“ซอกแซกกวางตุ้ง-ไห่หนาน” “กว่างโจวใหม่” โอกาสการลงทุนทางธุรกิจกับแคมเปญ “2+3+9”

24 Apr 2013

กว่างโจวได้รับการขนานนามว่าเป็นประตูของประเทศจีน เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทางทะเล ในปี 2555 ได้ดึงดูดโครงการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 196 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 495,200 ล้านหยวน คาดว่าในปี 2559 จะมีการลงทุนมากกว่า 750,000 ล้านหยวน ด้วยแรงกระตุ้นที่เข้มข้นในการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนกับแคมเปญเขตพื้นที่ใหม่ “2+3+9”

กว่างโจวใหม่ โอกาสการลงทุนธุรกิจใหม่

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2556 นครกว่างโจวได้จัดงานประชาสัมพันธ์การลงทุนโครงการสำคัญปี 2556 ภายใต้หัวข้อ “นครกว่างโจวใหม่ โอกาสการค้าใหม่” (New Guangzhou, New Business) และการสัมมนาการลงทุนสำหรัวิสาหกิจทุนต่างชาติและองค์กรต่างชาติในนครกว่างโจว ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติไป๋หยุน นครกว่างโจว ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยการสัมมนาในครั้งนี้มีแนวนโยบายการพัฒนาพื้นที่ “2+3+9” เป็นจุดเด่นเพื่อชี้โอกาสการลงทุนให้กับนักลงทุนจากต่างชาติและนักลงทุนจีนที่สนใจ

นโยบายส่งเสริมการลงทุนในกว่างโจวนครกว่างโจวมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในหลายสาขา เช่น โลจิสติกส์สมัยใหม่ การเงินและการประกันภัย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อุตสาหกรรมบริการและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น พร้อมกับนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจ อาทิ

กองทุนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของนครกว่างโจว จะมีการจัดสรรงบประมาณกว่า 4,000 ล้านหยวนให้กับกองทุนภายในระยะเวลา 5 ปี

นโยบายดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถระดับสูง โดยจะมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัย การรักษาพยาบาล การเล่าเรียนของบุตร

นโยบายส่งเสริมให้ตั้งสำนักงานใหญ่ มีเงินสนับสนุนมากสุดถึง 50 ล้านหยวน ให้กับวิสาหกิจที่มาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในนครกว่างโจว มีเงินรางวัลมากสุดถึง 5 ล้านหยวน ให้กับสำนักงานใหญ่ที่โดดเด่นและส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของนครกว่างโจว และเปิดแคมเปญโอกาสทองในการลงทุนเขตพื้นที่“2+3+9”

แคมเปญเขตพื้นที่ “2+3+9”

เขตพื้นที่ “2+3+9” เป็นเวทีการพัฒนาทางยุทธศาสตร์ใหม่ของนครกว่างโจวสำหรับนักลงทุน ประกอบด้วย

2 เขตเมืองใหม่ คือ เขตหนานซา และเขตภูเขาและแม่น้ำทางภาคตะวันออกของนคร กว่างโจว (东部水) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวบริเวณปากแม่น้ำจูเจียง การศึกษา และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

3 ศูนย์กลางรองรับการขยายตัวของนครกว่างโจว คือ เขตฮัวตู เมือง (ระดับอำเภอ) เจิงเฉิง และเมือง (ระดับอำเภอ) ฉงฮั้ว



9 เขตอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน คือ

(1) เมืองการเงินนานาชาติ (广州国际金融城) บริเวณเขตเทียนเหอ

(2) เมืองอัจฉริยะเทียนเหอ (天河智慧城) บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเขตเทียนเหอ สร้างให้เป็นเขตลงทุนทางปัญญา อาทิ ศูนย์กลางบัญชี ศูนย์กลางข้อมูลความรู้ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์

(3) เมืองนิเวศน์ไห่จู (海珠生态城) บริเวณเขตไห่จู พัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจสมัยใหม่ การบริการข้อมูลข่าวสาร และอุตสาหกรรมบริการที่ทันสมัย

(4) เมืองนิเวศน์ฮวาตี้ (花地生态城) บริเวณเขตลี่วาน สร้างเป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างนครกว่างโจวกับเมืองโฝซาน ศูนย์กลางการค้านานาชาติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจการค้า ธุรกิจบริการ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

(5) เขตพาณิชย์สถานีรถไฟสายใต้ของนครกว่างโจว (广州南站商务区) บริเวณเขตพานหยู

(6) เมืองอุตสาหกรรมสุขภาพนานาชาติ (广州国际健康产业城) บริเวณเขตไป๋หยุน มุ่งเน้นพัฒนาการรักษาทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การผลิตยาสมุนไพรจีน (7) เขตเศรษฐกิจบริเวณสนามบิน (空港经济区)

(8) เมืองนวัตกรรมนานาชาติ (广州国际创新城) บริเวณเกาะนิเวศวิทยาและเมืองมหาวิทยาลัย สร้างเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาวิชาชีพด้านสื่อดิจิตอล

(9) เขตพาณิชย์ท่าเรือหวงผู่ (黄埔临港商务区) บริเวณเขตหวงผู่ เน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

จากงานสัมมนาพบว่าผู้นำระดับสูงของนครกว่างโจวให้ความสำคัญกับงานส่งเสริมการลงทุนในนครกว่างโจวเป็นอย่างมากโดยได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและสร้างธรรมาภิบาลในการดำเนินงานของเทศบาลนครกว่างโจว แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะดึงดูดการลงทุนจากทุกภาคส่วนไม่เพียงแต่จากต่างประเทศเท่านั้น เพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมในนครกว่างโจวให้ก้าวหน้าและยั่งยืน

นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของนครกว่างโจวสะท้อนอย่างชัดเจนถึงการมุ่งเน้นในภาคบริการและการท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ และการผลิตที่ทันสมัย ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมีมูลค่าเพิ่มสูง ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมในสาขาดังกล่าวสามารถศึกษาและเสาะแสวงหาโอกาสในการเข้ามาลงทุนในนครกว่างโจวเพื่อเป็นฐานการผลิตป้อนตลาดในจีนตามนโยบายส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศได้ด้วยเช่นกัน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน