชาสัมพันธ์เขตอุตสาหกรรมอาเซียนเฟิ่นหย่งมณฑลกวางตุ้ง (广东奋勇东盟产业园) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในเมือง (ระดับอำเภอ) เหลยโจว เขตอุตสาหกรรมฯ นี้วางแผนพัฒนาเป็นเขตสาธิตการปรับเปลี่ยนฟาร์มชาวจีนโพ้นทะเลในมณฑลกวางตุ้งและประเทศจีน และเป็นเขตทดลองความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน โครงการที่ได้รับการลงนามมี 17 โครงการ ยอดมูลค่าการลงทุนมากกว่า 6,000 ล้านหยวน ในอุตสาหกรรมสาขาด้านการแพทย์และเวชภัณฑ์ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตผลสัตว์น้ำ เป็นต้น

DSC_1181.JPG

แผนผังการพัฒนาท่าเรือจ้านเจียง ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

เมืองจ้านเจียงยังมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต อาทิ การพัฒนาท่าเรือจ้านเจียงซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การสร้างชุมชนเมืองบริเวณอ่าว (Bay City) และการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้ทันสมัย โดยมีแผนจะพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางนครกว่างโจว-เมืองจ้านเจียง ซึ่งจะใช้เวลา 2 ชม.(ปัจจุบัน ใช้เวลา 5-6 ชม.โดยรถยนต์) ภายในปี 2559 ทางด่วนระหว่างอำเภอ และถนนที่สะดวกและรวดเร็วระหว่างเมืองกับหมู่บ้าน

ปัจจุบัน เมืองจ้านเจียงยังได้วางแผนที่จะจัดงาน “OCEANWEEK” เพื่อใช้เป็นกลไกในการขยายความร่วมมือระหว่างจ้านเจียงกับอาเซียน เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ทางทะเลของเมืองจ้านเจียงมีปริมาณและมูลค่าสูงสุดในมณฑลกวางตุ้ง มีตลาดค้าส่งผลิตภัณฑ์ทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีมูลค่าการค้าสูงถึง 30,000 ล้านหยวน ผลิตภัณฑ์มากกว่า 2,000 รายการ โดยเป็นมูลค่าการค้ากุ้งประมาณ 10,000 ล้านหยวน ส่งออกกุ้งมากเป็นอันดับ 1 ของจีน มีมูลค่าการค้ากุ้งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของจีน และมากเป็น 1 ใน 3 ของการค้ากุ้งทั่วโลก

จากการประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลอาเซียน-จีน (กวางตุ้ง) ครั้งที่ 1 สะท้อนให้เห็นว่าเมืองจ้านเจียงมีความพร้อมในการดึงดูดการลงทุนจากอาเซียนผ่านนิคมอุตสาหกรรมเฟิ่นหย่ง ประกอบกับจ้านเจียงเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลการเกษตรที่สำคัญของมณฑลกวางตุ้ง ประเทศไทยซึ่งมีความแข็งแกร่งในด้านอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบในการผลิตสามารถพิจารณาและศึกษาโอกาสในการเข้ามาลงทุนในเมืองจ้านเจียงเพื่อผลิตสินค้าป้อนให้กับมณฑลกวางตุ้งที่มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคนได้

จัดทำโดย: น.ส.กฤติญา อังกูรบุณยโชค นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรียบเรียงโดย: น.ส.รัชดา สุเทพากุล สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว และนายเจตนา เหล่ารักวงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว

แหล่งข้อมูล: ข้อมูลเข้าร่วมพิธีเปิดงานประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลอาเซียน-จีน (กวางตุ้ง) ครั้งที่ 1 ณ เมืองจ้านเจียง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 เว็บไซต์ข่าวกวางตุ้ง (广东新闻网) ประจำวันที่ 11 เมษายน 2556 และหนังสือพิมพ์จ้านเจียงเดลี่ (湛江日报) ประจำวันที่ 12 เมษายน 2556

http://www.gd.chinanews.com/2013/2013-04-11/2/242530.shtml

http://news.gdzjdaily.com.cn/zjxw/content/2013-04/12/content_1666776.htm

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน