จีนเอาจริง! ปรับคุณภาพอากาศใน 31 มณฑลทั่วจีน
25 Nov 2013ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผนดำเนินการบำบัดมลพิษทางอากาศ เมื่อถึงปี 2560 ระดับความเข้มข้นโดยเฉลี่ยของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกกันในหมู่นักวิชาการว่า PM 2.5 จะต้องลดลงร้อยละ 10 โดยสำหรับพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (ฉางเจียง) สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก และเขตเศรษฐกิจจิงจินจี้ (ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย) จะต้องปรับความเข้มข้น PM 2.5 ให้ลดลงได้มากกว่าร้อยละ 10 เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีนได้ดำเนินการลงนามหนังสือความรับผิดชอบเป้าหมายการปรับคุณภาพอากาศกับรัฐบาล 31 มณฑล/เขตปกครองตนเอง/นครทั่วจีน
นายเจ้า ยิงหมิน อธิบดีกรมการบำบัดมลพิษ กระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลจะเข้มงวดกับการตรวจสอบคุณภาพอากาศ ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงฯ กำลังจัดทำระเบียบบริหารการตรวจสอบผลปฏิบัติงานการปรับคุณภาพอากาศ โดยแต่ละปีจะมีการประเมินผลการปรับปรุงคุณภาพอากาศตามแต่ละพื้นที่ และจะนำผลการประเมินนี้เป็นเกณฑ์สำคัญประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้นำในพื้นที่นั้น ๆ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายโจว เซิงเสียน รัฐมนตรีกระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังจัดทำงบประมาณสำหรับการบำบัดมลพิษทางอากาศ และนโยบายส่งเสริมการบำบัดมลพิษทางอากาศต่าง ๆ เช่น แผนการดำเนินงานส่งเสริมการบำบัดมลพิษของธุรกิจพลังงาน ระเบียบการปรับลดปริมาณการใช้ถ่านหินและการตรวจสอบ เป็นต้น รัฐบาลจะเร่งดำเนินงานดังกล่าว เพื่อผลักดันให้นโยบายข้างต้นนี้ประกาศบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้
นายหวัง จินหนาน รองหัวหน้าสถานบันวางแผนสิ่งแวดล้อมของกระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชี้ว่า แผนดำเนินการบำบัดมลพิษทางอากาศจะต้องใช้งบประมาณ 1.75 ล้านล้านหยวน โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการบำบัดมลพิษที่ก่อขึ้นจากบริษัทอุตสาหกรรมครองประมาณร้อยละ 36.7 และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอุปกรณ์บำบัดมลพิษทางอากาศประมาณร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมด
นอกจากนี้ จากรายงานวิจัยของนายหวัง จินหนาน พบว่า การลงทุนเพื่อบำบัดมลพิษทางอากาศสามารถก่อผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชน โดยคาดว่า จะสามารถช่วยสร้างมูลค่า GDP กว่า 1.9 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ ยังสามารถส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจต่าง ๆ โดยธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม การค้าปลีกและค้าส่ง การผลิตรถยนต์ การเงิน การคมนาคม การผลิตกระแสไฟและไอร้อน การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น